ย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดตัวร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) ซึ่งเป็นร่างแผนฉบับใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จนในเวลาต่อมาร่างแผนฉบับนี้ถูกหลายภาคส่วนในแวดวงพลังงานออกมาตั้งข้อสังเกต วิพากษ์ และให้ความเห็น เพราะเป้าหมายของร่างแผนฉบับดังกล่าวแม้มีความตั้งใจที่จะสร้างความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในไทยมากขึ้น แต่ยังขาดการพยากรณ์/คาดการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ดังข้อมูลตัวอย่างในเอกสารที่จัดทำโดยกลุ่ม JustPow ที่ระบุว่า ร่างแผน PDP 2024 นำเสนอข้อมูลอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปีต่าง ๆ ที่ผ่านมาค่อนข้างสูงเกิน หากเทียบกับค่าตัวเลข GDP ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ช่วงปี พ.ศ. 2566-2567 หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่าการคาดการณ์ตัวเลข GDP อยู่ที่ 3.7 และ 3.4 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นค่าคาดการณ์ที่ค่อนข้างสูง ทำให้วางแผนว่าต้องมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าและสำรองไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น จึงสร้างผลกระทบให้ต้นทุนค่าการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ปรากฏกว่าค่าตัวเลข อันสะท้อนให้เห็นถึงการพยากรณ์การผลิตและการบริโภคพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นจริง ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายผ่านบิลค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในราคาแพง จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่าร่างแผน PDP 2024 ที่มุ่งสร้างความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าที่แต่เดิมไทยมีความมั่นคงอยู่แล้ว แต่คนไทยกลับต้องมาจ่ายเงินค่าไฟเพิ่มขึ้นจากการจัดทำแผนที่ไม่รัดกุม ขาดการพยากรณ์/คาดการณ์ที่ครอบคลุมความเสี่ยงต่าง ๆ และระบบที่คำนวณค่าการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่ล้นเกิน โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ มันคุ้มค่าและสมเหตุผลแล้วหรือไม่
บทความฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปดูถึงตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่าแท้จริงแล้ว ไทยเป็นประเทศที่มั่นคงพลังงานไฟฟ้า แต่ด้วยเหตุจากปัญหา/ความบกพร่องของร่างแผน PDP 2024 ที่วางแผนและคาดการณ์การผลิตและการบริโภคพลังงานไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมสถานการณ์/ความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงระบบคำนวณค่าการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน จนอาจนำมาสู่ความเดือดร้อนของคนไทยที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากค่าไฟที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าไทยในปัจจุบัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พลังงาน” เป็นสิ่งมีค่าและมีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นพลังงานรูปแบบใดก็ล้วนแล้วมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และชีวิตประจำวันของมนุษย์ การมีพลังงานจึงเป็นการสร้างความมั่นคงอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ “พลังงานไฟฟ้า” ที่ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการนำมาบรรจุอยู่ในเป้าหมายของการบรรลุความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงานของโลกในอนาคต อนึ่ง การจะบอกว่าประเทศใดประเทศหนึ่งมีความมั่นคงพลังงาน สามารถพิจารณาจากตัวชี้วัดหลัก 4 มิติ ซึ่งนำมาวิเคราะห์ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันได้ ดังนี้
- มิติความพร้อมใช้งานของทรัพยากร (Availability) จากข้อมูลของ กฟผ. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ไทยมีสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศด้วยเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติมากที่สุด จำนวน 126,246.99 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (61.57%) นอกนั้นเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่น และการพึ่งพาจากต่างประเทศ (สปป. ลาว, มาเลเซีย) รวมเป็นจำนวน 204,711.42 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรที่ได้มาจากแหล่งต่าง ๆ ที่หลากหลายอย่างเพียงพอต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า
- มิติด้านราคา (Affordability) แม้ปัจจุบันจะมีความผันผวนและสถานการณ์ความมั่นไม่คงจากภายนอกประเทศ ทั้งความขัดแย้งและเกิดสงครามบางภูมิภาค แต่รัฐบาลพยายามควบคุมและตรึงราคาค่าไฟให้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ยาวจนถึงเมษายน พ.ศ. 2568 พร้อมทั้งหาแนวทางที่จะช่วยให้ราคาค่าไฟถูกลดต่ำลงกว่า 4.18 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน จึงทำให้ราคาค่าไฟอยู่ในระดับที่ไม่แพงมากสุด
- มิติด้านการยอมรับ (Acceptability) เนื่องด้วยไทยมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แต่การใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนในไทยปัจจุบันยังมีน้อย ซึ่งในอนาคต หากปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนมากขึ้น โรงไฟฟ้าที่ผลิตด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลอันเป็นโรงไฟฟ้าหลักควรปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งการเพิ่ม/ลดกำลังผลิตได้เร็วขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดมลพิษ และเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า
- มิติด้านเทคโนโลยีและประสิทธิภาพ (Applicability) ไทยมีแผนจะทำ “สมาร์ทกริด” (Smart grid) หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีหลายประเภทมาใช้ผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า และจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งควรทำอย่างยิ่ง เพราะทำให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้ชาญฉลาดมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง อีกทั้งยังมีระบบกักเก็บพลังงาน ( และมีความผันผวนของกระแสไฟฟ้าน้อยลงและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มั่นคงมากขึ้น รวมถึงรองรับการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคต แต่ปัจจุบันไทยยังไม่ได้มีการนำแผนดังกล่าวนี้ไปการดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของไทยผ่านตัวชี้วัดทั้ง 4 มิติข้างต้นบ่งบอกว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มั่นคงพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับข้อมูลในรายงานของ World Economic Forum 2024 ระบุว่า ไทยจัดอยู่ในลำดับ 60 จาก 120 ประเทศ ที่มีคะแนนดัชนีประสิทธิภาพของระบบพลังงานอยู่ที่ 63.2 คะแนน แสดงให้เห็นถึงข้อดีที่ว่าประชาชนในไทยเข้าถึงไฟฟ้าได้เกือบทั้งหมด และมีระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างเสถียร แต่ขณะเดียวกัน หากดูคะแนนดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยในปี พ.ศ. 2567 จะพบว่าคะแนนอยู่ที่เพียง 55.8 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 56.5 คะแนน สะท้อนให้เห็นอีกมุมที่เป็นข้อเสียว่า ไทยยังให้ความสำคัญกับ “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน” ไม่มากพอ เพราะถ้าหากกลับมาย้อนดูในร่างแผน PDP 2024 จะเห็นว่าแม้ร่างแผนฉบับดังกล่าวมุ่งสร้างความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า แต่การดำเนินการภายในร่างแผน PDP 2024 ที่ไม่ได้มีการพยากรณ์/คาดการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งในเชิงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปัจจุบันและแนวโน้มจะหันไปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีอัตราความผันผวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์บางช่วงเวลาที่ราคาถูกปรับเพิ่มขึ้น และการไม่มีแผนคาดการณ์และป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติในอนาคตที่รัดกุมพอ อาจทำให้ไทยไม่บรรลุการพาประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาด หนำซ้ำยิ่งทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกปรับตัวในราคาที่สูงขึ้น สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน
ไทยก็มั่นคงพลังงานไฟฟ้า แต่ทำไมค่าไฟยังแพง
เมื่อพิจารณาจากร่างแผน PDP 2024 จะพบข้อมูลการพยากรณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนระบบพลังงานไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของไทยให้สอดรับกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในอนาคต แต่หากประเมินบริบทสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน และในอนาคต จะพบตัวอย่าง 2 ความเสี่ยง ซึ่งในร่างแผน PDP 2024 ยังไม่ได้วางแผนและคาดการณ์ให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น จนอาจทำให้คนไทยต้องเสียค่าไฟแพงเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนี้
1) ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
ด้วยสถานการณ์ปริมาณก๊าซธรรมชาติในไทยที่เป็นเชื้อเพลิงหลักเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปี พ.ศ. 2580 การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและบนบกจะลดลงเหลือเพียง 1,702 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตที่ 2,645 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย กาตาร์ และมาเลเซีย ที่นำเข้ามาในไทยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1,768 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี พ.ศ. 2580 จากปัจจุบันนำเข้า 923 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับแนวโน้มความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การคว่ำบาตรบางประเทศ การก่อการร้าย จนถึงขั้นทำสงคราม เหมือนดังกรณีสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ล้วนมีผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผันผวนและมีราคาแพงขึ้นเมื่อนำเข้ามา และคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น
อีกประการถัดมา แม้ไทยมีกำลังไฟฟ้าเพียงพอ แต่ไทยยังคงเลือกรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป.ลาวเพิ่มอีก 3,500 เมกะวัตต์ โดยเป็นการรับซื้อจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ ๆ ในลาว ที่ยังไม่เริ่มก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างก่อสร้าง ภายใต้อิทธิพลจากมหาอำนาจอย่างจีนที่เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการก่อสร้าง และเมื่อพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าที่ไทยได้อนุมัติจากการรับซื้อไฟฟ้าในโครงการพลังน้ำใหม่ ๆ จะพบว่าอัตราเหล่านี้ทำให้คนไทยต้องเสียค่าไฟแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการหลวงพระบางจะได้ค่าไฟสูงถึงประมาณ 2.84 บาทต่อหน่วย ส่วนโครงการปากแบงอยู่ที่ประมาณ 2.92 บาทต่อหน่วย เป็นต้น อีกทั้งการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ กล่าวคือ เขื่อนที่สร้างขึ้นใหม่จะไปขัดขวางการอพยพและวัฏจักรชีวิตของพันธุ์ปลาต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง เป็นการทำลายระบบนิเวศของปลาหลากหลายชนิด สร้างผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำลายแหล่งประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารและรายได้ชุมชนหดหาย สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม และเซเสด แม้หลังปี พ.ศ. 2561 ราคาโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไชยะบุรี จะมีราคาระหว่าง 2.08 บาทต่อหน่วย ถึง 2.82 บาทต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 1 แต่ยังถือว่าอยู่ในราคาถูก หากเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำรุ่นใหม่ ๆ ที่มีราคาแพง จึงเห็นได้ชัดแล้วว่าไทยควรเลือกต่ออายุสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเก่าของลาวที่มีราคาถูกกว่า เพื่อให้คนไทยเข้าถึงค่าไฟในราคาถูกลง
2) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
ในอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิโลกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนิโญ่ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และจากการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ออกมาระบุถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของผู้คนเปลี่ยนไป โดยพบการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันจะถึงจุดพีค (Peak load) ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะมากในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนสะสม ทำให้ต้องเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทพัดลม และ/หรือเครื่องปรับอากาศ (แอร์) มากขึ้น ประกอบกับมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น และการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ยอดพีคไฟฟ้าเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 21.54 น. อยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติปี พ.ศ. 2566 ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าแพงเพิ่มขึ้นตามมา ทั้งนี้ เมื่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวนบ่อยครั้งจะก่อให้เกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งในกรณีที่ประเทศคู่ค้าที่ซื้อ/ขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ากับไทยเผชิญกับวิกฤตหรือภัยธรรมชาติ จะเพิ่มโอกาสทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้าของไทยถูกปรับให้สูงขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ดังกรณีตัวอย่างเมื่อปี พ.ศ. 2566 สปป.ลาว ในฐานะประเทศคู่ค้าพลังงานไฟฟ้ากับไทยเผชิญภัยพิบัติภัยแล้ง จนทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงจนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายให้กับไทยได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งแต่เดิมกำหนดแผนการผลิตไว้ที่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านหน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 11% จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศราว 208,000 ล้านหน่วย จะลดลงราว 4,000 ล้านหน่วย หรือหายไปราว 2% เหลือเพียง 19,000 ล้านหน่วย ส่งผลให้ราคาค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามมา
นอกจากนี้ ปัญหาราคาค่าไฟที่แพงมากขึ้นนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นผลมาจากตัวอย่างความเสี่ยงที่ได้เสนอไปในข้างต้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับระบบค่าไฟไทยที่มีพลังงานไฟฟ้าล้นเหลือเพียงพออยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนที่ต่างผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลของ กฟผก็ย่อมนำไปสู่แนวโน้มที่ประชาชนจะต้องแบกรับภาระค่าไฟที่ราคาแพงมากกว่าเดิม
ทางออกของค่าไฟไทยบนความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า
- แนวทางรับมือระยะสั้น: ในร่างแผน PDP 2024 ต้องมีการทบทวนข้อมูลตัวเลขที่นำมาใช้คาดการณ์ให้เป็นปัจจุบัน เช่น การคำนวนค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตามความเป็นจริง และการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด โดยพยากรณ์ให้อยู่บนสมมติฐานสภาพแวดล้อมจริง รวมถึงต้องคำนึงถึงสภาวการณ์ตัวอย่างความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติในอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้น
- แนวทางรับมือระยะยาว: ควรนำเอาพลังงานหมุนเวียนอื่น เช่น การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนเชื้อเพลิงอื่นในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องปลดล็อกเงื่อนไข/กฎระเบียบต่าง ๆ ให้สามารถเอื้อประโยชน์กับประชาชนในการลงทุน และซื้อ/ขายพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้งโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการประกันภัยแก่อุปกรณ์/เครื่องมือติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์หากเกิดความเสียหายจากเหตุไม่คาดคิด รวมถึงการเปิดระบบตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี เพื่อให้สามารถซื้อขายพลังงานหมุนเวียนผ่านสายส่งของรัฐได้อย่างเสรี ภายใต้ราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนทุกคน เป็นต้น
ท้ายสุด การมีความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงทางการเงินของคนไทยนั้น จำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดทั้งในเชิงระยะสั้น ผ่านการวางแนวทางและทบทวนร่างแผน PDP 2024 ทั้งในเชิงข้อมูลตัวเลขให้เป็นปัจจุบัน และกำหนดแนวทางพยากรณ์/คาดการณ์สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าไทยอย่างรอบคอบและรัดกุม อีกทั้งยังต้องมีการแก้ไขในเชิงระยะยาว โดยการให้ภาครัฐเปิดรับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อผ่านพลังงานในแบบเดิมไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งหากสามารถบรรลุแนวทางเหล่านี้ได้ ความมั่นคงทางการเงินของคนไทยจากบิลค่าไฟฟ้าที่ถูกลงก็จะถือเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในที่สุด
หมายเหตุ:
“ไทยมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ทำไมจ่ายค่าไฟแพง??” เป็นผลงานจากผู้เข้าร่วมโครงการ Content Creator Workshop : Synergy for Clean Energy โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS), สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE)
ทีมงาน
Content Writer: วรเทพ พูลสวัสดิ์
Researcher: วิมลสิริ คงเพียรธรรม
Illustrator: กอร์ย่า ศรีสวัสดิ์
อ้างอิง
- สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, “ร่างแผน PDP 2024 และ แผน Gas Plan 2024,” สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (เว็บไซต์), (สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม 2567).
- JustPow, “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024,” JustPow (เว็บไซต์), (สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2567).
- Jacek Strojny, Anna Krakowiak-Bal, Jarosław Knaga, and Piotr Kacorzyk, “Energy Security: A Conceptual Overview,” Energies, Vol. 16, No. 13 (June 2023), 1-35.
- Ameen Sarhan, Vigna K. Ramachandaramurthy, Tiong Sieh Kiong, and Janaka Ekanayake, “Definitions and dimensions for electricity security assessment: A Review,” Sustainable Energy Technologies and Assessments, Vol. 48, No. 1 (December 2021), 1-12.
- Hans Liwång, “Future National Energy Systems, Energy Security and Comprehensive National Defence,” Energies, Vol. 16, No. 8 (September 2023), 1-16.
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), “สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าในระบบของ กฟผ.,” การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (เว็บไซต์), (สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2567).
- ThaiPBS, (สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2568)
- กรีน เยลโล่ (ไทยแลนด์), “เตรียมเปลี่ยนผ่าน สู่การใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย 100%,” กรีน เยลโล่ (ไทยแลนด์) (เว็บไซต์),
- Power Jungle, “เทคโนโลยีกับความมั่นคงในระบบพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์,” Power Jungle (เว็บไซต์),
- World Economic Forum, Fostering Effective Energy Transition: INSIGHT REPORT JUNE 2024, (Geneva: World Economic Forum, 2024), 12.
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, เขย่าโครงสร้างราคา ขยับสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี, เอกสารประกอบการบรรยาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (มกราคม 2568)
- S&P Global, (สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2568).
- ฐานเศรษฐกิจ, (สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2568).
- Courtney Weatherby, Apisom Intralawan, Siripha Junlakarn, Phimsupha Kokchang, Noah Kittner, and Rafael Schmitt, (สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568).
- JustPow, “คู่มือฉบับย่อ โครงสร้างพลังงานไทย ทำไม #ค่าไฟแพง,” JustPow (เว็บไซต์), (สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2567).
- สฤณี อาชวานันทกุล, ““โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ” กับความหมกเม็ดของ “พลังงานสะอาด” ในร่างแผน PDP2024.” GreenNews (เว็บไซต์),
- กรุงเทพธุรกิจ, “โลกเดือด! ดันการใช้ไฟฟ้าพุ่ง จับตาพ.ค.นี้ การใช้ไฟพีคทุบสถิติอีกครั้ง?,” กรุงเทพธุรกิจ (เว็บไซต์), (สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568).
- ฐานเศรษฐกิจ, (สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2567).
- JustPow, “การใช้ไฟฟ้าพีค 34,443.1 MW ไม่ว่าจะพีคแค่ไหนแต่สำรองไฟก็ยังล้นเกิน,” JustPow (เว็บไซต์), (สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568).
- TCC, “สำรองไฟฟ้ามากเกินจำเป็น คือ ต้นเหตุค่าไฟแพง,” TCC (เว็บไซต์), (สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568).