กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) ประกาศกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถให้เป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. …. ผ่านทางออนไลน์ ระบบกลางทางกฎหมาย www.LAW.go.th รวมระยะเวลา 15 วัน โดยในร่างประกาศนี้ระบุด้วยว่าให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สาเหตุของการเตรียมออก (ร่าง) ประกาศดังกล่าว ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้งานรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย และมีการนำรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในมาดัดแปลงติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าให้เป็นรถแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV) เพิ่มขึ้น
ดังนั้น โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถให้เป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน และเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิศวกรรมยานยนต์ ตลอดจนเพื่อให้วิศวกรผู้รับรอง นายช่างตรวจสภาพรถ และนายทะเบียนมีกรอบการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันต่อไป
ภายใน (ร่าง) ประกาศกรมการขนส่งทางบก ฉบับนี้ กำหนดให้รถที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงต้องเป็นไปตามมาตรฐานศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง – ความปลอดภัยและสมรรถนะพื้นฐาน ที่ 1012 – 2568 (มศอ. 1012 – 2568) และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกำหนดให้รถที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงต้องเป็นไปตามคุณสมบัติ คุณลักษณะ และความปลอดภัยทางไฟฟ้าของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในการดัดแปลงรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
ลักษณะความปลอดภัยของชิ้นส่วนและอุปกรณ์
ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในการดัดแปลงรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าต้องมีคุณสมบัติคุณลักษณะและความปลอดภัยทางไฟฟ้า
1. คุณลักษณะทั่วไป ได้แก่
อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง
- มีการป้องกันการสัมผัสและการรั่วไหลของไฟฟ้าจากชิ้นส่วนที่มีไฟฟ้าแรงดันสูง
- มีตำแหน่งแท่นไฟฟ้า (Electrical Chassis) ในการตรวจสอบค่าความต้านทานไฟฟ้าระหว่างเปลือกหุ้มของอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูงที่เป็นวัสดุนำไฟฟ้ากับแท่นไฟฟ้าของรถ ต้องน้อยกว่า 0.1 โอห์ม เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลอย่างน้อย 0.2 แอมป์
- สายไฟสำหรับส่วนของวงจรร่วมไฟฟ้าแรงดันสูง ต้องมีเปลือกหุ้มภายนอกสีส้ม กรณีระบบแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง สายไฟฟ้าต้องมีการเคลือบสีแดงที่ปลายขั้วบวก และการเคลือบสีดำที่ปลายขั้วลบ
- อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง ต้องแสดงสัญลักษณ์ตามรูปที่ 1 (เครื่องหมายสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง) ที่ด้านบนเปลือกหุ้มและส่วนป้องกันการสัมผัส และต้องแสดงสัญลักษณ์ด้านบนหรือใกล้กับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่อัดประจุซ้ำได้ โดยสีของพื้นหลังต้องเป็นสีเหลือง ส่วนลูกศรและขอบของเครื่องหมายต้องเป็นสีดำ
- สายไฟสำหรับส่วนของวงจรร่วมไฟฟ้าแรงดันสูงต้องไม่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่การปฏิบัติงานในส่วนของการทำลายเพื่อเข้าถึงผู้ประสบอุบัติเหตุระหว่างงานกู้ภัย ได้แก่ ประตู ขอบประตู ราวบันไดเสา หรือโครงสร้างหลักในการรับน้ำหนักในส่วนของห้องโดยสาร เว้นแต่กรณีติดตั้งระบบแบตเตอรี่บนหลังคารถและมีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบหรือส่วนประกอบต่าง ๆ ณ บริเวณดังกล่าว ต้องแสดงสัญลักษณ์ตามรูปที่ 1 (เครื่องหมายสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง) ให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งจากภายนอกและภายในรถ
ระบบปลดไฟฟ้าแรงดันสูง
- มีระบบป้องกันความปลอดภัยทางไฟฟ้าที่เกิดจากระบบไฟฟ้าแรงดันสูงเมื่อกระแสไฟฟ้าเกิน
- ต้องแสดงสัญลักษณ์ตามรูปที่ 2 (เครื่องหมายตัดหรือปลดระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ) เพื่อหยุดการทำงานวงจรระบบไฟฟ้าแรงดันสูง ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
- ต้องมีอุปกรณ์หยุดการทำงานไฟฟ้าแรงดันสูงกรณีฉุกเฉิน (Emergency Switch) ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งจากภายนอกและภายในรถ
- ต้องติดตั้งอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบความต้านทานระหว่างแท่นไฟฟ้ากับชิ้นส่วนไฟฟ้าแรงดันสูงของแบตเตอรี่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถ เช่น Insulation Monitoring Device (IMD) โดยตรวจสอบที่ขั้วบวกและขั้วลบ หากพบค่าความต้านทานความเป็นฉนวน ต่ำกว่า 100 โอห์มต่อโวลต์ของแรงดันไฟฟ้าสูงสุดของแบตเตอรี่สำหรับไฟฟ้ากระแสตรง และต่ำกว่า 500 โอห์มต่อโวลต์ของแรงดันไฟฟ้าสูงสุดของแบตเตอรี่ สำหรับไฟฟ้ากระแสสลับ ต้องสามารถแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบและสามารถตัดการทำงานของระบบไฟฟ้ แรงดันสูงได้
2. มอเตอร์ไฟฟ้าและระบบส่งกำลัง
- ขนาดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถ ต้องไม่น้อยกว่า 5 กิโลวัตต์ต่อตันของน้ำหนักรวมสูงสุด หรือเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
- การติดตั้งระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้ากับระบบส่งกำลัง ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรองรับการสั่นสะเทือนได้
- การติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องออกแบบจุดยึดในบริเวณที่มีความแข็งแรง ทนต่อน้ำหนักและแรงบิดสูงสุดของมอเตอร์ไฟฟ้า มีขนาดและจำนวนจุดยึดที่เพียงพอ
กรณีติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากับแท่นยึดเครื่องยนต์เดิมโดยไม่มีการดัดแปลง น้ำหนักและแรงบิดสูงสุดของมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องไม่เกินน้ำหนักและแรงบิดสูงสุดที่แท่นยึดเครื่องยนต์เดิมจะรองรับได้
– การต่อสายไฟฟ้าเข้ามอเตอร์ต้องป้องกันไม่ให้สายไฟฟ้าและขั้วเกิดการลุกไหม้ ขนาดของสายไฟฟ้าต้องมีขนาดเหมาะสมกับกระแสไฟฟ้าที่มอเตอร์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายไฟฟ้าที่ใช้ที่เชื่อมต่อระหว่างแบตเตอรี่ระบบขับเคลื่อนกับมอเตอร์ต้องสามารถทนต่อกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในการขับขี่สูงสุด รวมทั้งสายไฟฟ้าและขั้วต่อต้องแข็งแรง ทนต่ออัตราเร่งและความหน่วง และแรงสั่นสะเทือนของรถขณะใช้งานได้
กรณีมอเตอร์ไฟฟ้า และส่วนประกอบอื่น ๆ ของวงจรมอเตอร์ไฟฟ้า ติดตั้งในตำแหน่งที่อาจได้รับการเกี่ยวหรือกระแทกจากภายนอก ต้องมีอุปกรณ์ที่มีความแข็งแรงเพียงพอป้องกันร่วมด้วย
- มอเตอร์ไฟฟ้าต้องสามารถกันน้ำได้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน IP67 (ป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ในน้ำได้ที่ความลึกสูงสุด 1 เมตร เป็นระยะเวลาสูงสุด 30 นาที)
- กรณีมอเตอร์ไฟฟ้าชนิดติดตั้งภายในล้อ (In-wheel motor) ต้องสามารถกันน้ำได้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน IP68 (ป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ในน้ำได้ที่ความลึกมากกว่า 1 เมตร เป็นระยะเวลาสูงสุด 30 นาที)
- สมรรถนะการขับขี่ รถต้องสามารถออกตัวบนทางลาดเอียงร้อยละ 12 โดยอาจใช้วิธีจำลองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือการคำนวณได้
3. ระบบควบคุมความเร็วและคันเร่ง
– ต้องมีระบบหรืออุปกรณ์ป้องกันการทำงานผิดพลาด เพื่อไม่ให้เกิดการเร่ง หยุด ชะลอ หรือเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ
– ระบบป้องกันการออกตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ต้องมีระบบป้องกันการออกตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น รถเกียร์ธรรมดา มีระบบกลไกที่เรียกว่าระบบสตาร์ทคลัตช์ ซึ่งช่วยให้เครื่องยนต์สตาร์ทได้ก็ต่อเมื่อเหยียบแป้นคลัตช์เท่านั้น รถเกียร์อัตโนมัติมีระบบล็อคกุญแจที่ทำให้ดึงกุญแจออกได้เฉพาะเมื่อคันเกียร์อยู่ในตำแหน่งเกียร์สำหรับจอดรถ (P) รวมถึงระบบล็อกเกียร์ที่ทำให้เลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่งเกียร์สำหรับจอดรถ (P) ได้ก็ต่อเมื่อเหยียบระบบห้ามล้อเท่านั้นหรือระบบกลไกทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการทำงานของมอเตอร์เป็นต้น
- ต้องมีระบบควบคุมหรือจำกัดความเร็วในตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง (R) ให้สามารถใช้งานรถได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม
- รถเกียร์อัตโนมัติต้องมีระบบป้องกันการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์เดินหน้า (D) และตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง (R) โดยต้องเหยียบแป้นห้ามล้อและไม่ได้เหยียบคันเร่งเท่านั้น จึงจะสามารถเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้
- ต้องติดตั้งอุปกรณ์แสดงผลที่ทำให้ผู้ขับขี่ทราบว่ารถอยู่ในโหมดพร้อมขับ โดยติดตั้งบนแผงหน้าปัดรถ หรือบริเวณที่ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และหากรถยังอยู่ในโหมดพร้อมขับ เมื่อผู้ขับขี่เปิดประตูรถฝั่งผู้ขับรถ ต้องมีสัญญาณเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบ
4. ระบบห้ามล้อ หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงระบบห้ามล้อไปจากเดิม ระบบห้ามล้อต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานดีกว่าหรือเทียบเท่าระบบห้ามล้อเดิม พร้อมแสดงรายการอุปกรณ์รายละเอียดคุณลักษณะ และประสิทธิภาพของรายการอุปกรณ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลง โดยประสิทธิภาพห้ามล้อต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
5. ระบบบังคับเลี้ยว หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงระบบบังคับเลี้ยวไปจากเดิม ระบบบังคับเลี้ยวต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานดีกว่าหรือเทียบเท่าระบบบังคับเลี้ยวเดิม พร้อมแสดงรายการอุปกรณ์ รายละเอียดคุณลักษณะ และประสิทธิภาพของรายการอุปกรณ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลง
6. ระบบแบตเตอรี่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถ
– แบตเตอรี่ต้องมีผลการรับรองหรือผลการทดสอบด้านความปลอดภัยจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ในกรณีที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับแบตเตอรี่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถไว้ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์บังคับแล้ว แบตเตอรี่ที่นำมาใช้หลังจากวันที่มาตรฐานมีผลใช้บังคับ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้น
– แบตเตอรี่ต้องมีระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System : BMS) ในการบันทึกแรงดันไฟฟ้าแต่ละเซลล์ ควบคุมอุณหภูมิให้มีความเหมาะสม รวมทั้งป้องกันการอัดประจุไฟฟ้าเกิน โดยต้องแสดงการออกแบบและการทำงานในกรณีแรงดันไฟเกิน แรงดันไฟฟ้าตก อุณหภูมิสูง -ต่ำกว่าค่าที่กำหนดและกระแสเกิน
– การติดตั้งแบตเตอรี่ต้องไม่ทำให้รถมีน้ำหนักเกินกว่าน้ำหนักรวมสูงสุดที่กำหนด และรองรับน้ำหนักบรรทุกได้เพียงพอต่อการใช้งาน
– การติดตั้งระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้าแรงดันสูง ต้องติดตั้งในตำแหน่งดังต่อไปนี้
- ระยะจากขอบด้านหน้าของรถถึงระยะของก้อนแบตเตอรี่ต้องไม่น้อยกว่า 420 มม.
- ระยะจากขอบด้านหลังของรถถึงระยะของก้อนแบตเตอรี่ต้องไม่น้อยกว่า 300 มม.
– ระบบแบตเตอรี่ต้องติดตั้งในบริเวณที่มีความแข็งแรง มีขนาดและจำนวนจุดยึดที่เพียงพอ
– ต้องมีระบบแสดงระดับพลังงานของแบตเตอรี่ในตำแหน่งที่ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้ เพื่อให้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่เหลืออยู่ หรือระยะทางการเดินทางที่สามารถขับเคลื่อนได้
– ต้องมีระบบแจ้งเตือนเมื่อระดับพลังงานของแบตเตอรี่ลดต่ำลงถึงจุดวิกฤตในตำแหน่งที่ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้ และในกรณีที่พลังงานของแบตเตอรี่หมด ต้องสามารถนำรถออกจากพื้นที่จราจรด้วยการลากจูงได้
– ต้องมีแหล่งพลังงานและอุปกรณ์แปลงแรงดันที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเพียงพอสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนและควบคุมรถ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยได้ตลอดเวลาที่ใช้งาน
– เมื่อแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ระบบขับเคลื่อนลดต่ำลงจนกระทั่งจำเป็นต้องหยุดรถ ต้องมีแหล่งพลังงานและอุปกรณ์แปลงแรงดันที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับไฟฉุกเฉิน ระบบเปิด – ปิดประตู และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยได้
– ต้องมีระบบป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ไฟฟ้าแรงดันสูงเมื่อรถไม่ได้อยู่ในโหมดพร้อมขับหรือโหมดใช้งาน
7. ในกรณีที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในการดัดแปลงรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์บังคับแล้วชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในการดัดแปลงรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผลิตหรือนำเข้าหลังจากวันที่มาตรฐานมีผลใช้บังคับ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้น
ความปลอดภัยในการอัดประจุไฟฟ้า
(กรณีรถมีระบบอัดประจุไฟฟ้าจากภายนอกผ่านอุปกรณ์บนรถ)
1. ต้องออกแบบระบบอัดประจุไฟฟ้าของรถให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบสายดินของแหล่งจ่ายไฟจากภายนอก
2. ต้องออกแบบให้รถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ขณะอัดประจุไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟจากภายนอกทั้งในกรณีที่ปิดและเปิดโหมดพร้อมขับ
3. ต้องติดตั้งอุปกรณ์หรือสัญญาณเพื่อแจ้งเตือนผู้ขับขี่ว่าระบบอยู่ระหว่างการอัดประจุไฟฟ้าเมื่อกำลังทำการอัดประจุไฟฟ้า
4. การออกแบบให้รถสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าตามบ้านหรืออาคารต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสามารถทางไฟฟ้าของเต้ารับตามบ้านหรืออาคารเพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอแนะให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
5. การออกแบบให้รถสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟจากภายนอกที่เป็นลักษณะสถานีอัดประจุระบบอัดประจุไฟฟ้าของรถต้องออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการสื่อสารตรงกับสถานีอัดประจุนั้นด้วย
การออกแบบ ติดตั้ง และตรวจสอบ
รถที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลง ต้องแสดงเอกสารหลักฐานการออกแบบ ติดตั้ง และตรวจสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ใบรับรองหรือหนังสือรับรองจากหน่วยรับรองที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก.17065 จากสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ
2. รายงานผลการตรวจจากหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก.17020 จากสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ
3. รายงานผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก.17025 จากสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ
4. หนังสือรับรองจากวิศวกรซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ดังนี้
- การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงเชิงกล ให้ดำเนินการโดยวิศวกรซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นผู้ออกหนังสือรับรองความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการใช้งาน พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- การตรวจสอบความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถ ให้ดำเนินการโดยวิศวกรซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นผู้ออกหนังสือรับรองความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถ พร้อมเอกสารรายการออกแบบและรายการคำนวณระบบไฟฟ้า และวงจรการควบคุมระบบไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถที่ดัดแปลง
คู่มือการใช้งานและการแสดงเครื่องหมาย
ผู้ดำเนินการดัดแปลงต้องจัดทำรายละเอียดคู่มือการใช้งาน ประกอบกับการดำเนินการทางทะเบียน โดยมีรายละเอียดคู่มือการใช้งาน ดังนี้
1. วิธีการใช้งานและข้อควรระวังในการใช้งาน อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด
- กำลังพิกัดมอเตอร์ (W)
- แรงดันไฟฟ้าระบุ (V) และความจุ (Ah) ของแบตเตอรี่
- มวลเต็มอัตราบรรทุกสูงสุดที่ออกแบบไว้ (kg)
- ข้อแนะนำในการขับขี่ลุยน้ำ
- การป้องกันการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง
2. ข้อแนะนำอุปกรณ์และข้อควรระวังในการเชื่อมต่อรถกับแหล่งจ่ายไฟจากภายนอกให้เกิดความปลอดภัย
3. คำแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงรักษาชิ้นส่วนที่ถูกดัดแปลงในเบื้องต้น
4. คำแนะนำเมื่อเกิดอุบัติเหตุและข้อมูลสำหรับงานกู้ภัย ได้แก่ แบบแปลนแสดงการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง ตำแหน่งตัดหรือปลดระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ และตำแหน่งการทำลายเพื่อเข้าถึงผู้ประสบอุบัติเหตุ
5. ระยะทางโดยประมาณที่สามารถวิ่งได้ เมื่อระดับพลังงานของแบตเตอรี่ลดต่ำลงถึงจุดวิกฤต
6. ช่องทางการติดต่อผู้ดำเนินการดัดแปลง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉิน
นอกจากนี้ต้องแสดงเครื่องหมายตามแบบที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 3 ท้ายประกาศนี้ที่บริเวณด้านท้ายของตัวรถซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจน
สำหรับรถที่จดทะเบียนไว้แล้ว หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า หรือมีการเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องยื่นขออนุญาตจากนายทะเบียนก่อนดัดแปลง และดำเนินการตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
เนื้อหาที่เกี๋ยวข้อง:
ปรับเงื่อนไขภาษี หนุนรถไฮบริด หลังกระแสอีวีแผ่ว