โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) กับหลายประเทศทั่วโลก ด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า โดยเก็บภาษี 2 ส่วน คือ การเก็บภาษีขั้นต่า (Baseline) 10% ซึ่งจะเรียกเก็บกับสินค้าจากทุกจากประเทศที่สหรัฐนาเข้าสินค้า และ การเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Additional) 10-49% กับหลายประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง
การเก็บภาษีส่วนเพิ่ม อย่างเช่น จีนที่ถูกเรียกเก็บ 34%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24% และสหภาพยุโรป (EU) 20% ส่วนประเทศในอาเซียนถูกเรียกเก็บภาษี โดยเก็บภาษีกัมพูชา 49%, ลาว 48% เวียดนาม 46%, เมียนมา 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, บรูไน 24%, มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%
ไทยถูกปรับเพิ่มในอัตรา 36% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10-25% ซึ่งสหรัฐฯให้เหตุผลว่าไทยเก็บภาษีจากสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง 72% มีผลบังคับใช้ 9 เม.ย. 2568

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) กับหลายประเทศทั่วโลก ในวัน Liberation Day
บล.บัวหลวง ระบุว่าสหรัฐยังไม่มีการยกเว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตร เช่น EU, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ สะท้อนว่าแนวทางนี้เป็นเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่กลยุทธการค้า (tactical) ซึ่งมาตรการภาษีครั้งนี้เทียบได้กับจุดเริ่มต้นของ “Trade War 2.0” ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงและมีผลกระทบเชิงโครงสร้างมากกว่าสงครามการค้าครั้งแรกในปี 2018
มาตรการภาษีชุดนี้ไม่ใช่เพียงแค่กลยุทธ์กดดันเชิงการเมือง แต่ถือเป็นแรงกระแทกเชิงโครงสร้างต่อระบบการค้าโลก หลายประเทศอาจจาเป็นต้องเร่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาการค้าใหม่กับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในระยะยาว
หากการเจรจาการค้าของหลาย ๆ ประเทศล่าช้า หรือไร้ความชัดเจน อาจนาไปสู่ภาวะการลงทุนชะงักงัน การบริโภคหดตัว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้ากว่าคาดการณ์ Wealth Research
มาตรการนี้จึงอาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยนของโครงสร้าง Supply Chain โลก” ที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้า ซึ่งเน้นความยืดหยุ่นมากกว่าประสิทธิภาพและการประหยัดต้นทุนการผลิตเพียงอย่างเดียว
ในระยะสั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากกระบวนการเจรจาการค้ายืดเยื้อและไร้ความคืบหน้า โดยเราประเมินว่า จีดีพี (GDP) อาจหดตัวในกรอบ -1.5% ถึง -2.0% ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าที่เคยเป็นสมมติฐานหลักก่อนหน้านี้
ผลกระทบหลักจะมาจากการบริโภคที่อ่อนแรงลงจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนทางนโยบายที่บั่นทอนความเชื่อมั่นภาคเอกชน และความเสี่ยงด้านการค้าโลกที่กดดันคำสั่งซื้อใหม่
ผลกระทบต่อการค้าโลก
บล.บังหลวงประเมินว่านโยบายของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกที่สำคัญ ดังนี้
- บริษัทข้ามชาติจานวนมากอาจชะลอการลงทุนเพื่อตีความท่าทีของสหรัฐฯ และประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจใหม่ ส่งผลต่อ กระแส FDI และวัฏจักรการลงทุน (Capex Cycle) ในภูมิภาคต่างๆ
- ความเชื่อมั่นใน Global Supply Chain ลดลงอย่างมีนัยสาคัญ โดยเฉพาะในภาคการผลิต ส่งผลต่อคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) และแผนการขยายกำลังการผลิต
- แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น บั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้า
- ความเสี่ยงของการเกิด “Fragmentation of Trade” หรือการแบ่งขั้วการค้าระหว่างกลุ่มประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของการค้าโลก
ดังนั้นจึงต้องจับตาช่วงที่สำคัญ คือ “สัญญาณการเปิดทางเจรจา” คาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 3 เดือน เทียบเคียงกับสงครามการค้าปี 2018
ความเสียหายเศรษฐกิจไทย
สำหรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ว่า การประกาศปรับขึ้นภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดี ทรัมป์ เป็นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าทุกประเภทที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนวันที่ 5 เม.ย. 68 และเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นกับประเทศที่มีความไม่สมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ ราว 60 ประเทศ มีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนวันที่ 9 เม.ย.68 ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บอัตรา 36% สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน
ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 18% ซึ่งหากการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ลดลงทุก ๆ 1% จะส่งผลให้มูลค่าส่งออกไทยลดลงประมาณ 12,102 ล้านบาท โดยจะกระทบเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี (GDP) ประมาณ -0.11% ยกตัวอย่างเช่น หากไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ลดลง 15% จะทำให้มูลค่าส่งออกลดลง 181,532 ล้านบาท กระทบจีดีพี -1.62%
นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI ) มีโอกาสที่จะไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่โดดเด่นเหมือนยุคทรัมป์ 1.0 เนื่องจาก ทรัมป์ มีความจงใจขึ้นภาษีทุกประเทศ (การย้ายฐานการผลิตอาจจะไม่มีผล) โดยบางสำนักเศรษฐกิจคาดว่า จีดีพีของไทย อาจลดลงแตะระดับต่ำกว่า 2% ได้ไม่ยาก ซึ่งค่าเฉลี่ยแต่ละสำนักเศรษฐกิจก่อนหน้านี้อยู่ที่ +2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแผนการรับมือของไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทาง คือ
- ไทยพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าแต่ละสินค้าลงให้ไม่เกิน 36% คาดจะทำให้ผลขาดดุลการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-ไทย ลดลง 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 109,886 ล้านบาท (ณ ค่าเงิน 34.34 บาท/เหรียญฯ)
- ไทยเพิ่มปริมาณสินค้านำเข้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื้อสัตว์ แอลกอฮอล์ ถั่วเหลือง เศษเนื้อและเครื่องใน เครื่องบิน
ไทยเจอภาษีตามเอกสาร 37%
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารภาคผนวกบนเว็บไซต์ทำเนียบขาว อัตราภาษีที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากไทยเพิ่ม 1% เป็น 37% จากเดิมที่ทรัมป์ประกาศไว้ 36% เมียนมาถูกปรับแก้เป็น 45% จากเดิม 44% ฟิลิปปินส์เป็น 18% จากเดิม 17% ส่วนของอินเดียถูกระบุไว้ที่ 27% แทนที่จะเป็น 26% ตามที่ทรัมป์ประกาศ และเกาหลีใต้ถูกปรับเพิ่มเป็น 26% แทนที่จะเป็น 25% ซึ่งหลายประเทศมีการปรับขึ้นจากที่แถลง 1%
ทั้งนี้ มีรายงานว่าอัตราภาษีที่สหรัฐเรียกเก็บ จะเป็นไปตามภาคผนวกบนเว็บไซต์ทำเนียบขาว
นายกฯพร้อมเจรจาการค้าสหรัฐฯ
ล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ไทยจะต้องปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ และตั้งคณะทำงานเรื่องการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา โดยไทยไม่ได้นำเข้าสินค้าสหรัฐฯจำนวนมากมายอะไร แต่พอเก็บภาษีแพงก็ทำให้ไทยโดนเป็นอันดับต้น ๆ ที่ 36% ซึ่งก็สูงพอสมควร
ทั้งนี้ไทยได้มีการเตรียมทั้งแผนระยะสั้นระยะยาว โดยระยะสั้นต้องดูว่าสามารถคุยเจรจาต่อรอง เพื่อช่วยผู้ประกอบการส่งออกในการเยียวยาหรือช่วยอะไรได้บ้าง ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์กำลังหาข้อสรุปให้ เพราะสหรัฐฯ เพิ่งประกาศภาษี 36% ออกมา
อย่างไรก็ตามมาตรการต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งมาตรการเบื้องต้นและสิ่งที่กำลังจะคุยกันต่อ และความจริงตัวเลขเฉลี่ยภาษีอยู่ที่ 9% แต่มีจำกัดว่าแต่ละประเภทสินค้าไม่ให้เกินเท่าไหร่ เช่น ข้าวโพดไม่ให้เกินเท่าไร จึงมีการนำตัวเลขนั้นมาเป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่เคยมี จึงต้องมาดูว่าสามารถบาลานซ์อะไรได้บ้าง
เมื่อเช้านี้ก็ได้มีการพูดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หลังมีตัวเลขออกมา แต่จริง ๆ แล้ว ก็มีการพูดคุยกันมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการตั้งทีมเจรจา จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้

ตัวอย่างรายชื่อ 50 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้า จากทั้งหมด 135 ประเทศทั่วโลก
นายกรัฐมนตรี ยังได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ในขณะที่กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ มีความเป็นพลวัต (dynamic) และแตกต่างไปจากยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง
ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนโยบายในงาน Liberation Day เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 เวลา 04.00 น. (เวลาไทย) ได้ประกาศขึ้นภาษีกับการนำเข้าจากทุกประเทศขั้นต่ำ 10% ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ มองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ ตั้งแต่อัตราภาษีนำเข้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ จะถูกจัดเก็บ โดยแต่ละประเทศจะถูกปรับในอัตราที่แตกต่างกันในอัตราหารครึ่งจากอัตราที่สหรัฐฯ คำนวณว่าสินค้าของสหรัฐฯ ถูกจัดเก็บจากประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ 36% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป
การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกรายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่อาจไม่สามารถรับกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในระดับสูงได้ ดังนั้น ในระยะยาว ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และได้วางมาตรการรองรับในการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่มีตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก
รัฐบาลขอเรียนว่า ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรก เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจัดเตรียม “ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย” ที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ไทยยังอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับบางอุตสาหกรรมได้
ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะสร้างเสถียรภาพและสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ ในระยะยาว มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นหนึ่งในกลุ่มมิตรประเทศเพื่อการลงทุน ที่ทั้งสองประเทศสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเอื้อซึ่งกันและกัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดโลก อาทิ ในภาคเกษตร-อาหาร ที่สหรัฐฯ มีสินค้าเกษตรจำนวนมากที่ไทยสามารถนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปตลาดโลก และในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตฮาร์สดิสไดร์ (HDD) ที่สำคัญของโลก และอุปกรณ์ดังกล่าวก็จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดาตาเซ็นเตอร์ (Data Center) และเอไอ (AI) ของสหรัฐฯ
สุดท้ายนี้ รัฐบาลไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ จะมองถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว ประเทศไทยยังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นพันธมิตรและมุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อตลาดโลก ให้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อท้ายที่สุด จะช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศ ผ่านการหารืออย่างสร้างสรรค์โดยเร็ว