โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน พยายามจะเดินหน้าผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อต้องการให้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ซึ่งความก้าวหน้าของโครการฯอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลกระทบ และข้อเสนอแนะต่าง ๆ
แต่ แลนด์บริดจ์ กลับไม่อยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปในชื่อ สภาพัฒน์ เป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่คอยให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และให้ความคิดเห็นต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย รวมถึงจัดทำร่างแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภูมิภาค
การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของ สภาพัฒน์ มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่ผลักดันพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภูมิภาคของไทย ใน 16 จังหวัด คือ
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีเป้าหมายพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร โดยพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมชั้นนำด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานคร และพื้นที่โดยรอบ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเน้นส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ เชื่อมโยงการค้า และโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวิภาพ และการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ โดยจะเน้นส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรก ตามศักยภาพและโอกาส
- ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เน้นส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Ewllness Tourism) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
- ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
- ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก เน้นส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรและอหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เน้นส่งเสริมคลัสเตอร์เกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวิภาพ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ยังเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน 10 จังหวัด ครอบคลุม 90 ตำบล ใน 23 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดตาก เชียงราย กาญจนบุรี สระแก้ว ตราด หนองคาย มุกดาหาร นครพนม สงขลาและนราธิวาส ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดยใต้ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน บริหารจัดการแรงงาน การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ด้านแรงงาน และด้านการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร การพัฒนาสังคม และการจัดหาพื้นที่พัฒนาเพื่อใช้สำหรับการลงทุน
จากรางานประจำปี 2566 ของสศช. ระบุว่ายังดำเนินการตามแผนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ปรากฏว่ามีโครงการแลนด์บริดจ์ หากรัฐบาลต้องการผลักดันอาจจำเป็นต้องแก้แผนพัฒนาและระเบียบและคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านั้น
ที่มาข้อมูล: สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)