นับเป็นความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์ของไทยหลัง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ผ่านแล้ว และกำลังจะบังคับใช้ในอีก 60 วันข้างหน้า แต่เนื้อหาภายในนั้นมุ่งเน้นแค่การสมรสเป็นหลัก ยังขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในรั้วโรงเรียน ทำให้เด็กหลายคนถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงสิทธิการเลี้ยงดูบุตรในครอบครัวเพศหลากหลายยังเหลื่อมล้ำ
แล้วนโยบายนี้ควรจะเดินหน้าต่ออย่างไร ? ในวันที่สองของงาน “ก้าวข้าวขีดจำกัด พลิกอนาคตประเทศไทย ด้วยนโยบายสร้างสรรค์” ที่ Policy Watch จัดทำร่วมกับ หลักสูตรการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านนโยบาย รุ่นที่ 2 ณ อาคาร KX กรุงธนบุรี หนึ่งในวงเสวนาภายในงานนี้ ได้พูดคุยในประเด็น “สมรสที่เท่าเทียม สู่รั้วโรงเรียนอย่างเท่ากัน” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น สะท้อนข้อจำกัดจากการบังคับใช้กฎหมาย และเสนอแนวทางอุดช่องโหว่ ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.นรุตม์ ศุภวรรธนกุล อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการ เรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กันตพัฒน์ สุวรรณเรือง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดปทุมวรารามในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, นัยนา สุภาพึ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ พิชชาพร สิทธิโชค หัวหน้าทีมนักจิตวิทยา วชิราวุธวิทยาลัย
“สมรสเท่าเทียม” จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนเท่ากัน
วงเสวนาเริ่มต้นประเด็นพูดคุยด้วยการตั้งคำถามที่ชวนให้คิดว่า ถ้านักเรียน นักศึกษา มีบัตรประจำตัวที่มีคำนำหน้าชื่อว่า ‘เด็กชาย’ หรือ ‘นาย’ ถ้าเขาอยากจะใส่ชุดนักเรียนหญิง หรือชุดรับปริญญาหญิง จะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่
หากสถานศึกษาบอกว่า ‘ผิดระเบียบ’ ซึ่งระเบียบส่วนใหญ่ก็มาจากกฎหมาย ในวันนี้ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว และกำลังจะบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ม.ค. 2567 แต่คำถามในเรื่องของการแต่งกายก็ยังมีข้อจำกัด แสดงว่าอะไรในสมรสเท่าเทียมผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ก่อนจะตอบ “นัยนา สุภาพึ่ง” ขอเล่าย้อนให้เห็นภาพชัดว่า ในอดีตกฎหมายใช้คำว่า ‘ชาย-หญิง’ อายุ 17 ปีบริบูรณ์จะสมรสกันได้ และจะมีสถานะหลังจากจดทะเบียนสมรสระบุว่า ‘สามี-ภรรยา’ ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศขณะนั้น ไม่สามารถแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันได้
“ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุชัดว่า บุคคลย่อมเสมอกันและได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยศาลให้เหตุผลว่า กฎหมายครอบครัวไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่เพราะคุณไม่ได้เป็นผู้หญิง ผู้ชาย และไม่สามารถมีลูกได้ จึงไม่สามารถสมรสกันได้”
นัยนา สุภาพึ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถามว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ผิดกฎหมายไหม ซึ่งในตอนนี้เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกในกฎหมายว่า ‘บุคคล-บุคคล’ อายุ 18 ปีบริบูรณ์สมรสกันได้ และใช้คำเรียกสถานะหลังจากจดทะเบียนสมรสว่า ‘คู่สมรส’
สะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายหลักของประเทศที่ใช้กับทุกคน แต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎหมายได้และถูกละเลยมานาน โดยเฉพาะในหมวด 5 ครอบครัวและมรดก จนทำให้ต้องแก้ไขเพิ่มเติมและเพิ่งจะมีโอกาสได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันในปีนี้
ดังนั้นแล้ว “นัยนา สุภาพึ่ง” จึงตอบคำถามด้วยการตั้งข้อเกตต่อว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจไม่ได้ผิด แต่ที่ผ่านมารัฐทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่หรือเปล่า
ต้องทำความเข้าใจ ไม่ให้ติดกรอบเดิม ๆ
“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ปรับคำให้เป็นกลางมากขึ้น แต่ในเชิงปฏิบัติกลับยังติดเรื่อง “อัตลักษณ์ทางเพศ” โดยเรื่องแรกคือสังคมไทยยังไม่ยอมรับให้เปลี่ยน “คำนำหน้าเพศ” ให้ตรงกับตัวตนที่เขาอยากจะเป็น ทำให้การทำเอกสารราชการบ่อยครั้งมีปัญหา
เรื่องที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “คนยังไม่เข้าใจและมีอคติอยู่” ทำให้เกิดข้อจำกัดหลากหลายอย่างที่ทำให้ไปไม่ถึงอิสรภาพและเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เด็ก และเยาวชนด้วย เช่น การถูกถามในเรื่องที่ไม่ควรถาม ‘คนไหนเป็นสามีหรือภรรยา ?’ การถูกล้อเลียน ‘มีพ่อแม่แบบนี้ลูกก็ต้องเป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว’ และการถูกเลือกปฏิบัติ
“ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งมี พ่อ และแม่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ แล้วรับลูกชายมาเลี้ยง เมื่อลูกเข้าโรงเรียน ครูก็เรียก ‘พ่อ’ ได้ตามปกติ แต่พอเห็นเอกสารของแม่มีคำนำหน้าว่า ‘นาย’ จึงให้สิทธิแม่เป็นแค่ ‘ผู้ปกครอง’”
นัยนา สุภาพึ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คำเรียกเพศไม่จำเป็น ถ้าทุกคนรู้ “คนเป็นสิ่งมีชีวิตซับซ้อน”
ปัญหาใหญ่ติดอยู่ที่ “อัตลักษณ์ทางเพศ” แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องขับเคลื่อนกันต่อ แต่โดยพื้นฐานต้องเข้าใจก่อนว่าคนทุกคนควรได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ตามเจตนารมณ์ของ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม”
“คำศัพท์ในการเรียกเพศไม่มีวันสิ้นสุด ท่องไม่ได้ และอีก 5 ปีอาจจะมีเพิ่ม เพราะคำเรียกเติบโตไปพร้อมกับความรู้ของมนุษย์ อย่างคำว่า ‘Bisexual’ ก็ไม่ค่อยใช้ ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้เป็น ‘Non-Binary’ แทน เพราะรู้สึกไม่อยากอยู่ในกรอบสองเพศ”
ผศ.นรุตม์ ศุภวรรธนกุล อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการ เรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีคำนิยาม ถ้ารู้ว่ามีใครถูกเลือกปฏิบัติแล้วเป็นทุกข์ โดยเฉพาะผู้บังคับใช้กฎหมายอย่าง “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเว้นวรรคจากคำนิยามเรียกเพศ และควรเข้าใจว่า “กฎหมายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่ควรเอามาเป็นอุปสรรค”
ในเชิงปฏิบัติ “นรุตม์ ศุภวรรธนกุล” จึงอยากให้จดจำง่าย ๆ ว่า “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” หรือ “LGBTQIAN+” ประกอบด้วยบุคคลที่มีเงื่อนไขเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน อาทิ ชายรักชาย หญิงรักหญิง คนข้ามเพศ มีปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน และต้องการสิทธิทางกฎหมายเฉพาะของตัวเอง
มิติของเพศมีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ประกอบ
- เพศทางสรีระ (Sex) – ลักษณะทางเพศที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางกายภาพหรือชีววิทยา
- เพศสภาพ (Gender) – บทบาท พฤติกรรม และคุณลักษณะทางเพศที่เขาอยากเป็น
- เพศวิถี (Sexuality) – รสนิยมทางเพศ
มนุษย์ทุกคนมีองค์ประกอบเหล่านี้หมด ถ้าทุกคนรู้ว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน มีความหลากหลาย และเท่าเทียมกัน จะทำให้เกิดความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับสังคม ทำให้ทุกคนมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เสียงครอบครัวเพศหลากหลายกับการเลี้ยงลูก
ชีวิตของเด็กที่จริงแล้วไม่มีอะไรเยอะ มีแค่เฟซบุ๊ก (Facebook), ยูทูป (Youtube) หรือ อินสตาแกรม (Instagram) เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งคิดไปไกลว่า การที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ครอบครัวเพศหลากหลายรับบุตรบุญธรรม จะทำมีปัญหา
“กันตพัฒน์ สุวรรณเรือง” ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดปทุมวรารามในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่าให้ฟังว่า มีครอบครัวหนึ่งพ่อเป็นทอมแล้วเลี้ยงเด็กอยู่ชั้น ป.4 เด็กก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ไม่ได้เลียนแบบพ่อที่เป็นทอมด้วย อีกทั้งหลายครอบครัวที่รู้จัก ก็ไม่เคยเห็นทำพฤติกรรมไม่ดีหรือก่อเหตุข่มขืนด้วย
ความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้น เป็นเพียงสิ่งที่สังคมคาดเดาไปก่อนเพียงเพราะไม่ตรงกับความคิดในอุดมคติ ถ้าสอนให้ “เด็ก” เข้าใจตั้งแต่ยังเล็กก่อนว่า “ใครก็ตามที่ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิงก็รักกันได้”เพียงเท่านี้เขาก็เข้าใจแล้ว ขณะเดียวกันใน “ผู้ใหญ่” ก็ต้องไม่ติดภาพครอบครัวแบบเดิม ครอบครัวที่ผู้ปกครองเป็นคนข้ามเพศหรือเพศเดียวกันก็สามารถสอนให้เด็กเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และมีความสุข ฉะนั้นจะต้องไม่กีดกันเด็กให้เลิกเป็นเพื่อนกัน เพียงเพราะเพื่อนได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวเพศหลากหลายด้วย
การเลี้ยงดูด้วย “คู่สมรส” ไม่มีผลต่อพัฒนาการเด็ก
แม้ในประเทศไทยจะไม่ค่อยมีการศึกษาผลกระทบของเด็กจากการเลี้ยงดูด้วย “คู่สมรส” แต่ในสหรัฐอเมริกาและหลาย ๆ ประเทศในฝั่งตะวันตกพบว่า สุขภาพจิตของเด็กจากคู่สมรสเพศตรงข้ามและพ่อแม่ชนกลุ่มน้อยแทบไม่ต่างกัน
แต่ที่แตกต่างคือ คุณภาพชีวิตสมรส การเลี้ยงดู ความเป็นพ่อเป็นแม่ ความสุขและสุขภาพจิตของพ่อแม่ รวมถึงการได้รับการยอมรับจากเพื่อน สังคม และคนในโรงเรียนมากกว่า ที่จะส่งผลต่อ “ความรู้สึกปลอดภัยของเด็ก”
“พัฒนาการของเด็กมีสารสื่อประสาทเรียกว่า ‘ไซแนปส์’ ที่จะถูกพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พอโตขึ้นสารตัวนี้จะค่อย ๆ หายไปถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้ดี ขึ้นอยู่กับ ความรัก ความอบอุ่น และการให้การยอมรับมากกว่า ไม่ใช่เพราะถูกเลี้ยงดูจากครอบครัวเพศหลากหลาย”
พิชชาพร สิทธิโชค หัวหน้าทีมนักจิตวิทยา วชิราวุธวิทยาลัย
โรงเรียนเป็นแค่สถานที่ ดีหรือไม่ดีอยู่ที่การจัดการ
อีกปัญหาหนึ่งในรั้วโรงเรียนคือ “การแต่งกายของครู” แม้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จะออกนโยบายส่งเสริมให้ครูแต่งตัวตามเพศวิถี สุดท้าย “กันตพัฒน์ สุวรรณเรือง” บอกว่าครูบางคนก็ไม่สามารถใส่ชุดที่ต้องการได้อยู่ดี เพราะครูระดับอาวุโสยังไม่เข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว
“โรงเรียนเป็นแค่สถานที่ ความดีหรือไม่ดีอยู่ที่คนข้างในบริหารจัดการ ปัญหาตอนนี้คือการศึกษาทำให้เกิด การบริหารแบบบนลงล่าง (Top-Down) หรือระบบอาวุโส ข้อดีคือผู้ใหญ่ดูแลเด็ก แต่ก็มีบางสิ่งที่คนรุ่นเก่าไม่รู้ เมื่อไม่ทำให้เกิดการพูดคุยแนวระนาบ ผู้บริหารไม่คุยกับครู หรือนักเรียนโดยตรง เลยออกแบบนโยบายที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ตอบโจทย์คนในโรงเรียน”
ผศ.นรุตม์ ศุภวรรธนกุล อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการ เรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำในสถานศึกษา
“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” เป็นเรื่องของทุกคน เพราะทุกคนเกิดมามีอิสรภาพและเสรีภาพ เพียงแต่ก่อนหน้านั้นเราถูกพันธการให้มองโลกมีแค่ผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้นเมื่อกฎหมายเปิดกว้างให้เห็น “เพศหลากหลาย” เพียงแต่ในเชิงปฏิบัติยังมีข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขายังถูกเลือกปฏิบัติและไม่สามารถใช้สิทธิของตัวเองได้อย่างเต็มที่ วงเสวนาจึงมีข้อเสนอดังนี้
- ทำให้การสื่อสารเป็นกลาง หน้าที่ของทุกคนต่อจากนี้คือสร้างการยอมรับและความเข้าใจว่า “เพศหลากหลาย” เป็นเรื่องปกติ
- มีพื้นที่ให้พูดคุยแนวระนาบ เช่น เปิดเวทีสาธารณะให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและกลุ่มครูผู้มีความหลากหลายทางเพศได้สะท้อนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมบทบาทสมมุติ ให้แต่ละฝ่ายในโรงเรียนสลับการสวมจิตวิญญาณและบทบาทหน้าที่สลับกันไป เพื่อให้เข้าใจในมุมมองของแต่ละคนมากขึ้น
- รีเช็กนโยบาย อย่างกรณีนโยบายว่าของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ให้ข้าราชการแต่งกายตามเพศวิถีได้ แต่สุดท้ายผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งไม่ให้ใส่ ซึ่งเป็นเพราะนโยบายไม่ได้ถูกรีเซ็ก ทำให้นโยบายที่ออกมาไม่ได้ใช้
- ป้องกันการสวมสิทธิกับเยาวชน อีกหนึ่งเรื่องที่น่าห่วงหลังมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือเยาวชนอาจไม่รู้ทันในความรักความสัมพันธ์ ทุกคนจึงต้องช่วยกันป้องกันการสวมสิทธิของเยาวชนจากผู้ที่หวังสมรสเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง
ในเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีแล้ว แต่แนวปฏิบัติกลับยังไม่ชัดเจน จนส่งผลกระทบไปถึงเด็กในรั้วโรงเรียน ซึ่งยังไม่มีแม้แต่ภูมิคุ้มกันและต้องการการปกป้องคุ้มครองมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องร่วมกันสร้างการยอมรับและความเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องรอมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของใคร ไม่เช่นนั้นจะเจอแต่ข้ออ้างว่า “ที่บ้านสอนแล้วแต่โรงเรียนไม่ได้สอน หรือโรงเรียนสอนแล้วแต่คนในภาคส่วนอื่น ๆ ยังไม่ยอมรับ” สุดท้ายเรื่องนี้ก็จะติดกรอบเดิม ๆ