ThaiPBS Logo

เซลส์แมนทางการทูต กระชับสัมพันธ์”ไทย-ฝรั่งเศส”

12 มี.ค. 256712:57 น.
เซลส์แมนทางการทูต กระชับสัมพันธ์”ไทย-ฝรั่งเศส”
  • เป็นการเยือนแบบทวิภาคีประเทศในยุโรปประเทศแรกของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
  • เอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส จะเดินทางมาเยือนไทยในปี 2568
  • การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป(FTA)เสร็จสิ้นได้ภายในปี 2568
นายกรัฐมนตรีเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นในเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยมาก ท่ามกลางกระแสการเมืองในประเทศเริ่มร้อนแรง โดยเฉพาะประเด็น ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเริ่มมีคำถามถึงผลงานรัฐบาลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปตามนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” โดยทำหน้าที่เหมือน “เซลล์แมน” แต่การดำเนินการทางการทูตเพื่อเศรษฐกิจอาจจะผิดฝาผิดตัวไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อน เนื่องจากในปัจจุบัน ความสัมพันธ์การค้าการลงทุนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แต่การเยือนยุโรปของนายกรัฐมนตรี ก็ใช่ว่าจะเป็นไปเพื่อ “เบี่ยงเบน”ประเด็นการเมืองในประเทศ” เพราะอย่างน้อยการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ก็ดูเหมือนจะมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าการดำเนินการทางทูตเพื่อการค้ากว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีการแถลงข่าวร่วมกันหลังการหารือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งนับเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรป

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวว่าทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการมุ่งมั่นเพื่อรับมือประเด็นความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสุดท้าย จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งทวิภาคี และพหุภาคีเกิดเป็นสันติภาพ และความมั่นคงในโลก

นายกฯ กล่าวถึงหลัก 4 ประการที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

  • หนึ่ง ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่า 300 ปี โดยปี 2568 จะครบรอบ 340 ปี ของการติดต่อสัมพันธ์ และในปี 2569 ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเฉลิมฉลองการครบรอบ 170 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต
  • สอง ทั้งสองประเทศให้คุณค่าแก่ค่านิยมสากลในหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ
  • สาม มีจุดยืนร่วมในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้มีมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ขณะที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเองก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิก ที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กันมากขึ้นระหว่างภูมิภาค ช่วยสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ
  • สี่ รัฐบาลไทยและฝรั่งเศส มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และดิจิทัล

สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน คาดว่า การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เสร็จสิ้นได้ภายในปี 2568  มูลค่าการค้าและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยยังได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกโออีซีดี(OECD) ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอีกด้วย

ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค. 2567 รัฐบาลจะนำคณะนักธุรกิจไทยมาฝรั่งเศส และในเดือนก.ย. คณะธุรกิจฝรั่งเศสจะเดินทางเยือนประเทศไทย รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะไปเยือนไทยปีหน้า

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

การค้า

นโยบายการค้าของไทย เผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากสงครามการค้า ทำให้มีความเสี่ยงจากการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งทำให้ไทยต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐ-จีน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางและประสานผลประโยชน์ทุกฝ่าย

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: