สังคมไทยพูดถึงผลกระทบจากการรวมศูนย์อำนาจการบริหารไว้ที่ส่วนกลางมายาวนาน จนเกิดกระแสเรียกร้องการกระจายอำนาจ แต่ทุกวันนี้ ดูเหมือนการกระจายอำนาจการบริหารของรัฐบาลขยับไปน้อยมาก และมีตัวอย่างให้เห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันของผู้คน ดังเช่น คนที่อยู่อาศัย หรือ ใช้ถนนกำแพงเพชร 6 ตั้งฉายาว่าเป็น “ถนนลูกคลื่น”
ถนนลูกคลื่น ตัวอย่างความล้มเหลว
ถนนกำแพงเพชร 6 หรือ Local Road ที่ตั้งอยู่ในเขตจตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และบางส่วนของจังหวัดปทุมธานี (รังสิต) ขึ้นชื่อเรื่อง ความมืด มีเสาไฟแต่ไม่มีไฟฟ้า และถนนลูกคลื่น มาเป็นระยะเวลา 20 กว่าปี ปัญหาเรื้อรังส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนบนเส้นนี้อยู่บ่อยครั้ง
คนพื้นที่ต่างตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแล เพราะเป็นสิ่งที่คนพื้นที่และคนที่สัญจรไปมาเห็นและประสบพบเจออยู่ทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติ เวลามีปัญหาระดับท้องถิ่น เรามักจะมุ่งไปที่สำนักงานราชการท้องถิ่น เช่นสำนักงานเขต หรือ สำนักงานตำรวจ เป็นอันดับแรกในการขอความช่วยเหลือ
เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทน (สส. ) พรรคประชาชน เขตดอนเมือง บอกว่าในกรณีนี้สำนักงานเขตดอนเมืองไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาดูแลถนนกำแพงเพชร 6 บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ตามที่ชาวบ้านร้องเรียน เนื่องจากพื้นที่แถวนี้เป็นพื้นที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ครอบครองและมีอำนาจการดูแลแต่เพียงผู้เดียว
รัฐบาลกลาง – ร.ฟ.ท. ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ในขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางและเป็นผู้มีอำนาจในการดูแล ไม่มีประสิทธิภาพที่จะเข้ามาบริหารพื้นที่ เนื่องด้วย 2 ประการหลัก
- การรถไฟแห่งประเทศไทยขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากการเป็นหนี้และการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ร.ฟ.ท. เป็นหน่วยงานขนส่งมวนชนสาธารณะที่ให้บริการในเชิงสังคม จึงไม่สามารถตั้งราคาตั๋วในราคาที่สูงได้เพราะจะกลายเป็นการพลักภาระให้ประชาชน ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีหนี้สะสมอยู่มากกว่า 2 แสนล้านบาท เหตุผลที่ ร.ฟ.ท. มีหนี้สะสมมากมายเกิดจากรายจ่ายที่มากกว่ารายรับ ต้นทุนที่สูงทำให้ไม่มีกระแสเงินสดที่เพียงพอ และการบริการรถไฟเชิงสังคม ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาหมุนเวียน แต่นี้ก็เป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจนเป็นวัฏจักรหมุนเวียน
- วัตถุประสงค์ของ ร.ฟ.ท. ไม่มีหน้าที่ดูแลถนน และไม่มีข้อระบุความรับผิดชอบนี้ไว้ใน พรบ. เหตุนี้ทำให้การตั้งของบประมาณของ ร.ฟ.ท. เพื่อการมาซ่อมแซมถนนเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสำนักงานงบประมาณมองว่าการดูแลถนนอยู่นอกขอบเขตการรับผิดชอบของ ร.ฟ.ท. จุดนี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในเชิงอำนาจและกฎหมายเพราะถึงแม้ ร.ฟ.ท. เป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณรอบรถไฟ แต่การของบประมาณเพื่อมาบำรุงสาธารณูปโภคนั้นเป็นไปได้ยาก
ร.ฟ.ท. มีหน้าที่ที่กว้างขวางและมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องดูแล การที่ต้องรับผิดชอบดูแลระบบสาธารณูปโภคในภาคท้องถิ่นอาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหรือสำคัญที่สุด และความไม่ใกล้ชิดต่อชุมชนอาจทำให้ไม่เห็นภาพปัญหาของท้องถิ่นอย่างจริงจัง จึงอาจส่งผลให้เกิดการมองข้ามความสำคัญของปัญหาท้องถิ่น ในเมื่อหน่วยงานรัฐบาลกลางอย่าง ร.ฟ.ท. ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองได้ สิ่งที่ ร.ฟ.ท. และ กทม. สามารถทำได้คือการร่วมมือและถ่ายโอนอำนาจสิทธิการดูแลผ่านกระบวนการเซ็น MOU เพื่อให้กทม. และท้องถิ่นมีอำนาจดูแลได้อย่างเต็มที่ แต่ทว่ากระบวนการนี้เป็นไปด้วยความยุ่งยากและใช้เวลานานในการดำเนินการ
ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างอำนาจบริหาร
สส. เอกราช เน้นย้ำว่าสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ประสบพบเจอเป็น ‘ผลกระทบ’ ของปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้าง ที่รัฐบาลกลางไม่มีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ยังมีอีกหลายครั้งที่ชาวเมืองพบเจอปัญหาแต่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะอำนาจของ กทม. นั้นไม่ทั่วถึง
อีกปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่กทม. ไม่มีอำนาจในการเข้ามาจัดการคือ ปัญหารถเมล์ คนกรุงเทพฯ ต้องรอรถนาน ทางขสมก. เองมีปัญหาเช่น รายได้ขาดทุน องค์กรขาดพนักงาน หรือ รถเมล์ไม่พอเนื่องจากรถบางส่วนหมดสัญญาเช่า และสายรถเมล์ที่เข้าไม่ถึงชุมชน เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ว่า กทม. ไม่มีอำนาจเต็มที่ในการเข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ ของรถเมล์ เนื่องจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นรัฐบาลกลาง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือการทำนโยบายต่างๆ มีความล่าช้าเพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน
การสำรวจของ Rocket Media Lab แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องของการบริการรถเมล์และจำนวนประชาชนในพื้นที่ จากข้อมูลเดือน เม.ย. 2565 ระบุให้เห็นว่าในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เยอะอย่างเช่น เขตลาดพร้าวที่มีประชากรอาศัยประมาณ 115,02 คน กลับมีรถเมล์ให้บริการแค่ 3 สาย หรือเขตคลองสามวาที่มีประชากรอยู่ที่ 206,437 คน มีรถเมล์ให้บริการ 2 สาย สัดส่วนของสายรถเมล์ที่ให้บริการนั้นไม่เหมาะสมกับความเป็นจริงของพื้นที่ชุมชนเพราะจำนวนสายรถเมล์ไม่มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
สองเหตุการณ์ตัวอย่างที่คนกรุงเทพฯ เจอ ต่างเป็นสิ่งที่ กทม. ณ ปัจจุบันไม่สามารถไปเข้าดูแลแก้ไขได้
หน่วยงานรัฐบาลกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงจากข้อจำกัดหลายๆ ด้านเช่น งบประมาณที่ไม่เพียงพอ บุคลากรที่ไม่เพียงพอ ขาดความชำนาญการต่อการแก้ปัญหาท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐบาลกลางนั้นมีความรับผิดชอบมากเกินกว่ากำลังที่จะสามารถทำได้
ดังนั้น ปัญหาเรื้อรังต่างๆ ควรจะถูกถ่ายโอนไปยังภาคท้องถิ่นผ่านการมอบอำนาจการดูแล เพื่อช่วยจัดการปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้จะเป็นการลดภาระความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐบาลกลางอีกด้วย
กฎหมาย ไม่สอดคล้องต่อการเป็น “มหานคร”
ณ วันนี้ พรบ. บริหารกทม. ปี 2528 มีอายุ 40 ปี และถึงเวลาที่ต้องแก้ไขเพื่อพัฒนาโครงสร้างเมือง ทั้งนี้ กทม. ได้เปิดช่องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขพรบ. ผ่าน https://2528.bangkok.go.th/ ไปจนถึงวันที่ 18 พ.ค. 2568 โดยการแก้ไข พรบ.บริหารกทม. ปี 2528 เน้นไปที่ 3 มิติใหญ่ คือ
- เพิ่มอำนาจให้ กทม. ในการจัดการและแก้ไขปัญหาท้องถิ่นต่างๆ เช่นเพิ่มอำนาจการบริหารรถโดยสารประจำทาง ให้สามารถกำหนดราคา กำหนดเส้นทาง และดูแลคุณภาพรถ หรืออำนาจในการเข้ามาบำรุงสาธารณูปโภคตามพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ที่มีปัญหาไฟดับ และถนนที่ไร้ความปลอดภัยเป็นต้น
- ปรับโครงสร้างรายได้และงบประมาณของ กทม. เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการเงินได้ดีขึ้น กรุงเทพฯ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงประชากรและเมือง ฉะนั้นค่าใช้จ่ายในการดูแลจึงเพิ่มขึ้น และเล็งให้เห็นว่า กทม. ควรมีช่องทางรายรับที่มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมท้องถิ่นเช่น ภาษีโรงแรม ภาษีบุหรี่ ภาษีมลพิษ หรือค่าธรรมเนียมรถยนต์เก่า เป็นต้น ทั้งนี้จุดประสงค์คือเพื่อให้มีงบประมาณที่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน และรักษาให้กรุงเทพ เป็นเมืองหน้าอยู่
- แก้โครงสร้างบริหารราชการใหม่ ปัจจุบันโครงสร้างระบบราชการไม่สอดคล้องกับภาระงานจริงและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีความหลากหลาย จึงต้องการผู้เชียวชาญด้านต่างๆ เข้ามาช่วยดูแล และควรมีการปรับสัดส่วนเจ้าหน้าที่ข้าราชการให้เหมาะสมกับเนื้องาน ซึ่งอาจเป็นการลดจำนวนตำแหน่งข้าราชการระดับบริหาร เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินการ
เมื่อท้องถิ่นมีอำนาจ
สส. เอกราช ชี้ว่า ผู้อำนวยการเขตที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย
ผู้อำนวยการเขตที่มาจากการเลือกตั้งจะมีความรับผิดชอบต่อการเมืองและเสียงของประชาชน ที่สำคัญผู้อำนวยการเขตที่ถูกเลือกตั้งมาจากเขตนั้นๆ จะมีความเข้าใจบริบทของพื้นที่และประชาชนในพื้นที่อย่างลึกซึ้งมากกว่า ในขณะเดียวกันผู้ที่มาจากการแต่งตั้งอาจขาดความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่
นอกจากนี้ ปัญหาที่เจอจากระบบบริหารราชการปัจจุบันคือการที่ผู้อำนวยการเขตมีโอกาสในการถูกโยกย้ายไปมาสูง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินการต่างๆ และการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้อย่างล่าช้าจากความไม่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขตจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และความกระตือรือร้นของหน่วยงานราชการท้องถิ่นจะมีมากขึ้น
จากตัวอย่างของถนนกำแพงเพชร 6 ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการรวมศูนย์อำนาจการดูแล ซึ่งไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง และเป็นหนึ่งในปัญหาอีกหนับร้อยนับพันที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นหากการบริหารจัดการแบบเดิม สร้างปัญหาและใช้ทรัพยากรไร้ประสิทธิภาพ ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนการบริการจัดการที่เป็นอยู่ไปแบบอื่น?
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: