องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ออกรายงานพิชญพิจารณ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในเรื่องกฎหมายและนโยบายการแข่งขัน : ประเทศไทย ซึ่งการ “พิชญพิจารณ์” เป็นเหมือนการประเมินเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยในกรณีนี้เป็นการประเมินด้านกฎหมายและนโยบายการแข่งขันของไทยโดยเฉพาะ
รายงานพิชญพิจารณ์ครั้งนี้ “เป็นส่วนหนึ่งของระยะที่สองของโครงการความร่วมมือระหว่าง OECD และประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืน” โดยเป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2566 – 2568) หลังจากสิ้นสุดโครงการระยะแรกไป และหน่วยงานของไทยอย่างกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า “OECD มีท่าทีเป็นบวก”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: OECD : นโยบายแข่งขันการค้าไทย “ไม่โปร่งใส-ไร้ประสิทธิภาพ” หนุนทุนผูกขาด
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ มีมติอนุมัติ เมื่อ 15 ก.พ. 65 ให้กระทรวงการต่างประเทศจ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาการเข้าเป็นสมาชิก OECD และมีข้อสรุปว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD แบบเต็มรูปแบบ (full member) เช่น การปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิกมากกว่าเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ ในฐานะของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (non – member)
ที่ผ่านมา คนในรัฐบาลมักจะกล่าวถึงการเป็นสมาชิก OECD ในมุมทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แทบไม่มีการกล่าวถึงด้านอื่นเลย แต่จากการเปิดเผยรายงานพิชญพิจารณ์ฯในเรื่องกฎหมายและนโยบายการแข่งขันชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเข้าเป็นสมาชิก “ไม่ง่าย”สำหรับประเทศไทย หากต้องการให้เกิด “แนวปฏิบัติที่ดี” เพราะจากทำตามรายงานดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้อง “ยกเครื่อง”กฏระเบียบทางการค้าครั้งใหญ่
เพราะกฎระเบียบของไทยไม่มีประสิทธิภาพมากพอ อีกทั้งกฏระเบียบที่มีก็มีปัญหาบังคับใช้อย่างมาก แม้ไทยจะมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว ซึ่งทำให้กฎระเบียบทางการค้าของไทยจะเอื้อให้เกิดการแข่งขันตามหลักการที่มี กลับไปเอื้อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้ธุรกิจกระจุกตัวอยู่กับ “ผู้เล่น” ไม่กี่ราย แม้ว่า OECD ไม่ได้ระบุออกมาตรง ๆ แต่ก็ตีความได้ว่ากฎระเบียบการแข่งขันของไทยเอื้อให้เกิดการ “ผูกขาด”
รายงานยังระบุว่า “กระบวนการพิชญพิจารณ์มีพื้นฐานอยู่บนความสมัครใจของประเทศในการเปิดให้กฎหมายและนโยบายของตนได้รับการตรวจสอบเชิงลึกโดยสมาชิกคนอื่น ๆ ในประชาคมการแข่งขันระหว่างประเทศ กระบวนการนี้ช่วยให้ประเทศที่ได้รับการทบทวนได้รับข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่า และส่งเสริมความโปร่งใส รวมถึงความเข้าใจซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย” ซึ่งย้ำถึงมาตรฐานการจัดทำรานงานที่ดี
รายงานยังระบุอีกว่า “ปัจจุบัน มีฉันทามติระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันและความสำคัญของการปฏิรูปเพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การพิชญพิจารณ์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการนี้ และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยงานด้านการแข่งขัน สถาบันการแข่งขันที่มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพสามารถส่งเสริมและคุ้มครองการแข่งขันในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและยกระดับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมได้”
ในปี 2568 จะเป็นช่วงสิ้นสุดระยะที่สองของความร่วมมือระหว่าง OECD กับไทย ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจะเห็นเจ้าหน้าที่ของ OECD เข้าพบผู้นำรัฐบาลและตามหน่วยงานกระทรวงทบวงกรมบ่อยครั้ง และทุกครั้งมักจะมีการออกข่าวว่าเจ้าหน้าที่ OECD ชื่นชมการทำงานของฝ่ายไทย แต่จะเป็นจริงหรือไม่นั้น ยังไม่มีความแน่นอนใด ๆ ว่าไทยจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ในปีไหน และหากพิจารณาจากรายงานฉบับนี้ถือว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกระจุกตัวของกลุ่มธรกิจและผู้ดูแลกฎระเบียบไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ยังสงสัยว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องของ “อำนาจการเมือง” หรือ “อำนาจพิเศษ” ที่มักจะเกิดขึ้นเสมอหากมีประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แม้รัฐบาลจะสามารถแก้ไขให้ดูมีมาตรฐาน แต่ทำอย่างไรจะทำให้มีความมั่นใจกลไกการดูแล
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ไทยเป็นสมาชิก OECD “ไม่ง่าย” ใกล้ความจริงอีก 2 ปี
OECD เริ่มกระบวนการ รับไทยเข้าเป็นสมาชิก