จีนในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกรวม 3,380,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (121.5 ล้านล้านบาท) ลดลง 4.6% จากปี 2565 และมีมูลค่าการนำเข้า 2,556,802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (91.9 ล้านล้านบาท)ลดลง 5.5% จากปี 2565 โดยการนำเข้าที่ลดลงเร็วกว่าการส่อออก ส่งผลให้จีนมีดุลการค้าเกินดุล 823,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (29.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2537
จีนลดนำเข้าสินค้าทั่วโลก แต่ส่งออกมากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบการส่งออกในตลาดโลก จีนมีสัดส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2564-2566 (ในช่วงหลังโควิด-19) มีสัดส่วนอยู่ที่ 22.3% ของการส่งออกรวมในตลาดโลก เพิ่มขึ้นจาก 17.6% ในช่วงปี 2553-2559 (ใช่วงก่อนสงครามการค้า) ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) มีสัดส่วนการส่งออกเฉลี่ยในช่วงปี 2564-2566 อยู่4.8% ลดลงจากเฉลี่ย 6.2% ในช่วงปี
2553 -2559
การที่จีนมีสัดส่วนการนำเข้าลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวนโยบายในการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาการผลิตภายในประเทศมากขึ้น ทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของจีนในช่วงหลังโควิด-19 เหลือสัดส่วนอยู่ที่ 14.3% ของการนำเข้าทั่วโลก ลดลงจาก 14.7% ในช่วงโควิด-19 (ปี 2562 – 2563)
เวียดนามแชมป์อาเซียนนำเข้าสินค้าจีนสูง
เมื่อมาดูประเทศในกลุ่มอาเซียน กลับมีแนวโน้มพึ่งพาสินค้าจากจีนเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 23% ของการนำเข้ารวมของอาเซียน เพิ่มขึ้นจาก 18.1% ในช่วงก่อนสงครามการค้า (ปี 2561) ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน สัดส่วนลดมาอยู่ที่ 19.9% แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง มีแนวโน้มที่จะต้องแข่งขันกับสินค้าจากจีนมากขึ้น โดยประเทศอาเซียนที่พึ่งพาสินค้าจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ คือ เวียดนาม มีสัดส่วนนำเข้า 28.9% ของกลุ่มอาเซียน เพิ่มจาก 22.1% ในช่วงก่อนการเกิดสงครามการค้า รองลงมาอินโดนีเซีย มีสัดส่วน 15.9% เพิ่มขึ้นจาก 14.9% และฟิลิปปินส์ มีสัดส่วน 7.2% เพิ่มจาก 5.5% ส่วนไทยมีสัดส่วนที่ 17.9% ลดลงจาก 19.6% ในช่วงก่อนการเกิดสงครามการค้า
ไทยขาดดุลการค้าจีนมากขึ้นทุกปี
นับตั้งแต่ปี 2561 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น หรือ ก็คือมูลค่าการเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าสินค้าที่ส่งออกไปจีน จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนราว 25,803 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.27 แสนล้านบาท) เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวจากปี 65 ซึ่งขาดดุลอยู่ที่ 2,276 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ (8.1 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่ไทยจะขาดดุลการค้ากับจีนต่อเนื่อง
โดยสินค้าไทยที่มีการขาดดุลกับจีนมากสุด ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานยนต์ สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ เคมีภัณฑ์ เบ็ดเตล็ด ของเล่น เครื่องเกม เป็นต้น
ส่วนสินค้าไทยที่มีการเกินดุลการค้ากับจีนค่อนข้างมาก ได้แก่ ผลไม้ ยางและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมโม่-สีธัญพืช เยื่อไม้ น้ำตาล พืชผัก เนื้อสัตว์ ธัญพืช ปลาและสัตว์น้ำ เป็นต้น
สินค้าไทยกำลังพ่ายแพ้สินค้าราคาถูกจากจีน
จะเห็นได้ว่าสินค้าไทยที่เกินดุลการค้ากับจีนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าไม่สูงมาก ในขณะที่สินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนค่อนข้างมากจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ซึ่งสะท้อนว่า ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าของไทยไปยัง ตลาดจีนมีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม หากสินค้าอุตสาหกรรมจากจีน โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง (สินค้าสำเร็จรูปที่ถูกใช้ไปในเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่น ๆ จนกลายเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย) ที่มีราคาถูก เนื่องจากต้นทุนการผลิตของจีนที่ต่ำกว่า สามารถนำเข้ามาขายในไทยเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าของไทยเท่านั้น แต่จะกระทบต่อผู้ประกอบการของไทยที่จะแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้ยากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของห่วงโซ่การผลิตสินค้าของไทยในระยะยาว