Professor Michael R. Reich ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ตั้งคำถามนี้และพยายามหาคำตอบในงานปาฐกถา “The Politics and Policies of Health Systems: Reflections on Protests, Leaders, and Analysis” ที่จัดขึ้นในงาน Seventh Global Symposium on Health System Research ณ กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022
Professor Reich ชี้ให้เห็นว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงในนโยบายที่มีผลต่อกลุ่มคนไร้อำนาจนั้นต้องอาศัยสามเสาหลัก: การประท้วง ผู้นำทางการเมือง และการวิเคราะห์ทางการเมือง
การประท้วงในสังคม
การประท้วงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนไร้อำนาจ Professor Reich ยกตัวอย่างจากการประท้วงต่อต้านมลภาวะในญี่ปุ่นช่วงปี 1960s-1970s ซึ่งเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่ถูกละเลยในสังคม เช่น ชาวนาและชาวประมง เหยื่อจากมลภาวะได้รวมตัวกันเพื่อประท้วงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีอำนาจน้อยกว่ากลุ่มทุนและรัฐบาล แต่การรวมตัวกันของพวกเขาผนวกพลังสนับสนุนจากสังคม จึงสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การประท้วงสามารถเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างนโยบายที่เป็นธรรมและยั่งยืนของญี่ปุ่น
บทบาทของผู้นำทางการเมือง
Professor Reich ยังเน้นบทบาทของผู้นำทางการเมืองในการขับเคลื่อนการปฏิรูปนโยบาย โดยยกตัวอย่างจากบังกลาเทศในปี 1982 เมื่อรัฐบาลทหารประกาศใช้กฎหมายควบคุมการผลิตและจำหน่ายยาผลักดัน ถึงแม้ว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากผู้นำทางการเมืองที่กล้าหาญทางจริยธรรมคือการปฏิรูปนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนยากจนและไร้อำนาจ Professor Reich จึงชี้ให้เห็นว่า ผู้นำที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สามารถใช้พลังของรัฐในการผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมได้ แม้ในสภาวะที่ไม่แน่นอน ซับซ้อน และมีความขัดแย้ง
การวิเคราะห์ทางการเมือง
ในประเด็นสุดท้าย Professor Reich ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของ “การวิเคราะห์ทางการเมือง” ในการกำหนดนโยบายที่รับฟังเสียงของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนไร้อำนาจ การวิเคราะห์ทางการเมืองที่ถูกต้องและรอบคอบจะช่วยให้สามารถออกแบบและผลักดันนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนไร้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการวิเคราะห์และผลักดันภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในเม็กซิโก ซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมกันของภาควิชาการ ภาคสังคม และการเมือง การวิเคราะห์ที่ถูกต้องสามารถชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญ
ภาพสะท้อนในบริบทเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย
เมื่อพิจารณาบทเรียนของ Professor Reich ในบริบทของไทย แนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ภาคการเมือง และภาควิชาการ มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของ Professor Reich สามเสาหลักนี้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ยั่งยืนได้ โดยทั้งสามจะต้องร่วมมือประสานสามัคคีกันอย่างเข้มแข็ง จึงจะสามารถผลักดันเรื่องยากแบบการเขยื้อนภูเขาได้สำเร็จ ซึ่งบทเรียนการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่เป็นแชมเปี้ยนระดับโลก ก็มีพลังขับเคลื่อนสำคัญมากจาก “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เช่นกัน
ในประเทศไทยของเรา ผู้เขียนมีความเห็นว่า การขับเคลื่อนของภาคประชาชน โดยเฉพาะบนอินเตอร์เน็ต อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันให้เกิดการปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมและสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อคนไร้อำนาจ เพาะเราเคยมีกรณีตัวอย่างที่ประชาชนสามัคคีกันส่งเสียงคัดค้านการซื้อเรือดำน้ำ เป็นกระแสการให้ศีลให้พรกันกันสนั่นอื้ออึงบนโลกออนไลน์ จนกองทัพต้องถอยและยังค้างคาไม่ชัดเจนจนขณะนี้ ดังนั้น ประชาชนจึงมีพลังที่สามารถจะร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องได้ ไม่ใช่แค่ใช้เสียงลงคะแนนเลือกตั้งเพียงเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำทางการเมืองมีความตั้งใจจริงในการรับฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่เอาแต่วนเวียนอยู่ตามกระทรวงเกรดเอ และ ภาควิชาการก็ควรที่จะเข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อประเมินผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) และกำหนดกลยุทธ์แสวงหาแนวร่วมลดแรงต้านทานในการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน
การทำนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนไร้อำนาจในไทยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ผ่านเสียงตามสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อที่ไม่ได้มีเจ้าของเป็นนายทุนเจ้าสัวสัมปทานหรือมีอำนาจล้นเหนือตลาด ซึ่งควรต้องร่วมมือรวมพลังกัน และใช้ความรู้จากภาควิชาการในการวิเคราะห์และขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นธรรมและยั่งยืน
ดังนั้น การประสานงานระหว่างภาคประชาชน ภาคการเมือง และภาควิชาการจะเป็นพลังสำคัญในผลักดันเรื่องที่ยากแต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อสร้างอนาคตที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกคนในสังคมไทย