นี่เป็นประโยคปิดท้ายคำแถลงการณ์ของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2566 ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ที่จัดขึ้นโดยเมื่อวันที่ 6 กันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในตัวแทนรัฐบาลเพื่อไทยที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แม้ปัจจุบันตำแหน่งนายกฯ ของพรรคจะเปลี่ยนไป แต่แกนนำรัฐบาลก็ยังเป็นพรรคเพื่อไทยไม่ต่างจากเดิม เราเลยอยากชวนมาดูว่า ความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาลเพื่อไทยตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีอะไรคืบหน้าบ้าง ?
เริ่มจากการสำรวจนโยบายพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย โดยพบว่า ในช่วงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้ยื่นเอกสาร 11 นโยบายต่อ กกต. ซึ่งมีนโยบายเพียงข้อเดียวที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คือนโยบาย กทม. ทันใจ โปร่งใส ใน การนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น การจองคิวผ่าน การกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ หรือการนำข้อมูลไปอยู่บน หรือฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคต ทำให้เกิดความโปร่งใสและปลอดภัยสูง
และนอกจากนโยบายที่ยื่นต่อ กกต. แล้ว ในการหาเสียงช่วงเลือกตั้ง สมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้พูดถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่จะทำหากตนได้เป็นรัฐบาลเอาไว้ด้วย เช่น นายสุทิน คลังแสง อดีตในรัฐบาลนายเศรษฐา และ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะให้ความสำคัญในการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปราบปรามคอร์รัปชันระดับหมู่บ้าน และจะทำให้กฎหมายเข้มแข็งมากขึ้น หรือนอกจากนี้ยังมีหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการของนายเศรษฐา ที่พูดถึงการปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัย และลดดุลพินิจของข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจมากเกินไป จึงต้องปราบปรามตั้งแต่บนลงล่าง
ได้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยได้ไม่นาน นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลก็ได้ออกมาประกาศนโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ โดยเนื้อหาสำคัญที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวคือรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างนิติธรรมด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้เข้มแข็ง สร้างรัฐที่มีความโปร่งใสและทำงานได้รวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยมี 4 นโยบายที่จะนำมาใช้ คือ
- ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินส
- เปิดให้ขอใบอนุญาตและการติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ขอได้โดย “ง่าย” เป็น One-stop service (พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565)
- ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัยและโปร่งใส เพื่อป้องกันการทุจริต และเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government
- ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น Digital Government และปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับระบบการอนุมัติ การอนุญาต การควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้มีความโปร่งใส และลดการต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ติดต่อกับประชาชน
โดยภาพรวมจะเห็นว่านโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่นายเศรษฐาได้กล่าวมาทั้งหมด สอดคล้องกับนโยบายที่เพื่อไทยได้หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง โดยกุญแจสำคัญของเนื้อหาคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันการคอร์รัปชันและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งหลังจากนายเศรษฐาได้ประกาศ 4 นโยบายดังกล่าว จนถึงตอนนี้ก็จะครบ 1 ปีแล้ว ตอนนี้นโยบายเหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง ? ผู้เขียนได้ไปหาข้อมูลมาและพบความคืบหน้าดังนี้
ในด้านระบบการจ่ายเงินภาครัฐ ที่นายเศรษฐา เคยประกาศว่าจะปรับให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Payment โดยในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2567 กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการปรับรูปแบบการชำระเงินของหน่วยงานราชการให้เพิ่มรูปแบบการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะชำระเป็น Mobile Banking Internet Banking หรือชำระเงินออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตก็ได้ ซึ่งเงินที่จ่ายจะตรงเข้าไปบัญชีคงคลังและบันทึกในระบบ ทำให้ยักยอกเงินได้ยาก นอกจากนี้กรมบัญชีกลางยังเปิดให้หน่วยงานราชการใดก็ตามที่ยังไม่มีระบบชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำหนังสือแจ้งเรื่องกับกรมบัญชีกลางได้
ในด้านระบบการทำธุรกรรมผ่านรูประบบอิเล็กทรอนิกส์ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศการทำ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ที่เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานรัฐมากถึง 95 หน่วยงานเข้าด้วยกัน โดยนำกระบวนการและขั้นตอนการติดต่อไปไว้ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรัฐได้ง่าย เพราะการมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกันจะช่วยเรื่องการทำธุรกรรมไม่ต้องติดต่อขอเอกสารข้ามหน่วยงาน อีกทั้งยังช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยรูปแบบธุรกรรมที่ทำได้ตอนนี้ได้แก่ การออกใบอนุญาต การแจ้งผลการพิจารณาใบรับรอง การนำส่งหลักฐานอื่นๆ ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (PDF) ลงนามด้วย e-Signature และสามารถส่งให้หน่วยงานอื่นๆ ผ่านระบบ e-Service
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครม. ประกาศเห็นชอบโครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม ทางรัฐ ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ซึ่งจะกลายเป็นแพลตฟอร์มกลางของประเทศไทยสำหรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงการติดต่อ แจ้งเรื่องร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ โดยจะใช้เวลาพัฒนาโครงการทั้งหมด 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) แบ่งเป็น 3 ช่วง คือช่วงที่ 1 เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 : จัดซื้อจัดจ้างและประชุมเชิงปฏิบัติการ ช่วงที่ 2 เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2567 : ดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ และช่วงที่ 2 เดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 : ให้บริการระบบและสนับสนุนการใช้งาน จากการดำเนินการทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำอดีตนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสินมีความคืบหน้าในด้านการพัฒนาระบบที่ประชาชนใช้ติดต่อกับรัฐให้ทันสมัย อยู่ในแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตามที่ได้กล่าวเอาไว้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังไม่เห็นจากความคืบหน้านี้ คือด้านของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง
ต่อมา อย่างที่เราทราบกันว่าเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งชุด ได้หลุดจากตำแหน่ง ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรงจากกรณีที่ นายเศรษฐา แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้วันที่ 18 สิงหาคม เราได้มีนายกฯ คนใหม่ คือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยเป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเช่นเคย
โดยการเข้ามาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร อาจทำให้นโยบายแนวทางดำเนินนโยบายของพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไปในอนาคตอย่างไร จากที่ผู้เขียนได้ติดตาม ปัจจุบันรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตรยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เท่าที่เห็นมีเพียงคำแถลงนโยบาย 85 หน้าที่ได้ประกาศในวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ในนโยบายในการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศข้อที่ 3 ซึ่งเนื้อส่วนหนึ่งบอกไว้ว่า “รัฐบาลจะเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐเป็นคนดีและเก่ง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐและต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ทั้งหมดยังไม่ใช่นโยบายที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน แม้ว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตรจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น แต่การเริ่มต้นโดยไม่มีนโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมให้ประชาชนได้เห็นก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย
หลังจากได้อ่านนโยบายการแก้ปัญหาคอร์รัปชันทั้งหมด สิ่งที่เห็นชัดคือรัฐบาลภายใต้การนำของเพื่อไทยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พยายามนำเทคโนโลยีมาเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้คอร์รัปชัน หลายคนอาจสงสัยว่านี่คือทางเส้นทางที่ถูกหรือไม่ ? ผู้เขียนคิดว่าประเทศเอสโตเนียคงเป็นคำตอบให้กับเราได้ เพราะหากเราไปดูดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions index) หรือ CPI ของประเทศเอสโตเนียซึ่งเป็นประเทศที่มีคะแนนความโปร่งใสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2555 เอสโตเนียมีคะแนนทั้งหมด 64 คะแนน จนกระทั่งปี 2566 เอสโตเนียมีคะแนนทั้งหมด 76 คะแนน ขณะที่ไทยมี 37 คะแนนในปี 2555 แต่กลับมีคะแนน 35 คะแนน ในปี 2566 โดยหนึ่งในแนวทางที่ทำให้เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีค่า CPI เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ คือการใช้เทคโนโลยีต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศเอสโตเนียนำระบบราชการเกือบทุกอย่างขึ้นไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์โดยปัจจุบันภาครัฐมีบริการที่เป็น e-Service มากถึง 99% ขาดแค่เพียงเรื่องการหย่าที่ติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย และเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ชาวเอสโตเนียกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศได้ใช้ระบบการเลือกตั้งออนไลน์ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพการเป็น e-Government และเหมาะแก่การเป็นแบบอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการและต่อต้านทุจริตแบบที่ไทยกำลังจะทำ
ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้เช่นกัน เพราะการส่งเสริมการเปิดข้อมูลจะช่วยให้เกิดความโปร่งใส เมื่อมีข้อมูลอยู่บนโลกออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็สามารถเห็นได้ก็คงไม่มีใครกล้าที่ทุจริต หรือหากมีคนทุจริตจริง ๆ ก็หนีไม่พ้นเพราะหลักฐานตำตา รวมถึงการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะหากมีการเรียกรับสินบน ระบบที่บันทึกไว้ก็จะเป็น Digital Footprint ที่สามารถเอาผิดผู้ทุจริตได้ ซึ่งในมุมมองผู้เขียนคิดว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว
เพียงแต่ยังมี 2 ประเด็นที่ผู้เขียนยังติดใจ โดยประเด็นแรกผู้เขียนมองว่ารัฐยังขาดความใส่ใจในการพัฒนาการเปิดข้อมูลบางจุดที่สำคัญ อย่างการเปิดนโยบายรัฐบาลเองที่ตอนนี้ยังไม่มีการทำให้เข้าใจง่าย ทั้งที่ควรจะเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงภาพรวมทั้งหมดของรัฐบาล ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง Biden Promise Tracker แพลตฟอร์มของรัฐบาลนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยแพลตฟอร์มนี้จะแสดงนโยบายต่าง ๆ ของนายโจ ไบเดนให้เห็นทั้งหมด มีการรายงานว่านโยบายดังกล่าวทำไปแล้วกี่เปอร์เซ็น อยู่ในขั้นตอนไหน นโยบายไหนที่ยังไม่ทำ และเพราะเหตุผลอะไรจึงไม่ทำ หากสนใจสามารถดูได้ที่ (www.politifact.com) และประเด็นที่สองผู้เขียนมองว่าการต่อสู้กับคอร์รัปชันนั้นไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องของเทคโนโลยี การต่อสู้กับคอร์รัปชันยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ เช่น
- ปรับปรุงกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการคอร์รัปชัน อย่างการยกระดับบทลงโทษสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน และจัดให้มีระบบการลงโทษที่ชัดเจน กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาและลงโทษให้รวดเร็วและตรงตามความรุนแรงของคดี เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าการกระทำทุจริตมีผลตามมาอย่างร้ายแรง ซึ่งแม้นายเศรษฐาได้กล่าวไว้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นนโยบายหลักหรือมีการขับเคลื่อนใด ๆ ที่ชัดเจน
- ยกระดับมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (Whistle Blower) เนื่องจากการต่อสู้กับคอร์รัปชันนั้นผู้แจ้งเบาะแสมีความสำคัญอย่างมาก แต่คนเหล่านี้กลับถูกคุกคามจากอำนาจและอิทธิพล หากไม่มีการแสดงจุดยืนการสนับสนุนจากรัฐ ก็คงไม่มีใครอยากออกมามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับกลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับการคอร์รัปชันอย่างมีส่วนร่วม
- ยกเครื่องกลไกหน่วยงานตรวจสอบ ให้เป็นไปโดยอิสระอย่างแท้จริง จัดให้มีระบบตรวจสอบที่ครอบคลุมทุกระดับของภาครัฐ พร้อมทั้งให้มีการตรวจสอบเป็นประจำและรายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือให้แก่หน่วยงานตรวจสอบที่จะส่งผลให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง
- เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายของภาครัฐ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อขจัดภาวะความไม่เท่าเทียมกันด้านข้อมูล (Asymmetric information) ที่จะส่งผลให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ บนพื้นฐานข้อมูลชุดเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมค่านิยมในสังคมให้ไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์และจริยธรรมตั้งแต่ในระบบการศึกษาไปจนถึงหน้าที่พลเมือง รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและเปิดโปงการทุจริต
หลังจากนี้จะเป็นปีที่สองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และเป็นปีแรกของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ผู้เขียนคาดหวังว่าในอนาคต เราจะได้เห็นรัฐบาลที่สามารถทำให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการคอร์รัปชันได้จริงตามที่สัญญาไว้ และคาดหวังที่จะเห็นนโยบายที่ครอบคลุมในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยมากขึ้น เพื่อนำไปสู่สถานการณ์คอร์รัปชันที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงบอกว่าจะแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่ไม่มีความคืบหน้าไปไหนสักที
อ้างอิง :
- สำนักนายกรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรีประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส เป็นรัฐบาลดิจิทัล เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” เป็น “รัฐสนับสนุน, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/71981, [สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2567]
- สำนักนายกรัฐมนตรี, กรมบัญชีกลางออกมาตรฐานแบบใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ของส่วนราชการหรือ e-Government Receipt เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ส่วนราชการและประชาชน,
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/80224, [สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2567] - สำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐหนุน e-Government เชื่อมข้อมูลระหว่างภาครัฐ-เอกชน เชื่อมข้อมูลแล้ว 95 หน่วยงาน เพิ่มความสะดวกให้ปชช. และภาคธุรกิจ, https://www.thaigov.go.th/infographic/
contents/details/7925, [สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567] - Thai PBS, ศึกประชันนโยบายปราบคอร์รัปชันในระบบรัฐ “อนุทิน” VS “พรหมมินทร์” | ไทยพีบีเอส ดีเบตใหญ่, https://www.youtube.com/watch?v=ZcvHxvqKNFw&t=407s, [สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567]
- Thai Publica, พรรคเพื่อไทยชู 18 นโยบาย กระตุ้น ศก.รากหญ้า ดันจีดีพี 5% แบบป่าเลี้ยงบ้าน บ้านเลี้ยงเมือง เมืองเลี้ยงนคร, https://thaipublica.org, [สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567]
- สำนักคณะกรรมการเลือกตั้ง, แผนหรือโครงการที่จะดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ประจำปี พ.ศ. 2566 (พรรคเพื่อไทย), https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_download_391/, [สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2567]
- ธัญลักษณ์ สากูต, เมื่อระบบดิจิทัลของเอสโตเนียเปิดทางให้ส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว, thevotersthai, [สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2567]
- Bedrock, เอสโตเนีย ประเทศแห่ง e-Governance ขั้นเทพ เข้าถึงการบริการภาครัฐผ่านออนไลน์ได้ง่าย สะดวก และปลอดภัยสูง, bedrock, bedrockanalytics.ai, [สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2567]
The Poynter Institute, Biden Promise Tracker, www.politifact.com, [สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2567] - มติชน, เปิดคำแถลงนโยบาย รัฐบาล ‘แพทองธาร’ ฉบับเต็ม, https://www.matichon.co.th/politics/news_4779018 [สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2567]