ประเทศไทยใกล้จะได้ สว. ชุดใหม่ ซึ่งเป็น สว. ชุดที่ 13 จากกติกาที่ไม่เคยมีมาก่อนที่เรียกว่า “การเลือกกันเอง” ซึ่งไม่ว่าใครจะได้เป็น สว. ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีงานและหน้าที่สำคัญอีกหลายประการเพื่อสานต่อ โดยอาจสรุปหน้าที่สำคัญของ สว. ออกเป็น 4 ประการ ดังนี้
1. การพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย
เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ สว. มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากฎหมายร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร และการกลั่นกรองกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว
ยกตัวอย่าง เช่น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา
โดยในปัจจุบัน มีร่างกฎหมายสำคัญ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 ชั้น กมธ.วิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร หลายฉบับ เช่น
- ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….
- ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. ….
ซึ่งเมื่อกฎหมายเหล่านี้ผ่านการลงมติของ สส. ในวาระที่ 3 แล้ว จะถูกส่งให้ สว. พิจารณาต่อ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ สว.ชุดใหม่ ที่จะได้รับเลือกนั่นเอง
2. การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดผู้มีสิทธิที่สามารถเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4 กลุ่ม ได้แก่
- คณะรัฐมนตรี (ครม.)
- ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 50,000 คน
- สส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีทั้งหมด 500 คน หรือคิดเป็นไม่น้อยกว่า 100 คน
- สส. และ สว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งมีทั้งหมด 700 คน หรือคิดเป็นไม่น้อยกว่า 140 คน
ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะมีการพิจารณาโดยรัฐสภาใน 3 วาระ
โดยในการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะต้อง
- มีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือคิดเป็นไม่น้อยกว่า 350 คน และ
- มี สว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภาด้วย หรือคิดเป็นไม่น้อยกว่า 67 คน
และในการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย
- มีคะแนนเสียงเห็นชอบบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือคิดเป็นไม่น้อยกว่า 350 คน
- มี สส. จากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20% ของทุกพรรคการเมือง
- มี สว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภาด้วย หรือคิดเป็นไม่น้อยกว่า 67 คน
จะเห็นได้ว่า สว.ชุดใหม่นี้ เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่
3. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
สว. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. การตั้งกระทู้ถาม
สว. มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเกี่ยวกับงานในหน้าที่ ในรูปแบบหนังสือหรือวาจาก็ได้ เช่นเดียวกับ สส. (ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ไม่ได้ให้สิทธิในการถามด้วยวาจาแก่ สว.)
2. การเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา
สว. มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้รัฐมนตรีมาชี้แจงได้ โดยอาศัยจำนวน สว. เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็นไม่น้อยกว่า 67 คน
3. การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา
ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและ ครม.
4. การตั้งคณะกรรมาธิการ
มีอำนาจตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณา ศึกษา รายงานผลการพิจารณาให้วุฒิสภาทราบ
4. ให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย
สว. มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็นตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย
4.1 การให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตาม “รัฐธรรมนูญ”
ประกอบด้วย 6 องค์กร รวมทั้งหมด 42 ตำแหน่ง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกตำแหน่งที่ สว. ชุดใหม่นี้จะให้ความเห็นชอบ เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งของแต่ละคนในแต่ละองค์กรต่างกัน หรือถึงแม้อยู่ในองค์กรเดียวกันก็มีวาระการดำรงตำแหน่งต่างกัน และ สว. ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ไม่มีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ต่างจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และ 2550 ที่ให้อำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้
โดย สว. ชุดใหม่นี้ จะให้ความเห็นชอบทั้งหมด 32 ตำแหน่ง จาก 42 ตำแหน่ง (คิดเป็นประมาณ 3 ใน 4) โดยข้อมูลแสดงในตารางด้านล่าง
4.2 การให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตาม “กฎหมาย” อื่น
นอกจากนี้ สว. ยังมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น
- ประธานศาลปกครองสูงสุด
- ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- อัยการสูงสุด
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
- เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
- คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
- คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.)
บางหน้าที่หายไป ตาม สว. ชุดพิเศษ
สว. ชุดพิเศษ หรือ สว. ชุดที่ 12 หรือ สว. ตามบทเฉพาะกาล คือ สว. ชุดก่อนหน้า ที่ถูกแต่งตั้งในยุค คสช. มีอำนาจหน้าที่พิเศษบางอย่างเพิ่มเติม ที่ สว. ชุดใหม่ จากการเลือกกันเองนี้ไม่มี ได้แก่
1. การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ
2. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
3. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้
ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญ
4. การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
อ้างอิง