ในประวัติศาสตร์การเมืองสากลสมัยใหม่ การทำประชามติระดับชาติได้รับความนิยมตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วงที่หลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง
ศตวรรษต่อมา ประชามติได้ถูกเลือกเป็นกลไกในการตัดสินใจที่สำคัญท่ามกลางระลอกการปลดแอกจากอาณานิคม
ในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ประชามติมีบทบาทสร้างความชอบธรรมให้กับการประกาศอิสรภาพและรัฐธรรมนูญของรัฐเกิดใหม่เหล่านั้น
เมื่อตัดภาพมาในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เพียง ค.ศ. 2016 ปีเดียว ประเทศต่าง ๆ รวม 26 ประเทศทั่วโลกจัดการทำประชามติระดับชาติ รวมไปถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งจัดทำประชามติที่ส่งผลให้ประเทศดังกล่าวถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Brexit
อย่างไรก็ตาม การทำประชามติในแต่ละประเทศและในแต่ละประเด็นมีความแตกต่างปลีกย่อยมากมาย ตัวอย่างเช่น การทำประชามติแบบเสียงส่วนใหญ่ธรรมดา (simple majority) ซึ่งกำหนดให้ผลการทำประชามติขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของผู้ที่ออกมาใช้เสียงอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีการกำหนดเกณฑ์อื่น
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการทำประชามติแบบเสียงส่วนใหญ่สองชั้น (double majority) ในกรณีหลังนี้ นอกจากเกณฑ์เสียงข้างมากของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์แล้ว ยังกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติม เช่น การกำหนดเกณฑ์จำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ว่าต้องไปไม่น้อยกว่าร้อยละที่กำหนดของจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ผลการทำประชามตินั้นจึงจะมีผลผูกพัน หรือที่เรียกว่า turnout quorum/threshold
การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่าด้วยจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ (turnout quorum) นี้ไม่ใช่การกำหนดตามอำเภอใจโดยไม่มีคำอธิบายรองรับ ซึ่งบทความนี้จึงชวนมาสำรวจการเลือกใช้และไม่ใช้ turnout quorum ในการทำประชามติพร้อมกับวิเคราะห์ความเหมาะสมกับกรณีของประเทศไทย
การกำหนดคะแนนเสียงข้างมากสองขั้นและประเด็นว่าด้วยความชอบธรรม
การกำหนดคะแนนเสียงข้างมากสองชั้นนั้น มักถูกมองว่าเชื่อมโยงกับความชอบธรรมของผลการทำประชามติ ยกตัวอย่างเช่น หากกำหนดว่าผลของการทำประชามติแบบเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ (YES/NO) จะมีผลผูกพันก็ต่อเมื่อมีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง
สมมุติว่าผลการทำประชามติออกมาพบว่าฝ่ายโหวตเห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง คิดเป็นจำนวน ร้อยละ 70 ของผู้ที่มาออกเสียงทั้งหมด แต่หากมีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงทั้งหมด ร้อยละ 40 ซึ่งถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ให้ถือว่าการทำประชามตินั้นไม่มีผลผูกพัน เนื่องจากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์จำนวนไม่มากพอที่ “สร้างความชอบธรรม” ให้กับผลการทำประชามติได้
หากมองโดยผิวเผิน การกำหนดคะแนนเสียงข้างมากสองชั้นแบบนี้อาจฟังดูสมเหตุสมผล โดยเฉพาะเมื่อเราลองเทียบเคียงกับการสรรหาผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในชีวิตจริงด้วยระดับที่เล็กกว่า เช่น การเลือกคณะกรรมการนิติบุคคลห้องชุด
อย่างไรก็ตาม การทำประชามติระดับชาติแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญกับตัวอย่างต่าง ๆ ที่เราอาจคุ้นเคยมากกว่า และการกำหนดคะแนนเสียงข้างมากสองขั้นในการทำประชามติระดับชาติอาจมีผลกระทบตามมาหลายประการ
ข้อได้เปรียบทางกติกาของฝ่ายที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ประการแรก การกำหนดคะแนนเสียงข้างมากสองชั้นอาจส่งผลให้กติกาการทำประชามติเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง (NO Voter) สามารถคว่ำบาตรการลงทำประชามติได้ เช่น หากมีผู้ต้องการโหวตเห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง จำนวนร้อยละ 40 และมีผู้ที่ต้องการโหวตไม่เห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง จำนวนร้อยละ 30 และมีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเสียง ร้อยละ 30 ผู้ที่ต้องการโหวตไม่เห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 30 อาจเล็งเห็นว่า การออกไปใช้สิทธิ์จะทำให้จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง และตัดสินใจไม่ออกไปใช้สิทธิ์แทนที่จะออกไปโหวตไม่เห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง ผลการลงประชามติก็จะไม่มีผลผูกพัน
กล่าวคือ การกำหนดคะแนนเสียงข้างมากสองชั้นในการลงประชามติอาจก่อให้เกิดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง (status quo bias) เนื่องจากกติกาเอื้อให้มีช่องทางในการบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการออกคะแนนเสียงอย่างตรงไปตรงมานั่นเอง
กล่าวคือ ผู้ที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงมีวิธีที่จะชนะได้สองแบบคือทั้งการออกไปโหวตไม่เห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง และการไม่ออกไปลงคะแนนเสียง ในขณะที่ผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงทำได้เพียงการออกไปลงคะแนนเสียงอย่างตรงไปตรงมา
ในบางประเทศ เช่น อิตาลี มีการถกเถียงเกี่ยวกับการลดเกณฑ์ขั้นสูงเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ที่จะทำให้ประชามติมีผลผูกพันจาก ร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 25
อย่างไรก็ตาม การลดเกณฑ์จาก ร้อยละ 50 ลงมา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาจากการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสองขั้นได้ รวมไปถึงผลกระทบต่อจำนวนผู้ออกมาลงคะแนนเสียง หลักการลงคะแนนโดยลับ และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแทรกแซงกระบวนการลงคะแนนเสียงด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังที่จะอธิบายต่อไปนี้
ความเป็นไปได้เกี่ยวกับผลกระทบต่อจำนวนผู้ออกมาลงคะแนนเสียง
ประการที่สอง สืบเนื่องจากเงื่อนไขที่กล่าวไปข้างต้น ฝ่ายที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงหรือฝ่ายโหวตเห็นชอบต่อการเปลียนแปลง อาจเล็งเห็นว่ามีโอกาสในการที่ฝ่ายของตนจะชนะการโหวตได้ยาก (กว่าฝ่ายที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะอธิบายในข้อต่อไป) จึงอาจส่งผลให้มีผู้ตัดสินใจแบ่งสรรทรัพยากรทางเวลาของตนออกจากบ้านไปใช้สิทธิ์ลดลงด้วย
กล่าวคือ การกำหนดเกณฑ์ว่าการทำประชามติจะมีผลผูกพันก็ต่อเมื่อมีจำนวนผู้ออกมาลงคะแนนเสียงถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดอาจส่งผลทางจิตวิทยาในแง่ลบได้ เนื่องด้วยจากมุมมองของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง การกำหนดเช่นนี้ไปเพิ่มความไม่แน่นอนว่าคะแนนที่ตนต้องต้องใช้เวลาเดินทางไปใช้สิทธิ์นั้น สุดท้ายจะมีผลสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่
กล่าวคือ การกำหนดเกณฑ์พิเศษนี้ไปเพิ่มเงื่อนไขความไม่แน่นอน และอาจทำให้ผู้คนตัดสินใจออกมาลงคะแนนเสียงน้อยลง อันขัดกับจุดประสงค์หลักของหลักการนี้โดยตรง ดังในกรณีของประเทศไทย ซึ่งคงจำกันได้ดีจากหลากหลายบทเรียนว่าผลการลงคะแนนของตนในหลายครานั้นไม่ถูกแปลออกมาเป็นผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา การล้มการเลือกตั้ง การทำรัฐประหาร การยุบพรรคการเมือง และการแทรกแซงทางการเมืองแบบอื่น ๆ นานัปการ เมื่อประกอบกับเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาจึงอาจทำให้จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลดลงได้
อาจส่งผลต่อหลักการละคะแนนเสียงโดยลับ
ประการที่สาม สืบเนื่องจากประการหนึ่งและประการที่สอง การกำหนดว่าการทำประชามติจะมีผลผูกพันก็ต่อเมื่อมีจำนวนผู้ออกมาลงคะแนนเสียงถึงเกณฑ์ (turnout quorum) ส่งผลให้เมื่อคิดคำนวณออกมาแล้ว ฝ่ายโหวตไม่เห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง อาจได้เปรียบกว่าหากไม่ออกมาลงคะแนนเลย แทนที่จะออกมาโหวต ไม่เห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง
ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ว่า เราอาจอนุมานว่าผู้ที่ปรากฏภายในคูหาเลือกตั้งส่วนใหญ่คือผู้ที่โหวตเห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่เลือกความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปได้ดังกล่าวนี้หมายถึงการทำลายหลักการลงคะแนนเสียงโดยลับ (voting secrecy) ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานของการทำประชามติระดับชาติ
การใช้การกดดันทางสังคมและการแทรกแซงกระบวนการลงคะแนนเสียง
จุดอ่อนประการที่สามของการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ (turnout quorum) ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากนอกเหนือจากเงื่อนไขทางตรรกะแล้ว การลดทอนความเป็นความลับของการออกคะแนนเสียงนี้จะยิ่งเปิดโอกาสให้เกิดการแทรกแซงกระบวนการลงประชามติด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้โดยง่าย
โดยเฉพาะหากฝ่ายที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงมีช่องทางในการควบคุมฝ่ายต่างๆที่มีหน้าที่ในการจัดการทำประชามติดังกล่าวโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น
บทเรียนจากประวัติศาสตร์การลงประชามติในบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เป็นเสรี
จุดอ่อนทั้งสามประการเป็นความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นแม้กับในประเทศที่ประชาธิปไตยแข็งแรงและภายใต้บรรยากาศการเมืองแบบเสรี หากแต่ในกรณีของประเทศไทย ซึ่งยังคงอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลพลเรือนและยังมีหลายองคาพยพทางการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมาแทรกแซงการตัดสินใจทางการเมืองอยู่เป็นนิจนั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจส่งผลกระทบในแง่ลบที่ร้ายแรงกว่า โดยอาจเทียบเคียงกับกรณีการทำประชามติในประเทศที่ไม่ได้มีบรรยากาศทางการเมืองแบบเสรีร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อให้เห็นภาพชั้นขึ้นได้ดังนี้
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นกรณีศึกษาคลาสสิกของปัญหาเกี่ยวกับการใช้เกณฑ์เสียงส่วนใหญ่แบบสองชั้น (double majority) แบบกำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ (turnout quorum) ได้แก่ประชามติ ค.ศ. 1926 ในสาธารณรัฐไวมาร์เกี่ยวกับการยึดทรัพย์
ประชามติครั้งนั้นกำหนดว่าต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน ร้อยละ 50 ผลการทำประชามติจึงจะมีผลผูกพัน ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิ์นั้นโหวต yes แต่ผู้ออกมาใช้สิทธิ์มีเพียง ร้อยละ 36 ของจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการรณรงค์ให้คนงดออกเสียง รวมไปถึงมีการใช้การข่มขู่และอิทธิพลของเจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะในเขตชนบทซึ่งคนในชุมชนมีความใกล้ชิดกันมาก ทำให้การกดดันผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ในคูหาเลือกตั้งนั้นเกิดขึ้นได้โดยง่าย
นอกเหนือกรณีศึกษาจากศตวรรษที่ยี่สิบดังกล่าวแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาการทำประชามติในบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เป็นเสรี เช่น บทความ Referendums as extended arms of the government: evidence from an illiberal regime พบว่า ประเทศที่ไม่ได้เป็นประเทศเสรี (illiberal states) มีการใช้กลไกประชามติเพื่อการพยายามรักษาโครงสร้างอำนาจเดิม (status quo) ด้วย
เสียงส่วนใหญ่ธรรมดาและเสียงส่วนใหญ่สองชั้นใต้เงา คสช.
เมื่อกลับมามองประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกติกาการทำประชามติให้เอื้อกับการรักษาโครงสร้างอำนาจเดิม
เราพบว่า ก่อนการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เดิมมีพ.ร.บ.ประชามติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ซึ่งกำหนดว่า ผลการออกเสียงประชามติแบบผูกพันต้องเป็นแบบเสียงข้างมากสองชั้น (double majority) (แบบปรึกษาหารือ หรือแบบที่มุ่งสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นต่าง ๆ โดยไม่ได้กำหนดให้ผลการทำประชามติมีผลผูกพันในการกำหนดนโยบายนั้นๆ ใช้เสียงส่วนใหญ่ธรรมดา (simple majority)
แม้ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 แล้ว พ.ร.บ.นี้ก็ยังมีผลบังคับใช้ โดยอิงกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ต่อไป พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2552 จึงยังมีผลบังคับใช้ต่อไป
เมื่อถึงคราวการทำประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หากยึดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 การทำประชามติครานั้นก็ควรจะเป็นการทำประชามติแบบเสียงส่วนใหญ่สองชั้น (double majority)
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ก่อนการทำประชามติไม่นาน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 (แก้ไขในพ.ศ. 2559) มาตรา 4 และประกาศใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 เพื่อให้ผลการลงประชามติตัดสินด้วยระบบเสียงส่วนใหญ่ธรรมดา
กล่าวคือ มีความตั้งใจให้กระบวนการทำประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ใช้การทำประชามติแบบเสียงส่วนใหญ่ธรรมดาแทนที่จะเป็นแบบเสียงส่วนใหญ่สองชั้น โดยมิพักต้องกล่าวถึงคำถามพ่วงในการทำประชามติครั้งดังกล่าว รวมไปถึงการดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมารณรงค์ให้ Vote No ประวัติศาสตร์ระยะสั้นของการทำประชามติในประเทศไทยดูจะมีบางประเด็นที่คล้ายคลึงกับการทำประชามติภายใต้การเมืองแบบปิดกั้นเสรีภาพในต่างประเทศ
แม้กระนั้น โดยเปรียบเทียบแล้วการทำประชามติถือเป็นกลไกการตัดสินใจทางการเมืองที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสำหรับประชาชนหรือผู้ที่มีอำนาจ การทำประชามติจึงเป็นเกมที่ไม่มีฝ่ายใดคุ้นเคยไปมากกว่ากัน รวมไปถึงเต็มไปด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้นานัปการ
ดั่งสำนวนที่ว่า the devil is in the details ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ปิศาจอยู่ในรายละเอียด หมายถึงความล้มเหลวของแผนการใหญ่ซึ่งเกิดจากการละเลยรายละเอียดเล็ก ๆได้
ในกรณีของการทำประชามติ ความล้มเหลวที่ว่านี้อาจเป็นความล้มเหลวของฝ่ายที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง หรืออาจเป็นความล้มเหลวของฝ่ายที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมก็ได้เช่นกัน
ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ.2566 พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล(พรรคประชาชนในปัจจุบัน) ได้เสนอนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ประกาศให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้มีการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง
กล่าวคือ ครั้งแรกการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ครั้งที่สอง จัดทำประชามติภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่านรัฐสภา และครั้งที่สาม จัดทำประชามติภายหลังการยกร่างธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดี ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า หากทำประชามติโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ผลการออกเสียงประชามติแบบผูกพันต้องเป็นแบบเสียงข้างมากสองชั้น (double majority) กล่าวคือ “การออกเสียงจะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น” ซึ่งโอกาสที่จะผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอาจลดลง
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญติแก้ไขกฎหมายประชามติใหม่ (นอกจากร่างของพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมีร่างอื่น ๆ ที่เสนอประกอบด้วยคือ ร่างของพรรคประชาชนและพรรคภูมิใจไทย)
ขณะนี้วุฒิสภาได้กลับลำในช่วงสุดท้ายของการประชุมและมีมติให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งส่งผลให้อาจจำเป็นต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะส่งผลให้การเริ่มต้นกระบวนการทำประชามติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความล่าช้าจนไม่สามารถจัดทำประชามติครั้งแรกพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะหมดวาระลงในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วันและคาดว่าจะเลือกตั้งในราวต้นเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2568
จากตัวอย่างการทำประชามติในบรรยากาศการเมืองที่ไม่เป็นเสรีในต่างประเทศตลอดจนประวัติศาสตร์ระยะสั้นของการนำกลไกการทำประชามติมาใช้ในประเทศไทย ตลอดจนการยูเทิร์นวินาทีสุดท้ายเพื่อกลับไปใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากแบบสองชั้นจึงเป็นประเด็นที่สาธารณชนจำเป็นจะต้องจับตามองต่อไปอย่างใกล้ชิดและสร้างแรงกดดันต่อการเมืองในสภา
เนื่องจากการเพิกเฉยต่อปีศาจที่อยู่ในรายละเอียดเหล่านี้จะย้อนกลับมาทำร้ายทุกคนในรูปแบบของการอ้างความชอบธรรมทางการเมืองดังที่หลายคนเคยถูกทวงถามมาแล้วจากผลประชามติการรับร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ภายใต้สโลแกน “รับก่อน แก้ทีหลัง” ซึ่งยังคงตามมาหลอกหลอนการเมืองไทยอยู่ตราบจนวินาทีนี้