กรมสรรพสามิต ปรับเงื่อนไขอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า หรือ ไฮบริด ยกเลิกกำหนดขนาดถังน้ำมัน เหลือเกณฑ์ขนาดแบตเตอรี แต่อัตราภาษีเท่าเดิม มีผลต้นปีหน้า
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 เม.ย. 68 อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
การปรับปรุงอัตราภาษีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในตลาดโลกและในประเทศ หลังจากยอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริด หรือ PHEV ขยายตัวอย่างมาก
ในปี 67 ทิศทางของตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า (xEV) ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและหนุนตลาดรถยนต์ไทย โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งไฮบริด ขยายตัวถึง 42% มียอดจำหน่ายรวม 136,000 คัน ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV หดตัวจากยอดขายที่ปรับลดลง 10.2% มียอดจำหน่าย 68,000 คัน
ในปี 68 จากม.ค.-เม.ย. มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดในประเทศไปแล้วเกือบหมื่นคันจากทุกค่าย
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยการปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดหลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ซึ่งได้ยกเลิกเงื่อนไขขนาดถังน้ำมัน (Fuel Tank) และให้คงพิจารณาเฉพาะระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้งเท่านั้น
จากเงื่อนไขเดิม กำหนดให้รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV ที่มีอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 5 ที่มีระยะการวิ่งด้วยไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และมีขนาดถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร และรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV ที่มีอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 ที่มีระยะการวิ่งด้วยไฟฟ้าต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง หรือมีขนาดถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร
ทั้งนี้ ยังคงจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 5% และ 10% และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป เนื่องจากรถยนต์ประเภท PHEV มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีให้สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าให้ไกลกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องอัดประจุไฟฟ้าหรือเติมน้ำมันในระหว่างการเดินทาง ประกอบกับในต่างประเทศไม่มีการกำหนดเงื่อนไขขนาดถังน้ำมันของรถยนต์ประเภท PHEV
การปรับปรุงเงื่อนไข เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ประเภท PHEV ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาเทคโนโลยีและสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ PHEV ในระดับสากล และเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้เปลี่ยนผ่านและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) ตามเป้าหมายของรัฐบาล
การปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้เนื่องจากเป็นการปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV เท่านั้น มิได้เป็นการปรับลดอัตราภาษีหรือยกเว้นภาษีและฐานภาษียังคงอยู่ในระดับเดิม จึงไม่กระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้ารถยนต์ที่ยังคงจัดเก็บในอัตราภาษีตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้ว เห็นชอบ/ไม่ขัดข้องต่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
สำหรับการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในระยะกลางและระยะยาว โดยการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine) ที่มีแนวทางการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ที่รัฐบาลจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต
รัฐบาลเร่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) และการถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ในขณะที่ยังรักษาการจ้างงานควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
รถยนต์ไฟฟ้าป่วนตลาด ระเบิดสงครามราคา