ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมงานเสวนา “ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: ความรัก ความรู้ โลกปฏิบัติ” ที่ท่าพระจันทร์เมื่อวันที่ 8 ส.ค. เพื่อรำลึกถึงนักสันติวิธีคนสำคัญของไทย มีนักวิชาการหลายคนได้กล่าวถึงบทบาทของอาจารย์ชัยวัฒน์ในด้านต่าง ๆ แต่ที่ผู้เขียนสนใจผู้ร่วมเสวนาในวันนั้นเป็นพิเศษ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.มารค ตามไท ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
ผู้เขียนพบอาจารย์มารค ครั้งแรกนานมาแล้ว มีอาจารย์ท่านหนึ่งชวนมาคุยเกี่ยวกับข้อค้นพบของ สตีเฟน ฮอว์คิง ในการอธิบายเรื่องหลุมดำ ซึ่งโด่งดังมาก แต่ที่จำได้ในครั้งนั้น ไม่ได้พยายามวิพากษ์วิจารณ์ ฮอว์คิง แต่อาจารย์มารค อธิบายให้เข้าใจว่าเมื่อนักวิทยาศาสตร์พูดว่า “ค้นพบ” “ความจริง” ฯลฯ คืออะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ “ภาษาที่ใช้ประจำวัน” สามารถเข้าใจได้
วันนั้น นั่งคุยกันไม่กี่คนเกือบครึ่งวัน ผู้เขียนจำรายละเอียดอะไรไม่ได้มากนัก แต่ทำไมต้องเป็นอาจารย์มารค? คำตอบก็คืออาจารย์เรียนมาทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ หลังจากวันนั้น ทำให้ต้องรีบหาหนังสือเล่มโด่งดังของ Thomas Kuhn ชื่อว่า The Structure of Scientic Revolution มานั่งอ่าน ก็พอทำให้เข้าโลกเข้าใจชีวิตขึ้นมาบ้าง
ในงานเสวนาครั้งนี้ สิ่งที่อาจารย์มารคมาเล่าให้ฟัง มีกลิ่นไอทาง “ปรัชญา”ไม่มาก แต่เป็นข้อสรุปจากการทำงานในช่วงหลังในเรื่องของสันติภาพที่กล่าวมาข้างต้น เพราะอาจารย์ร่วมทำงานกับอาจารย์ชัยวัฒน์มานานกว่า 25 ปี มาเล่าให้เราฟัง พร้อมกับ”ข้อคิด” จากการร่วมทำงานด้านสันติวิธีในสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งผู้เขียนขอนำรายละเอียดมาเสนอสู่กันฟัง ณ ที่นี้
รศ. ดร.มารค บอกว่าจะเล่าให้ฟังถึงบทเรียนสำหรับการทำงานด้านสันติวิธีในสังคมไทย และให้ข้อคิดถึงอุปสรรคที่เผชิญสำหรับผู้ที่ทำงานด้านสันติวิธี โดยอยากให้คนทำงานด้านนี้เดินข้ามไปให้ได้ แม้ว่า “การเดินข้ามบางอย่างที่อาจารย์ชัยวัฒน์กับผมเดินข้ามไม่ได้ และพยายามเดินข้าม”
รศ. ดร.มารค มองว่า “สันติวิธี เป็นวิชาที่แปลก ในแง่หนึ่งเหมือนวิชาอื่น มีหลักสูตรได้ สอนได้ ทำวิจัย เขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารได้ ขอตำแหน่งวิชาการ แต่มันต่างจากวิชาอื่น ต่างจากรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา มานุษยวิทยา เพราะวัตถุประสงค์ของสันติวิธีไม่ใช่การเรียนการสอน เพราะนั่นเป็นการเตรียมอาวุธ แต่วัตถุประสงค์จริง ๆ คือ ต้องลดความรุนแรงในสังคมและในโลก วัตถุประสงค์ไม่ใช่ผลิตผลงาน อาจารย์ชัยวัฒน์รู้ดี”
สิ่งที่ทำมาเป็น”เงื่อนไขที่จำเป็น” ไม่ใช่ “เงื่อนไขเพียงพอ” อย่างที่เรียกกันในภาษาปรัชญา ซึ่งความสำเร็จของงานต้องดูว่าความรุนแรงในสังคมลดลงหรือไม่
สันติวิธีมีความต่างจากวิชาอื่น กล่าวคือ คนทำงานด้านนี้เหมือน “ช่างประปา” ไม่เหมือน นักเคมี คือมีสิ่งที่ต้องทำ แต่ต้องทำให้น้ำไหล ซึ่งต้องศึกษาให้ลึกซึ้งว่าพื้นดินเป็นอย่างไร ต้องศึกษารอบข้าง
“ผมชอบใช้คำว่า “ช่างสันติวิธี” สิ่งที่ผมอยากจะเล่าก็คือ อาจารย์ชัยวัฒน์และผมพยายามจะเป็นช่างในช่วงหลายปี เคยพูดตลกกับผม มันน่าแปลกฝรั่งคริสต์กับแขก มาทำงานสันติวิธีในสังคมพุทธ ซึ่งเป็นข้อจำกัด แต่ไม่ใช่เป็นการปิดกั้นการทำงาน”
จากการทำงาน รศ. ดร.มารค บอกว่าอยากจะเล่าถึง 6-7 ประเด็น ที่คุยกับอาจารย์ชัยวัฒน์มาหลายปี (งาน) บางทีก็ขยับบ้าง บางทีก็ไม่ขยับ แต่ก็พยายามทำกันต่อไป จะด้วยความหวังและสงสัยว่าจะไปได้หรือเปล่ากับงานลักษณะนี้ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนทำงานด้านนี้
1. การเข้าใจความยากของการทำงานด้านปฏิบัติการไร้ความรุนแรงและสันติวิธีในสังคมไทยโดยเฉพาะ เริ่มทำงานต้องทำความเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญอะไร ซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่ 2 อย่าง
อย่างแรก เราต้องเผชิญกับการเข้าใจความรุนแรงอีกแบบ เป็นแบบที่เมื่อ 20 ปีก่อน เรากำลังพูดความไม่รุนแรงให้อำนาจฟัง แต่อำนาจเข้าใจความรุนแรงอย่างไรบ้าง เราต้องรู้ก่อน เราต้องศึกษาตรงนี้
ใน 20 ปีก่อน อำนาจที่เราพูดถึงในสังคมไทย คือเป็นอำนาจพร้อมจะให้ซีไอเอเปิดค่ายทำการทรมาน คนที่จับได้เกี่ยวกับก่อการร้าย แล้วเราพร้อม ซึ่งเราในที่นี้หมายถึงกลุ่มที่จะพูดการไม่ใช้ความรุนแรงให้ฟัง พร้อมจะให้ซีไอเอตั้งค่ายพัฒนาวิธีทรมาน ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดวิธีการถึงทุกวันนี้ในปัตตานี บางวิธีการยังใช้อยู่ นี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญ ต้องรู้ว่าความรุนแรง เรากำลังจะพูดความไม่รุนแรงกับคนเหล่านี้ นั่นคือ ความยากอันดับแรก
อย่างที่สอง เพิ่งมาชัดเมื่อปีที่แล้ว ตอนธนาคารโลกออกรายงานความเหลื่อมล้ำ ที่ประเทศไทยติดอันดับหนึ่ง คนที่มีทรัพย์สินไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 70 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาก็คือ ความเหลื่อมล้ำมันอยู่ที่คนมีอำนาจข้างบน นี่คือคนที่เราต้องพูดให้ฟังเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง
แต่พูดเรื่องสันติวิธีให้กับคนที่โลภยาก เพราะเวลาตัดสินว่าจะทำอะไร อะไรจะมาก่อน? ที่จริงการส่งเสริมการไม่ใช้ความรุนแรงและหากมันกระทบสิ่งที่เข้ากระเป๋า เขาไม่ทำ bottom line คือ อะไรที่ไม่ช่วยให้เงินเข้ากระเป๋าไม่สน หรือ สนนิดนิดหน่อย ๆ แต่ถ้าไปถึงกับการกระแทกจริง ๆ ก็ไม่สนใจ อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นความจริง
“ประเด็นนี้จะทำอย่างไร เราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้เกิดจริง ทำอย่างไรต้องข้ามขั้นแรกให้น้ำมันไหลให้ได้ ไม่ใช่มันติดขัด รู้หมดแต่ทำไม่ได้ ตรงนี้จะแก้อย่างไรให้คนเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องความรุนแรง”
ประเด็นนี้ พูดคุยกันมาก แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เหมือนที่บางท่านบอกว่าเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม แต่ก็ไม่สามารถสรุปว่าเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เพราะมันไม่เจอในหลายพื้นที่ ในชนบท ถ้าเรากำลังพูดกับอำนาจเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง ก็คือคนกลุ่มนั้น ทำไมเข้าใจแบบนี้ ก็มีสมมติฐานหลายอย่างก็คุยกันอยู่
2. คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เพราะคุยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ แต่สำหรับคนที่ทำงานด้านนี้ นั่นคือ ยุทธศาสตร์หรือคุณค่าไหนสำคัญกว่าในการผลักดันสันติวิธี หลายคนมียุทธศาสตร์ มีคณะทำงาน และกลยุทธ์ มันเริ่มต้นด้วยยีน ชาร์ป (นักสันติวิธีชาวอเมริกัน) แต่ยุทธศาสตร์ต่างมากจากของอาจารย์ชัยวัฒน์ แต่ของยีน ชาร์ปซับซ้อน ทำให้หลายคนสงสัยยีน ชาร์ป คือ เขาทำงานร่วมกับอำนาจ แต่เป็นอำนาจของสหรัฐ เพื่อไปจัดการกับสงครามเย็นในยุโรปตะวันออก ทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นปกครองไม่ได้
แต่การทำงานกับอาจารย์ชัยวัฒน์ ก็พยายามเสนอให้ฝ่ายความมั่นคงเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองได้ แต่ปรากฏว่าได้แต่ “ตัวเอง” ในฐานะปัจเจกเปลี่ยน เมื่อปัจเจกเกษียณ คนก็มาใหม่ พอมาใหม่ ก็เป็นลักษณะอย่างเดิม การเปลี่ยนแปลงไปไม่ทั่วถึง ตรงนี้คุยกันว่าไม่รู้จะทำอย่างไร
3. ปัญหาที่ผมอาจจะรู้สึกมากกว่าอาจารย์ชัยวัฒน์ มันคือความลำบากใจของการขับเคลื่อนสันติวิธี คือความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมันปลอดภัยในการเป็นนักวิชาการ สามารถทำบางอย่างโดยไม่เสี่ยงมากเกินไป แต่อาจทำแบบนอกลู่นอกทางก็แย่เหมือนกัน ฝ่ายความมั่นคงเขาไม่ค่อยกลัวนักวิชาการ ตราบใดที่พูดในมหาวิทยาลัย ในห้องเรียน เขาเฉย ๆ ถ้าออกไปหน่อยเขาก็ไม่ค่อยชอบ ถ้าออกไปมากหน่อยอย่างบุญสนอง ( บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตหัวหน้าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกสังหารเมื่อปี 2519 ) ก็หายไปเลย
ความปลอดภัยในการทำงานสันติวิธี เหมือนกับเส้นที่ดูไม่ค่อยชัด คือถ้าทำเกินไปก็หายไปเลย มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย สังคมนิยมในประเทศไทยไม่ได้รับความเข้าใจมากขึ้นหลังอาจารย์บุญสนอง ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น มันเลยต้องขีดเส้นตรงนี้ ถ้าห่างเกินไปมันก็ยาก ก็ไปเสี่ยงอยู่บนท้องถนน มันห่างไปหน่อย ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาของงานแบบนี้ทั่วไปว่าในรั้วมหาวิทาลัยที่ปลอดภัยจะทำอย่างไร
4. เรื่องที่แก้ไม่ได้เป็นความเศร้า เราปรับทุกข์กัน แลกเปลี่ยนความเศร้า ความเศร้าคือเวลาคนที่เราทำงานด้วยออกไปตาย อันนี้อาจจะเป็นงานที่เศร้าที่สุดของสันติวิธี เรามีคนมาเวิร์คชอป มาอบรม มาอธิบายการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง พอกลับประเทศ ศรีลังกา พม่า กลับไปทำอย่างนี้ถูกฆ่าตาย อันนี้เป็นเรื่องที่เศร้า ไม่ได้เศร้าถึงกับหยุด แต่ชะงักเฉย ๆ อาจารย์ชัยวัฒน์กับผมคุยเรื่องนี้บ่อย
5. ปัญหาเรื่องการรักษาความห่างจากอำนาจ เวลาพูดถึงอำนาจ เรากำลังพูดกับอำนาจเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง พอเข้าไปใกล้กับอำนาจ อุดมการมันเจือจางไป เพราะทำงานใกล้กันเกินไป เราสู้น้อยลงหรือเราอาจจะเกรงใจเพราะทำงานกันมานาน จึงไม่ว่าตรง ๆ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่คุยกันบ่อย เราคุยกันเอง เพราะมันไม่สามารถไปคุยในวงว่าจะช่วยกันอย่างไง
6. เป็นเรื่องปัญหาของงานวิจัย งานวิจัยสันติวิธีเป็นเรื่องอึดอัด ให้โอกาสความรุนแรง การศึกษาด้วยการเก็บข้อมูลที่ไม่ใช่นั่งคิดเฉย ๆ ถ้ามีความขัดแย้ง ไปยุติด้วยการเจรจา ในระยะยาวจะเกิดความเสียมากกว่าหากปล่อยให้สู้ต่อและฝ่ายนึงชนะ อันนี้มีข้อมูลเยอะตอนหลัง เพราะมันอยู่ที่ว่าใครกำลังชนะ ใครกำลังแพ้ หลายคนกำลังใช้ประเด็นนี้ให้โอกาสความรุนแรงกับพม่าในเวลานี้ คือ ถ้ามันดูเหมือยฝ่ายหนึ่งที่อาจชนะ ต้องสู้ต่อนะ ต้องรบต่อ และฝ่ายนั้นเกิดชนะ อนาคตของสังคมจะเป็นสุขมากกว่า แต่ไปเจรจา แล้วอีกฝ่ายหนึ่งกลับมา จะสร้างความสูญเสียในระยะยาวมากกว่า ซึ่งมีการเก็บข้อมูลหลายที่
“พอเราทำงานด้านสันติวิธี เราจะเถียงกับข้อมูลไม่ได้ ก็ข้อมูลมาอย่างงั้น แต่ที่นี้เราจะใช้อย่างไรกับของปัจจุบันได้ไหม อันนี้เป็นคำถามเชิงทฤษฎี เป็นไปได้ไหมว่าถ้ายอมให้สูญเสีย ยอมให้ใช้ความรุนแรงและสูญสียตอนนี้ อนาคตจะดีกว่า แต่ถ้าหยุดตอนนี้ อนาคตจะเสียสิบ อะไรแบบนี้ มันเป็น cost benefit กับชีวิตคน อันนี้ไม่รู้ทำอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องรายละเอียดของความขัดแย้งอันนั้นจริง ๆ เป็นเกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตข้างหน้าว่าแนวไหนจะดีกว่าในสังคมนั้น อันนี้จะแรงกว่า อันนี้จะประชาธิปไตยกว่า”
7. อาจารย์ชัยวัฒน์เขียนเยอะ เขียนได้กระชับ และชอบเขียน ตรงกันข้ามกับผมไม่ชอบเขียน อาจารย์เป็นคนชักชวนให้ผมเขียนหลายอย่าง ก็คือ ในคำถามว่าในสังคมไทย เราต้องถามหลายอย่าง จะใช้หลักสากลไม่ได้ บางสังคมบอกว่า“ปากกามีพลังมากกว่าดาบ” คำถามในสังคมไทยคือจริงหรือเปล่า? หรือปากกาในที่นี้หมายถึงการทำ อันนี้มีพลังแค่ไหนในการเปลี่ยนอำนาจ อันนี้เป็นสิ่งที่ถกเถียง ไม่มีคำตอบ เรากำลังตั้งประเด็นว่าเรากำลังไปทางถูกหรือเปล่า หรือต้องผสมผสานวิธีอย่างไร?
นอกจากการเขียนแล้ว มีวิธีการอย่างอื่นไหม สังคมไทยก็น่าสนใจ ถ้าเราเขียนเยอะ แล้วเป็นที่ยอมรับ คนที่เราพูดด้วย เขาไม่ต้องอ่านให้รู้เรื่องหรอก แต่เขารู้ว่าคนอื่นยอมรับเรา เขาเลยเชื่อฟังเรา นี่คือลักษณะสังคมไทย คล้าย ๆ อ้อ คนนั้นเขาบอกว่าอาจารย์เก่งนะ จึงฟัง ทั้งที่ตัวเองไม่รู้เรื่องเท่าไรหรอก แต่ก็ให้โอกาสเราพูด ไม่ใช่เพราะว่าเราอะไรดี แต่เพราะคนอื่นชมว่าเราเก่ง เขาเลยขอให้เราพูด ถ้าจับจุดนี้ได้ก็โอเค แต่จะหยุดตรงจุดนี้คงไม่ได้
ก่อนจบ อาจารย์มารค ให้ข้อคิดว่า “คนทำงาน (ด้านนี้) ต้องมีพลังลึก ๆ อย่างอื่น ไม่ใช่แค่ยุทธศาสตร์ พลังของอาจารย์ชัยวัฒน์คือรักมนุษย์ อาจลึกกว่าศาสนาอิสลาม ผมมองว่าไม่ได้มาจากศาสนาอย่างเดียว ผมว่าพลังเบื้องหลังของอาจารย์ชัยวัฒน์คือความรักต่อสิ่งทั้งหลาย ด้วยความห่วงใย”
อ่านเพิ่มเติม: