ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกบทวิเคราะห์ “ผลกระทบจากนโยบายการค้า Trump 2.0 ต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย” ในรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 โดยประเมินว่าผลกระทบจะมีความรุนแรงและยาวนานกว่าเมื่อครั้ง Trump 1.0
บทวิเคราะห์ดังกล่าว ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่คาดว่าผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และมีโอกาสที่ผลกระทบจะยาวนานและรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงสงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน ในปี 2562 ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนประเทศเดียว และทำให้อัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริงต่อจีนเพิ่มขึ้นราว 20% ซึ่งมูลค่าการส่งออกของไทย หดตัว 3.3% ในปีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ผลกระทบอาจไม่รุนแรงเท่าช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 ที่เศรษฐกิจถดถอยในวงกว้าง และทำให้การส่งออกของไทยหดตัวรุนแรงถึง 13% ในปีดังกล่าว
ในภาพรวม ภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยจะได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกและ การนำเข้าโดยการส่งออกถูกกระทบผ่าน 3 ช่องทาง คือ
- ผลทางตรงต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ
- ผลทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานไปสหรัฐฯ
- ผลจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ที่ชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับการนำเข้า ธุรกิจไทยจะถูกกระทบ จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากสินค้านำเข้า โดยช่องทางที่มีนัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากที่สุดคือช่องทางการส่งออกไปสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ขนาดของผลกระทบในแต่ละช่องทางจะขึ้นอยู่กับระดับภาษีที่สหรัฐฯ จัดเก็บจากประเทศคู่ค้า รวมถึงนโยบายภาษีโต้ตอบจากประเทศอื่น ๆ ดังที่แสดงใน Lower Tariffs Scenario และ Higher Tariffs Scenario ดังนี้
ผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ต่อการส่งออกใน 2 ฉากทัศน์ตัวอย่าง
ผลต่อภาคการส่งออก
ภายใต้สมมติฐานว่า หากภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวโดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่น ๆ ทดแทนอุปสงค์จากสหรัฐฯ ที่ชะลอลงจะทำให้การส่งออกของไทยใน Lower Tariffs Scenario ลดลง 4.1% ต่อปี หรือคิดเป็นผลกระทบต่อ GDP ที่ 0.4% ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกไป สหรัฐฯที่ลดลงเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับผลกระทบจาก Sectoral Tariff ที่เพิ่มขึ้น 25% ได้แก่ โลหะ ยานยนต์และชิ้นส่วน
(ทั้งนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะ ยานยนต์และชิ้นส่วนไปสหรัฐฯ คิดเป็น 2.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณพที่ การส่งออกสินค้า รวมไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด)
จากการประเมินพบว่ามูลค่าส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้ที่ส่งไปสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 34% ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ลดลงประมาณ 26% (เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขึ้น Baseline Tariff ในอัตรา 10%) เนื่องจากผู้ประกอบการ บางส่วนยังสามารถรองรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมเพิ่มเติม ผ่านการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังจีนและอาเซียนเพื่อผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายและส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ภายใต้ Higher Tariffs Scenario ที่ทุกประเทศถูกเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ครึ่งหนึ่งของอัตราที่ประกาศไว้ ณ 2 เมษายน 2568 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะลดลงรุนแรงขึ้นที่ประมาณ 8.3% ต่อปี หรือคิดเป็นผลกระทบต่อ GDP ที่ 1.0%
โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ที่หดตัวลงราวครึ่งหนึ่ง และเนื่องจากไทยยังคงถูกเก็บภาษีสูงกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยเพิ่มสูงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอาหารแปรรูป รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร (การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักร ไปสหรัฐฯ คิดเป็น 6.0% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) ซึ่งพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงกว่า 1 ใน 4 ของการส่งออก อีกทั้งผู้บริโภคอ่อนไหว ต่อราคาสูง ขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับลดราคาเพื่อรองรับภาระต้นทุนจากภาษีที่เพิ่มขึ้นได้มากนัก จึงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูง
นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อม เพิ่มเติมจากการแข่งขันด้านการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้น เพื่อชดเชยส่วนที่ส่งออกไป ยังสหรัฐฯ ได้ลดลง
ผลต่อการนำเข้า
ผลจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีนที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงมาตรการสกัดกั้นสินค้าราคา ถูกจากจีนผ่าน e-commerce คาดว่าจะทำให้การส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีความเป็นไปได้สูงที่สินค้าของจีนเหล่านี้จะถูกส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ ที่สูญเสียไป
โดยประเมินว่าใน Lower Tariffs Scenario เกือบ 1 ใน 3 ของสินค้าที่จีน เคยส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย (สินค้าที่สหรัฐฯ อาจไม่นำเข้าจากจีน คิดเป็น 1.26 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนอาจเปลี่ยนไปส่งออกประเทศอื่น) ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านความสามารถในการแข่งขันที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็ก โดยคาดว่าจะส่งผลให้การนำเข้าของไทยเพิ่มขึ้น 0.7% ต่อปี
ทั้งนี้ ผลกระทบจะรุนแรงขึ้นเป็น 1.2% ต่อปีใน Higher Tariffs Scenario เนื่องจากจีนถูก ตั้งกำแพงภาษีที่สูงขึ้นและส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ยากมากขึ้น (ใน Lower Tariffs Scenario และ Higher Tariffs Scenario มีข้อสมมติให้สหรัฐฯ ตั้งก าแพงภาษีน าเข้าสินค้าจากจีน ที่อัตรา 54% และ 72.5% ตามลำดับ)
ในระยะข้างหน้า ภาคการส่งออกยังคงมีความเสี่ยงด้านต่ำจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ยังมี ความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการขึ้น Sectoral Tariff ในสินค้าหมวดสำคัญอื่น ๆ ที่ยังได้รับข้อยกเว้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่ไทยพึ่งพาตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯในสัดส่วนที่สูง
ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และของคู่ค้าคู่แข่งอื่น ๆ รวมทั้งการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยเพิ่มเติม
ที่มา: รายงานนโยบายการเงินไตรมาสที่ 1 ปี 2568
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
เศรษฐกิจไทยดิ่งไตรมาส 4 “ของแพง คนรายได้ไม่พอ”