ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ของเศรษฐกิจไทยขยายตัวแบบ “ชะลอตัว” ขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวแรงขึ้นอยู่ในระดับที่อันตราย 90.9% ต่อจีดีพี ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานรักษาเสถียรภาพการเงินและมีอำนาจในการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโบาย ถูกแรงกดดันจากหลายภาคส่วนให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเฉพาะทางฝ่ายการเมือง
นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลในปลายปี 2566 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ออกมาเรียกร้องให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวนหลายครั้ง อีกทั้งได้เรียกผู้ว่า ธปท. เข้าไปพูดคุยส่วนตัวถึงในทำเนียบรัฐบาล 2 ครั้งด้วยกัน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธปท. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยไว้ตามเดิม 2.50% ซึ่งนายกรัฐมนตรี บอกว่ายอมรับผลมติของ กนง. แต่ก็ไม่เห็นด้วย และตอกย้ำด้วยว่าเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนแล้ว ควรจะลดดอกเบี้ย
“เศรษฐพุฒิ” มองเป็นความท้าทาย “นายกฯควบรมว.คลัง”
ในรายการ “คุยนอกกรอบ” กับสุทธิชัยหยุ่น ช่องไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นแรงกดดันที่เข้ามาว่า เป็นเรื่องปกติของธนาคารกลางทุกประเทศที่จะเจอแรงกดดันเข้ามาจากการทำงาน เนื่องจากทางรัฐบาลและธนาคารกลาง อาจมีมุมมองแตกต่างกันในแต่ละเรื่อง
“รัฐบาลจะมุ่งเน้นเรื่องการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และทาง ธปท.จะดูแลเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน เศรษฐกิจ และสถาบันการเงินต่าง ๆ”
การที่นายกรัฐมนตรี ดำรงอีกตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะสายงานของ ธปท.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ดังนั้นในช่วงที่ทำงานร่วมกันและการหารือ นายกรัฐมนตรีก็จะอยู่ในบทบาท รมว.คลัง เป็นส่วนใหญ่
ทำไมนักการเมืองชอบนโยบายดอกเบี้ยต่ำ?
ธปท.มองระยะยาว แต่รัฐบาลมองระยะสั้น
ท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่มักมองว่าประชาชนเดือนร้อน แต่ ธปท.ไม่ทำอะไร อยู่แต่บนหอคอยงาช้าง ประเด็นนี้ ผู้ว่า ธปท. ปฏิเสธว่าไม่ใช่ เป็นเพราะมุมมองที่อาจแตกต่างกัน ธปท.มองเป็นภาพรวม มองระยะยาวเป็นหลัก แต่รัฐบาลมักจะมองระยะสั้น ดังนั้นการทำอะไรต้องคิดถึงข้างเคียงด้วย ไม่ควรทำให้ภาพรวมเสียจากการคิดแบบหวังผลระยะสั้น
“รัฐบาลส่วนมากโดยธรรมชาติ ก็จะต้องมองสั้น และก็ฟังเสียงที่ดังออกมา ตัวนี้ก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้มันเกิดความตึงเครียด และก็ต้องบอกว่าการที่เรามองทั้งระยะยาวและภาพรวม บางทีอาจทำให้เราดูเหมือนว่าหอคอยงาช้างไม่ฟังคน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ผมว่ามันมาจากการต้องใส่ใจกับเรื่องระยะยาว อันนี้จะสำคัญ ทำอะไรต้องคิดถึงผลข้างเคียง คิดแบบไม่ใช่เฉพาะว่าจะหวังผลแบบในระยะสั้นอย่างเดียว กลุ่มนี้ได้ แต่ว่าภาพรวมเสีย มันก็ไม่ได้”
ปัญหาลึกเชิงโครงสร้างฉุดเศรษฐกิจไทยไม่โต
เศรษฐพุฒิมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่าง ธปท.มีกรอบโยบายที่เรียกว่า “เงินเฟ้ออย่างหยืดหยุ่น” คือดูเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่ยังคงมีความยืดหยุ่นที่ต้องดูกับประเด็นด้านอื่น ๆ ด้วย
ศักยภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ คาดอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น คือ
- ประชากรวัยทำงานของไทยกำลังลดลง ข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และประสิทธิภาพของแรงงานที่ไม่เติบโต โดยต้องแก้ไขด้วยการลงทุน และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ ภาคการผลิตของไทยยังไม่ฟื้นตามที่ควรจะเป็น และภาคส่งออกยังไม่ดี
- รายจ่ายนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตามที่คาดการณ์ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเติบโต
- ปัญหารายจ่ายของภาครัฐน้อยลง เนื่องจากงบประมาณปี 67 ที่ยังล่าช้า
“ถ้าลดดอกเบี้ยเพื่อจะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องมาผ่านการบริโภค กับการลงทุน แต่การบริโภคเรา จริง ๆ ไม่มีปัญหา การบริโภคที่ผ่านมาเติบโตในอัตราที่สูง แทบเป็นประวัติการณ์เลย ถึงแม้ลดดอกเบี้ยแล้วจะไปหวังว่ามันจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มการบริโภคอะไร ก็คงไม่มากขนาดนั้น”
ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยลดหนี้คนไทย
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่ในระดับ 90.9% ต่อจีดีพี ส่วนหนึ่งมาจากการลดดอกเบี้ยในระดับมาเป็นเวลานาน ซึ่งการลดดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ จะเป็นการสนับสนุนให้คนกู้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับในภาวะปัจจุบัน แม้ปัญหาหนี้จะเกี่ยวโยงกับเรื่องดอกเบี้ย แต่การลดดอกเบี้ยจะไม่ได้ช่วยลดหนี้ให้กับประชาชนอย่างมหาศาล เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่ในระบบส่วนใหญ่ เป็นสินเชื่อที่ดอกเบี้ยคงที่ ส่วนที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคงที่มีจำนวนน้อย
“สมมติคนที่กู้เป็นสินเชื่อบ้าน กู้ในวงเงิน 1 ล้านบาท ถ้ามีการลดดอกเบี้ย 25 สตางค์ รวมถึงการส่งผ่านอะไรต่าง ๆ ค่างวดจะไม่ลด แต่ค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะลดลง แต่จากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ลดปีหนึ่งตกประมาณ 1 พันบาทต้น ๆ ต่อปี ซึ่งถ้าเทียบกับต้นทุกอื่น ๆ ของครัวเรือน ก็อาจจะไม่ได้สูงขนาดนั้น”
ทั้งนี้วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดของ ธปท. คือ การออกมาตรการ “การให้สินเชื่อที่เป็นธรรม” ส่วนหนึ่งของมาตรการที่บังคับสถาบันการเงิน โดยให้ลูกค้าได้มีการปรับโครงสร้างก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสีย ซึ่งการใช้วิธีนี้เป็นสิ่งที่ตรงจุด และได้ผล
สำหรับโอกาสที่จะเกิดการประชุมนัดพิเศษของ กนง. ท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองในช่วงนี้ เศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า ยังไม่มีสัญญาณจากทีมเลขานุการ กนง.