ต้องมีเงินเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่า แก่ชราได้อย่างมีคุณภาพ? เป็นโจทย์คำถามในสังคมไทยมายาวนาน เมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน หรือหลังอายุ 60 ปีของคนไทย ซึ่งปัจจุบัน 3 กลุ่มอาชีพ ข้าราชการ แรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ต่างมีระบบบำเหน็จบำนาญ
แม้ว่าทั้ง 3 กลุ่มจะเป็นแรงงานใหญ่สุดของไทย แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับเงินบำเหน็จบำบาญในระดับเดียวกัน เพราะแต่ละกลุ่มต่างมีเงื่อนไข ซึ่งปัจจุบัน สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มตัว ทำให้ประเด็นเงินบำเหน็จบำนาญได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น
กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่รายงานการประเมินผลกระทบและความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุภายใต้ระบบบำนาญของประเทศไทย ปี 2566 ถึงระบบรายได้ยามชราภาพ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปของไทย แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ บำนาญพื้นฐาน บำนาญภาคบังคับ และบำนาญภาคสมัครใจ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะอาชีพ คือ
กลุ่มข้าราชการ
- เงินบำเหน็จ หรือบำนาญตลอดชีวิต จากกรมบัญชีกลาง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งคำนวณจากอายุราชการและเงินเดือนเฉลี่ยก่อนเกษียณอายุ
- สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินสะสมและเงินสมทบด้วย
กลุ่มแรงงานในระบบ
- เบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดจากรัฐบาล อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน, อายุ 70-79 ปี 700 บาทต่อเดือน, อายุ 80-89 ปี 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาทต่อเดือน
- กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม เมื่อเกษียณจะได้รับบำเหน็จจำนวนเท่ากับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทน
- สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อเกษียณจะได้รับบำเหน็จจำนวนเท่ากับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทน
กลุ่มแรงงานนอกระบบ (เป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ)
- เบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดจากรัฐบาล อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน, อายุ 70-79 ปี 700 บาทต่อเดือน, อายุ 80-89 ปี 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาทต่อเดือน
- กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 หรือกรณีเป็นสามชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อปี หรือสูงสุด 13,200 บาทต่อปี พร้อมรับเงินสมทบจากรัฐตามช่วงอายุ สูงสุดร้อยละ 100 หรือไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับบำนาญรายเดือนจากเงินออมสะสม เงินสมทบ และ ผลตอบแทนการลงทุน
‘เบี้ยยังชีพ’ กลุ่มแรงงาน ‘ไม่พอยังชีพ’
รูปแบบการจัดการเพื่อจ่ายเงินผู้สูงอายุเมื่อเกษียณ มี 2 ลักษณะ คือ
- กำหนดอัตราผลประโยชน์ (Defined: DB) คือ รับประกันผลประโยชน์ไว้ล่วงหน้าแน่นอน ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จหรือบำนาญกรมบัญชีกลาง บำเหน็จหรือบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กทม. และกองทุนประกันสังคม
- กำหนดตามอัตราเงินส่ง (Defined contribution: DC) คือ กำหนดอัตราเงินข่ายนำส่งจากรัฐ ผู้รับประโยชน์ และนายจ้างในบางกรณี ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์จากการนำเงินไปลงทุน เช่น กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กอช.
สศช. ได้ตั้งข้อสังเกตกับกองทุนบำเหน็จของรัฐบาล ว่าถูกออกแบบไว้เสมือนว่า “ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการจะคงเป็นข้าราชการ แรงงาน ในระบบจะอยู่ในระบบ และแรงงานนอกระบบจะอยู่นอกระบบ ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน” ทั้งที่ความจริงจะมีการย้ายข้ามระบบอยู่ด้วย ทำให้เมื่อมีการย้ายงานข้ามระบบ
หากระยะเวลาส่งเงินสมทบในแต่ละรบบไม่ยาวนานพอตามที่กำหนด อาจทำให้ประชาชนได้รับเพียงเฉพาะเงินบำเหน็จเท่านั้น รวมถึงเบี้ยยังชีพไม่ได้ปรับตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้มูลค่าของเงินลดลงไปด้วย ส่งผลให้ระบบบำนาญเหล่านี้ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าจะสามารถใช้ดำรงชีพได้เมื่อเกษียณอายุ
จากกราฟข้างต้น จะเห็นได้ว่าระบบรายได้ยามชราภาพของไทย แสดงให้เห็นว่า ข้าราชการได้รับเงินอุดหนุนสูงกว่าลูกจ้างในระบบและนอนกระบบชัดเจน โดยแกนนอนแบ่งตามแรงงาน 3 กลุ่ม ส่วนแกนตั้งเป็นประมาณการผลตอบแทนที่ได้รับ โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้น จะได้รับทุกคน ยกเว้นข้าราชการ ส่วนข้าราชการ มีระบบเงินบำนาญในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงบางรายมีเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลูกจ้างในระบบ มีเงินจากประกันสังคม มาตรา 33 และประกันสังคมภาคสมัครใจ มาตรา 39 สำหรับลูกจ้างที่เคยอยู่ในระบบ
ส่วน ลูกจ้างนอกระบบ มีประกันสังคมมาตรา 40 ที่ได้รับเงินหลังเกษียณตามอัตราเงินที่จ่ายซึ่งน้อยกว่าระบบอื่น โดยลูกจ้างนอกระบบที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถเลือกเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะเห็นว่าระบบต่างมีการบริหารจัดการที่ค่อนข้างแยกส่วนเพราะแต่ละระบบอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐคนละหน่วยงาน
ข้าราชการเกษียณแล้วมั่นคง – แรงงานต้องทำงานในวัยเกษียณ
สศช. ระบุว่าจากข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) ปี 2562 เมื่อนำข้อมูลรายได้ยามเกษียณจากระบบประกันรายได้ต่าง ๆ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่าง (1) มูลค่าเงินขั้นต่ำที่ผู้สูงอายุต้องมีเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในช่วงชีวิตที่เหลือ และ (2) รายได้ยามชราภาพของผู้สูงอายุจากระบบบำนาญต่าง ๆ ที่จัดการโดยภาครัฐในประเทศไทย
พบว่า ในกรณีสมมติฐานว่า เมื่ออายุ 60 ปี ประชากรไทยจะมีอายุคาดเฉลี่ยเหลืออยู่อีก 22.12 ปี และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ประชากรแต่ละคนจำเป็นต้องมีเงินจำนวนทั้งสิ้น 984,301 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 5,071 บาทต่อเดือน (ไม่รวมรายได้จากการทำงาน 3,613 บาทต่อเดือน)
ทั้งนี้ หากไม่มีรายได้จากการทำงาน และพึ่งพาเพียงรายได้ยามชราภาพของผู้สูงอายุจากระบบบำนาญตามที่จัดการโดยภาครัฐ จะพบว่า มีเพียงกลุ่มข้าราชการบำนาญเท่านั้นที่จะมีรายได้เพียงพอต่อการบริโภค ขณะที่ผู้ที่ได้รับบำนาญในระบบบำนาญอื่น ๆ จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการบริโภคในตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ ทั้งกลุ่มแรงงานในระบบที่ได้รับบำนาญจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และจากกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 หรือ 39 และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับบำนาญจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และจากกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 (2) หรือ (3) หรือจากกองทุนการออมแห่งชาติ
จากภาพด้านบน หมายความว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากจะยังจำเป็นต้องทำงานหรือหารายรับจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากการทำงานมาช่วยรักษาระดับการบริโภคให้คงเดิม หรือจำเป็นต้องลดระดับการบริโภคลง ให้สมดุลกับรายได้ยามชราภาพ