สมาชิกวุฒิ (สว.) ชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลัง สว.ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในรัฐบาลทหาร ใกล้จะครบวาระ 5 ปี ในวันที่ 11 พ.ค. 2567 ทำให้ต้องมีการสรรหา สว.ชุดใหม่ ที่จะมีจำนวนลดลงเหลือ 200 คน เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน
กระบวนการวิธีการสรรหาจะมาจากระบบคัดเลือกจากผู้สมัครตามกลุ่มอาชีพคัดเลือกกันเอง โดยจะเปิดรับสมัคร สว.ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.67 ใช้เวลาราว 5-7 วัน จากนั้น 9 มิ.ย. เลือกระดับอำเภอ, 16 มิ.ย. เลือกระดับจังหวัด, 26 มิ.ย. เลือกระดับประเทศ และ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือก สว. ในวันที่ 2 ก.ค. ซึ่งกระบวนการคัดเลือกจะใช้เวลาเกือบ 2 เดือน และในระหว่างนี้ สว.ชุดเดิม ที่แต่งตั้ง คสช. จะยังคงรักษาการต่อไป จนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่เข้ามาแทนที่
สว.มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรตรวจสอบอิสระ
รัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบมาให้ สว. มีอำนาจมาก เพราะว่า สว.ชุดเดิมมีหน้าที่ปกป้องอำนาจของ คสช. ทำให้ สว.มีอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องอาศัยเสียง สว. สัดส่วน 1 ใน 3 ซึ่งที่ผ่านได้มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว 26 ฉบับ แต่ สว.โหวตให้ผ่านแค่ 1 เรื่อง คือ ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้อธิบายให้เห็นถึงความพิเศษของอำนาจ สว. ที่นอกจากจะเป็นด่านสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีอำนาจในการเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลในองค์กรตรวจสอบอิสระต่าง ๆ ของไทย เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และอัยการสูงสุด
ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา สว.ชุดปัจจุบัน ได้เลือกสรรบุคคลที่ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระอย่างละเอียดรอบครอบ ใครที่คิดว่าเขาไม่ชอบก็ไม่เอา ใครที่คิดว่าคนนี้ชอบเขาก็เอา ซึ่งก็จะเห็นได้จากผลงาน กกต.ในช่วงที่ผ่านมา และความเป็นกลางทางการเมืองในการตัดสินคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา
สว.ชุดใหม่จะกับ สว.ชุดเดิม ขาดแค่อย่างเดียว คือ อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังคงมีอำนาจในการตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกำหนดได้ว่าใครจะได้อยู่ในองค์กรสำคัญ ๆ
“สว.มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และยังมีอำนาจมากกว่า สส. โดย สว.ชุดใหม่จะมี 200 คน โดยต้องใช้เสียงสัดส่วน 1 ใน 3 หรือ 67 คน ถ้ามี สว.ยกมือเห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญไม่ถึง 67 คน ไม่ว่าจะมี สส.จำนวนเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้”
เลือก สว.แบบระบบปิด เสี่ยง “โหวตมั่ว”
กตต.พยายามออกแบบการเลือก สว. ให้เป็นแบบระบบปิด กล่าวคือ วันที่เลือก สว.จะปิดห้องไม่ให้คุยกัน คนสมัครจะได้นั่งแถวตอนลึก ไม่มีการแนะนำตัว และหาเสียง รวมถึงมีการยึดมือถือ อีกทั้งคนนอกไม่สามารถเข้าไปดูได้ แต่ปัญหาที่สำคัญคือผู้สมัคร สว.จะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะต้องเลือกใคร
สิ่งที่ร้ายกว่านั้น ในระบบคัดเลือกยังมีการจับสลากแบบเลือกไขว้ คือ ผู้สมัครในกลุ่มอาชีพจะต้องจับสลาก แบ่งสาย แล้วไปโหวตให้ผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพอื่น ซึ่งไม่สามารถทราบข้อมูลได้ว่ากลุ่มอาชีพอื่นเป็นใครบ้าง เช่น หากตนสมัคร สว. ในกลุ่มนักกฎหมาย ก็พอจะทรายได้ว่าใครเป็นนักกฎหมายที่ทำงานดีหรือไม่ แต่หากจะต้องไปโหวตกลุ่มชาวนา ชาวประมง หรือ นักกีฬา ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถ้าหากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ก็เกิดการโหวตมั่ว สิ่งนี้คือระบบที่ กกต.ออกแบบไว้
iLaw เล็งเห็นช่องโหว่ของระบบนี้มาหลายเดือน และพยายามหาวิธีแก้ไข เพื่อให้คนที่เลือกสามารถหาข้อมูลผู้สมัครอื่นก่อนได้ จึงได้ออกแบบเว็บไซต์ Senate 67 เพื่อให้ประชาชนที่จะสมัคร สว. ประกาศตัวตนบนเว็บไซต์นี้ มีการแนะนำ ระบุประวัติการทำงาน อุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง และแนวทางการทำงานหากได้เป็น สว. เพื่อให้คนอื่นที่จะสมัครเพื่อโหวต สามารถเข้ามาดูข้อมูลก่อนไปโหวตได้ สิ่งนี้ออกแบบมาแก้ไขระบบปิดของ กกต. เพื่อให้การคัดเลือกของ สว.นั้น มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
iLaw ปิด Senate 67 ปกป้องผู้สมัคร
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 กกต.ได้ออกระเบียบสำหรับผู้สมัครคัดเลือก สว. ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล iLaw มองว่า เป็นระเบียบที่ไม่สุจริต เพราะเคยถาม กกต. ถึงเรื่องนี้มานานหลายเดือน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงคิดว่า กกต.มีเจตนาที่จะให้ออกประกาศช้า เพื่อรอดูก่อนว่าใครจะทำอะไรบ้าง แล้วจะออกประกาศห้ามสิ่งนั้น ส่วนตัวคิดว่าหากไม่ได้ทำเว็บไซต์ Senate 67 ระเบียบนี้อาจจะออกมาอีกแบบหนึ่ง เพราะหลังทำ Senate 67 ให้ผู้สมัคร สว.มาประกาศตัวต่อสาธารณะ ระเบียบนี้จึงออกมาห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมได้
“นี่เป็นสิ่งที่ กกต.ควรทำ เพื่อให้ผู้สมัครทุกคน และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ กกต.ไม่ทำ แล้วเขาก็เลยออกระเบียบมา ซึ่งระเบียบไม่ได้บอกว่าห้ามทำ แต่บอกว่าให้สมัครแนะนำตัวได้กับผู้สมัครเท่านั้น อันนี้อันตรายมาก สู้ให้เขาสั่งปิดเว็บ Senate 67 เลยยังดีกว่า แต่สิ่งที่เขาสั่งให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้กับผู้สมัครเท่านั้น แปลว่าผู้สมัคร 1 คน จะเดินไปบอกว่าฉันจะสมัคร สว.ที่นี่กลุ่มนี้ ไม่ได้เลย แล้วคุณจะไปห้ามคนพูดได้ยังไง สมมติผมไปสมัคร อย่างน้อยผมต้องบอกครอบครัวผมนะ ว่าผมไปสมัคร แล้วครอบครัวผมเขาก็สมัครไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าครอบหนึ่งมันลงได้คนเดียว แล้วผมไปบอกครอบครัวผมเนี่ย กลายเป็นผมผิดจากระเบียบ กกต.”
การที่เว็บไซต์ Senate 67 ไม่สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้แล้ว ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับกติกาของกกต. แต่ iLaw ต้องการปกป้องข้อมูลผู้สมัครกว่า 1,300 คน หากยังเปิดเว็บไซต์ Senate 67 พวกเขาอาจถูกตัดสิทธิ หรือถูกดำเนินคดี และมีผลกระทบตามมาได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือก สว. โดยเฉพาะเครื่องมือตรวจสอบคุณสมบัติที่ให้คนที่สนใจลงสมัคร สว. สามารถตรวจสอบได้ว่าตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่นั้น iLaw จะยังคงเปิดให้บริการต่อไปจนถึงงวันสมัคร
ขณะเดียวกัน iLaw จะยังคงรณรงค์ให้ประชาชนไปสมัครให้มากที่สุด แม้จะไม่มีโอกาสที่จะได้รู้ว่าเมื่อสมัครไปแล้วจะได้เลือกใคร แต่อย่างน้อยถ้ามีเสียงจากประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มีเจตจำนงอิสระเข้าไปคูหาจำนวนมาก ก็หวังว่าจะไม่สามารถล็อกผลได้ หรืออย่างน้อย สว.ชุดหน้าก็มาจากการเลือกของคนจำนวนมาก แม้อาจไม่ได้มาจากระบบที่ดีนัก
หนุนปชช.ลงสมัคร สว. โหวตคนมีคุณภาพ
คนที่อยากเป็น สว. ต้องมีเครือข่าย มีอำนาจ และมีอิทธิพล เพราะต้องมีการลงทุนลงแรง เพื่อเอาคนของตนเองไปในระบบคัดเลือกนี้ โดยการเลือก สว. เป็นระบบแบบเลือกกันเองในหมู่ผู้สมัคร อีกทั้งตัวผู้สมัครก็จะต้องมีคุณสมบัติละเอียด คือ อายุ 40 ปี ขึ้นไป ไม่เป็นสมาชิกพรรค ไม่ถือหุ้นสื่อ และไม่เป็นข้าราชการ ทำให้จำนวนผู้ที่จะสามารถสมัครได้มีจำนวนน้อยลง อีกทั้งต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท ทำให้การสมัครสว.ครั้งนี้ ต้องมีการลงทุนพอสมควร
หากไม่มีใครทำอะไรเลย กระบวนการคัดเลือก สว. ก็จะเป็นกระบวนการของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีเครือข่าย มีเงิน มีอำนาจ มีเวลา สามารถที่จะชักชวน หรือ เกณฑ์คนอื่นไปสมัคร เพื่อให้ลงคะแนนเลือกตนเองไปเป็น สว.ได้ ซึ่งอำนาจของรัฐสภาในอนาคตก็จะเป็นคนกลุ่มเดิม
การสมัครสว.เพื่อโหวตนั้นจึงสำคัญมาก หากผู้สมัคร สว. ลงคะแนนให้กับตนเอง และไม่เลือกใครเลย สุดท้ายคะแนนจะเท่ากันหมด แล้วคนที่เข้ารอบได้ก็จะเป็นคนจับสลากได้ ซึ่งดวงดีกว่าคนอื่นเท่านั้น แต่ไม่ได้มีอะไรเหนือกว่าคนอื่น
อยากให้คนที่อยากมีส่วนร่วมในกระบวรการเลือก สว. เข้าไปสมัคร เพื่อโหวต เพื่อดูว่ามีใครบ้างที่มีคุณสมบัติพร้อม มีความรู้ความสามารถ เป็นคนทำงานจริง และมีอุดมการณ์แนวทางที่ตรงกับตนเอง ก็เอาคะแนนไปให้คนเหล่านั้น ดังนั้นการสมัครเพื่อโหวตจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“ถ้าหากว่ามีเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลสักคนหนึ่ง เขาอยากเป็น สว. เขาอาจจะจัดตั้ง หรือจ้าง ซึ่งเป็งการกระทำที่ผิดกฎหมาย ให้คนอื่น ๆ ลงสมัครเพื่อไปเลือกตนเอง สมมติว่าเขาจ้างคนไปสัก 50 คน เขาคงคิดว่าเขาได้เป็น สว.แน่ ๆ เขาคิดว่าเขาคงเข้ารอบแน่ ๆ เพราะว่ามีคนที่เขาจ้างแล้ว 50 คน แต่ถ้าวันเลือกมีประชาชนที่ไหนไม่รู้ ไม่ได้เป็นกลุ่มจัดตั้ง ไม่ได้เป็นคนของใคร ไม่ได้แน่นอนว่าไปโหวตใคร แต่เป็นประชาชนที่มีเจตจำนงอิสระ เดินเข้าไปสมัครเพื่อจะไปโหวตอีก 100 คน เสียงจัดตั้ง 50 เสียงจะไม่มีความหมายเลย จะไม่สามารถการันตีได้ว่าคนที่จัดตั้งมานั้นจะได้เป็น สว. แต่คนอีก 100 คน จะเป็นคนตัดสินใจว่าใครได้เข้ารอบ และใครควรจะเป็น สว.”
ทั้งนี้ระบบการคัดเลือก สว.ครั้งนี้ ผู้อำนวยการ iLaw มองว่า ล็อกผลยาก คนที่มีอิทธิพล มีเงิน จะจ้างคนไปลงคะแนนเยอะ ๆ ก็ไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นสว. แม้สามารถผ่านเข้ารอบระดับอำเภอได้ แต่รอบระดับจังหวัด และประเทศ ก็ไม่รู้จะล็อกอย่างไร นอกจากตัดประชาชนที่มีเจตนาบริสุทธิ์ออกไปจากเกมนี้ได้หมด