นิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมการเมืองไทย นับตั้งแต่อภิวัฒน์สยาม 2475 มีการนิรโทษกรรมอย่างน้อย 23 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารหลังยึดอำนาจ มีเพียงแค่ 3 ครั้งที่เป็นการนิรโทษกรรมประชาชน จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, และเหตุการณ์พฤษภา 2535 ได้แก่
- พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนี่ยงกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516 (ฉบับ 14 ตุลา)
- พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 (ฉบับ 6 ตุลา)
- พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 (ฉบับพฤษภา 35)
มีความพยายามนิรโทษกรรมประชาชนอีกครั้งในปี 2567 โดยกลุ่มภาคประชาสังคม ภาคประชาชน 36,723 คน รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนในเดือนก.พ. 2567 เพราะนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มีประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองถูกดำเนินคดีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่ได้รับนิรโทษกรรม ขณะที่คณะรัฐประหารได้รับนิรโทษกรรมไปแล้วทั้ง 2 คณะคือ คณะรัฐประหาร 2549 กับ คณะรัฐประหาร 2557
หากนับการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีการแจ้งความและดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองประมาณ 1,960 ราย และในจำนวนดังกล่าวเป็นคดีแล้ว 1,310 คดี และผู้ต้องหาคดีทางการเมืองได้ยื่นเอกสารขอประกันตัวในปี 2567 จำนวน 183 ฉบับ แต่ถูกศาลยกคำร้อง 168 ฉบับ เท่ากับว่าผู้ต้องหาทางการเมืองมีโอกาสได้ประกันตัวเพียง 8.3% เท่านั้น และไม่ได้รับการประกันตัว 91.7% ขณะเดียวกันก็มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีนักโทษทางการเมืองอดอาหารประท้วงจนเสียชีวิตไปแล้ว 1 คน
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เพื่อแก้ปัญหาคดีทางการเมืองถูกเสนอให้บรรจุวาระในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 9 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา โดยมีทั้งหมด 4 ฉบับ ประกอบด้วย
- ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … เสนอร่าง โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เสนอร่างโดยพรรคก้าวไกล (ชื่อพรรคในขณะที่เสนอร่าง)
- ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอร่างโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ
- ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … มาแล้วในปี 2556 หรือที่เรียกว่า “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” แต่ในครั้งนี้แม้จะเป็นรัฐบาลพ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน แต่ไม่ได้เสนอร่างอีกครั้ง
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน โดยการรวบรวมรายชื่อประชาชน เสนอในเดือนก.พ. 2567 (รวบรวมรายชื่อภายในวันที่ 1-14 ก.พ.)
มีหลักการสำคัญคือ นิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพราะถือว่า รัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
โดยเนื้อหากฎหมาย มีการระบุถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนิรโทษกรรม และร่างนี้เป็นร่างเดียวเท่านั้นที่รับรองชัดเจนว่า ประชาชนมีส่วนร่วมเข้าไปมีที่นั่งในคณะกรรมการพิจารณาการนิรโทษกรรม ได้แก่ ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากปี 2549, 2553, 2557 และ 2563 ช่วงเวลาละ 1 คน และ องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน
และในร่างกฎหมายฉบบันนี้ ระบุถึง คดีที่นิรโทษกรรมได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณา เพราะถือว่าคดีเหล่านี้ถูกใช้เป็นคดีการเมืองหรือเป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวของมันเอง ได้แก่
- คดีความผิดตามประกาศ คำสั่ง หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.
- คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/57
- คดีตามฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
- คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
- คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
- คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อดังกล่าว
ในร่างนี้กำหนดชัดว่าจะไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ความผิดฐานเป็นกบฏ และความผิดที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ชุมนุมรวมถึงการสลายการชุมนุมที่กระทำเกินกว่าเหตุ
ในร่างนี้ยังกำหนดด้วยว่า เมื่อนิรโทษกรรมแล้วต้องมีการลบประวัติอาชญากรรมด้วย
ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมพรรคก้าวไกล
ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ….ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล (ชื่อพรรคในขณะที่เสนอร่าง) เดือน ต.ค. 2566
ตั้งหมุดหมายคดีทางการเมืองที่จะได้รับนิรโทษกรรม ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2549 ซึ่งเป็นวันชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนิรโทษกรรมเช่นกัน ซึ่งคดีตามฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีแนวโน้มว่าจะอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน แต่จะไม่นิรโทษคดีการกระทำความผิดต่อชีวิต เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ยกเว้นจะเป็นการกระทำโดยประมาท กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงโดยมิชอบในการสลายการชุมนุม และกรณีความผิดตามมาตรา 113 หรือล้มล้างการปกครอง
ร่างนี้ไม่ได้ระบุคดีที่ได้นิรโทษทันทีโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาและการลบประวัติอาชญากรรม ซึ่งต่างจากร่างของเครือข่ายประชาชน
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
เสนอร่างโดย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เดือน ธ.ค. 2566
กรอบระยะเวลานิรโทษกรรมคดีทางการเมืองระหว่าง 19 ก.ย. 2549 – 30 พ.ย. 2565 โดยมุ่งนิรโทษคดี ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ การก่อการร้าย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ความผิดตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่นิรโทษคดีความผิดตามมาตรา 112 การทุจริต และการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พรรครวมไทยสร้างชาติ
เสนอร่างโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ เดือน ม.ค. 2567
เช่นเดียวกับชื่อร่าง เนื้อหาโดยรวมของร่างนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากของพรรคครูไทยเพื่อประชาชนมากนัก ร่างนี้กำหนดช่วงเวลานิรโทษคดีทางการเมืองปี 2548 – 2565 ซึ่งรวมถึงการชุมนุมกดดันให้ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป และคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” และกลุ่ม กปปส. ช่วงปี 2556-2557 ซึ่งเป็นกลุ่มสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่รัฐประหาร คดีที่ได้นิรโทษ เช่น การก่อกบฏ ก่อการร้าย ความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแต่ไม่รวมความผิดตามมาตรา 112 การทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และการทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ทั้ง 4 ร่างสะท้อนอัตลักษณ์ของเครืองข่ายองค์กรที่เสนอร่างอย่างชัดเจน ว่าให้ความสำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใดบ้างหรือยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 ร่างก็ไม่ถูกพิจารณาตามวาระประชุมสภาครั้งที่ 30 ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าจะถูกพิจารณาในวาระครั้งที่ 31 แทนในเดือนกรกฎาคม 2568เท่ากับว่าผู้ถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกเรือนจำต้องขยายเวลารอคอยนิรโทษกรรมต่อไปอีก
เมื่อนิรโทษกรรมต้องเลื่อนพิจารณา เสรีภาพผู้ต้องขังที่ต้องรอคอย
เมื่อร่างฯ นิรโทษกรรมถูกเลื่อนเข้ามาพิจารณาอย่างเร่งด่วนประชุมสภาครั้งที่ 30 คู่กับ ร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร วันที่ 9 เม.ย. ก็ได้เกิดการเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆ ในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 17.00 น. บริเวณสกายวอล์ค 5 แยกลาดพร้าว มีนักเคลื่อนไหวจากกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แจกใบปลิวและยืนถือป้ายเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมจับตามองร่างนิรโทษกรรมประชาชนที่รัฐสภา

กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ทำกิจกรรมบริเวณ 5 แยกลาดพร้าว
ขณะที่กฎหมายเลื่อนการพิจารณา แต่คดีทางการเมืองยังเกิดขึ้น โดยในวันที่ 8 เม.ย. ที่จังหวัดพิษณุโลก พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) อาจารย์-นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เดินทางเข้ามอบตัวกับ สภ.เมืองพิษณุโลก ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายจับ ตามที่กองทัพภาคที่ 3 แจ้งความดำเนินคดี
กล่าวหาว่า พอล แชมเบอร์ส ผู้ต้องหาได้เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์ของ ISEAS สถาบัน Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ซึ่งมีข้อความที่ละเมิดต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่จากการตรวจสอบเนื้อหา เป็นเพียงข้อความแนะนำงานเสวนาวิชาการบนเว็บไซต์สถาบัน ที่พอลนำเสนอในประเด็นเกี่ยวกับกองทัพไทยเท่านั้น และพอลไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความเอง
แม้พอล ผู้ถูกกล่าวหา ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด เพราะไม่เคยได้รับหมายเรียก ไม่เห็นสำนวน ไม่มีสำนวนประกอบการออกหมายจับ และพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ก็ถูกฝากขัง เข้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกในวันนั้น และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างว่าเป็นชาวต่างชาติ คดีมีอัตราโทษสูง เกรงผู้ต้องหาอาจหลบหนี เขาได้รับอนุญาตการประกันตัวในวันถัดมาแต่ก็ต้องถูกควบคุมตัวต่อทันที เพราะ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้เพิกถอนวีซ่าทำงานในประเทศไทย แต่ได้รับการปล่อยตัวอีกครั้งกลางดึก ราว 0.40 น. ของวันที่ 10 เม.ย. รวมการถูกคุมขังเป็นเวลา 2 วัน
แม้ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมได้เข้าไปอยู่ในวาระการประชุม แต่ถูกเลื่อนไปพิจารณาในวาระประชุมครั้งต่อไป ซึ่งได้สร้างความผิดหวังให้กับเครือข่ายและประชาชนจำนวนมากที่เฝ้ารอนิรโทษกรรม รวมทั้งผู้เตรียมเข้าชี้แจงในสภาที่มารอตั้งแต่เช้า ได้แก่ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนเสนอร่างฯ, ธนพัฒน์ กาเพ็ง เยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง 24 คดี, เบนจา อะปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง 22 คดี, ศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw
ในวันที่ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมถูกเลื่อนพิจารณา ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมหน้าสภา 100 กว่าคน ได้เปิดเวทีเสวนากล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วนของนิรโทษกรรม และชีวิตของผู้ต้องคดีการเมืองทั้งในและนอกเรือนจำ

กิจกรรมเสวนาโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน หน้ารัฐสภา
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตัวแทนเสนอร่างฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Policy Watch ว่า
“เรื่องนิรโทษกรรมเป็นเรื่องด่วน เพราะตอนนี้มีคนที่ถูกขังถึง 48 คน แล้วยังมีอีก 1,900 คนที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา ทุกคนก็ยังต้องเผชิญกับกระบวนการพิจารณคดี กระบวนการสืบพยาน เดินทางไปศาล ทุกอย่างมันคือต้นทุนชีวิตทั้งเวลา ทั้งค่าใช้จ่ายและสุขภาพจิต ตอนแรกรัฐสภาทำเหมือนกับว่า ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปรากฎว่าวันนี้ไม่สำคัญแล้ว ญัติถกเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ก็เป็นเรื่องสำคัญจริง แต่รัฐสภาควรจัดสรรเวลาให้ดี เรื่องทั้งหมดควรจะได้มีเวลา มีโอกาสในการพูดคุย แล้วถ้ารัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้เร่งด่วนจริง ๆ สมัยการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคม ก็อยากให้รีบผลักดันวาระนิรโทษกรรมขึ้นมา
และหวังว่า ก่อนที่จะเปิดสมัยประชุมครั้งหน้า รัฐจะสามารถดำเนินการในทางอื่น ๆ กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้เลย ในบรรดาผู้ต้องขังอย่างน้อย 48 คน มีคนที่ถูกขังระหว่างพิจารณา 30 คน แปลว่าเขาสามารถได้รับสิทธิประกันตัว ออกมาสู้คดีข้างนอกเรือนจำได้ อยากชวนให้คิดว่า ทำไมเขาเหล่านั้นไม่ได้ประกัน ทำไมศาลไม่ให้ประกัน รัฐจะมาช่วยสนับสนุนผลักดันอย่างไรได้บ้าง ให้เขาได้รับสิทธิประกันตัวได้หรือไม่ ถ้ารัฐมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคดีทางการเมือง
หากรัฐคิดว่านิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 อาจจะเป็นไปไม่ได้ ก็ลองใช้วิธีการอื่นที่สามารถทำได้เลย และในระหว่าง 2 – 3 เดือนนี้ รัฐควรเข้ามาดูแลผู้ต้องขังทางการเมือง ทั้งในคนที่สามารถประกันตัวได้และไม่ได้ให้อยู่บนมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น เช่นการเข้าถึงสาธารณสุข หรือการแยกคุมขังต่างหาก แต่อันที่จริงๆ แล้วเขาไม่ควรต้องถูกดำเนินคดี”

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
พูนสุข กล่าวต่ออีกว่า
“เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นคุณค่าสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการประกันตัวคือคุณค่าพื้นฐาน นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนว่ารัฐไทยไม่เคารพสิทธิมนุษยชน แล้วยิ่งเมื่อเกิดกรณีอาจารย์พอล แชมเบอร์ส เรื่องมันยิ่งลามไปในระดับสากลมากขึ้น สภายุโรปเองก็มีมติว่าไทยจะต้องเคารพเสรีภาพเรื่องนี้ ต้องปล่อยนักโทษทางการเมือง
การปล่อยนักโทษทางการเมืองจะทำให้ไทยมีที่ยืนในประชาคมโลกได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น เพราะมีจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับจุดยืนของของสหประชาชาติ เมื่อบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนประเทศเราตกต่ำลง ต่างประเทศที่มีอำนาจต่อรองก็ใช้โอกาสนี้มีอำนาจต่อรองเหนือเรามากขึ้น เช่นการต่อรองทางเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยไม่ใช่ไม่รู้เรื่องนี้ เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลเพื่อไทยเองตั้งแต่สมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็พยายามเข้าไปเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทำไม นี่คือหลักฐานว่ารัฐเองก็รู้ว่าสิทธิมนุษยชนคือเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เรามีหน้ามีตา มีศักดิ์ศรีบนเวทีโลก”
ธนพัฒน์ กาเพ็ง หนึ่งในผู้ที่จะต้องเข้าชี้แจงในสภา และเป็นเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง 24 คดี ให้สัมภาษณ์กับทาง Policy Watch ว่า
“เสียดายที่ไม่ได้เข้าชี้แจงในสภา แต่ก็เตรียมใจมาแล้ว เราประเมินสถานการณ์กันมาแล้ว แต่ค่อนข้างกังวลคนที่อยู่ข้างในเรือนจำ เราเป็นห่วงตรงนี้ เพราะเป็นทั้งเรื่องของอิสรภาพ ความรู้สึก จิตใจ โอกาสที่เสียไปในเรื่องการเรียน การงาน เรื่องแบบนี้รอไม่ได้ เขารอไม่ได้ และเราก็เสียดายที่จะได้พูดถึงเรื่องเพื่อนๆในเรือนจำให้สังคมได้รู้ หรือผู้ที่มีอำนาจเขาได้คิดได้ว่า คนพวกนี้มันหัวรุนแรงจริงหรือเปล่า หรือว่าการขังคนพวกนี้ไว้เนี่ย แล้วสังคมไทยมันจะมีประโยชน์จริง ๆ ใช่ไหม”
ธนพัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า
“ในฐานะของผู้ที่ถูกดำเนินคดี ไม่เคยชินเลยเวลาเราต้องไปศาล เพราะเรารู้ว่าเราไปจากการที่เราใช้สิทธิเสรีภาพ เราไม่ได้ลักวิ่งชิงปล้น หรือว่าทำร้ายใคร เป็นความเจ็บปวดที่เราไปศาลมาต่อสู้คดีโดยที่เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราไปตรงนั้นน่ะเหมือนไปให้เขาตัดสินโทษ หลักการเนื้อหาที่เราไปสู้ก็หนักแน่นมากเพียงพอ แต่พอไปอยู่ตรงนั้นมันเหมือนเราโดนด้อยค่าด้วยกระบวนการ ด้วยกฎหมาย ด้วยระบบราชการ
ในการไปศาลแต่ละครั้ง มันมีค่าใช้จ่าย ก็ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ – ไกลของศาล ขั้นต่ำก็ครั้งละประมาณ 500 บาท ค่ารถ ค่ากิน บางคดีไปศาลอาญากรุงเทพใต้ บางคดีต้องเดินทางไปถึงจังหวัดตรัง บางคดีต้องเดินทางไปนราธิวาส ถึงสุไหงโกลกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ทั้ง ๆ ที่เหตุเกิดที่กรุงเทพฯ เพราะกฎหมายนี้มันแจ้งความที่ไหนได้ ก็เลยเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง”

ธนพัฒน์ กาเพ็ง เยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
“การนิรโทษกรรมมันไม่ใช่แค่การลบล้างความผิดให้กับคนเห็นต่าง แต่มันคือการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คืนสิทธิเสรีภาพ คืนฐานะพลเมืองให้เขาได้ใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติ และการนิรโทษกรรมคือการก้าวข้ามความขัดแย้งที่แท้จริง และความขัดแย้งที่เลือกข้างมันไม่ใช่ความยุติธรรม ดังนั้นการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะต้องรวมมาตรา 112 ด้วย”
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ให้สัมภาษณ์กับทาง Policy Watch ในกิจกรรมชุมนุมจับตานิรโทษกรรมว่า
“ทางสภาผู้แทนราษฏรไม่มีความชัดเจน ในเรื่องของ “ความเร่งด่วน” วันหนึ่งบอกว่านิรโทษกรรมบอกว่าเร่งด่วน อีกวันบอกว่าเรื่องของเราไม่ด่วนแล้ว ซึ่งทางเครือข่าย เราประเมินสถานการณ์กันแล้วว่า รัฐไม่ได้จริงใจกับเรา เราอาจจะไม่ได้อภิปราย ถ้าได้อภิปราย ร่างก็อาจจะถูกปัดตก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ เพราะมีคนจำนวนมากอยู่ในเรือนจำ เราจะต้องสู้กันต่อไปในการประชุมสภาวาระหน้า วันนี้กิจกรรมจับตานิรโทษกรรมหน้ารัฐสภา หลายคนที่มาร่วมชุมนุมอาจจะรู้สึกเหมือนกันว่า พวกเราอาจจะสู้ต่อไปได้ไม่ไกล แต่เรายังสู้กันต่อไป ยังคงอยู่ด้วยกัน และยังรู้สึกอุ่นใจ ครั้งหนึ่ง “ไผ่” (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ทะลุฟ้า”) เคยบอกว่า ถ้ายังมีคนที่สู้อยู่ เราก็ยังไม่แพ้”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw
นิรโทษกรรมบันไดก้าวข้ามความขัดแย้ง
ร่างฯ พ.ร.บ นิรโทษกรรมทั้ง4 ฉบับ มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน หากแต่จุดประสงค์ร่วมกันนั้นเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรังมายาวนาน ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าทุกกลุ่มทุกฝ่ายจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกัน ขณะที่กำหนดการนิรโทษความผิดทางกฎหมายของทั้ง 4 ร่างฯ จะมีความแตกต่างกัน แต่เครือข่ายภาคประชาชน เห็นว่าควรจะพิจารณาที่ช่วงเวลาทางการเมือง โดยไม่แบ่งแยกตามประเภทข้อหา เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมประชาชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, และเหตุการณ์พฤษภา 2535 เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในการพิจารณาร่าง
เป็นที่น่าเสียดายว่าการเสนอ ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ไม่มีร่างของรัฐบาล ควบคู่ไปกับร่างของพรรคการเมืองและประชาชน แต่ในระหว่างรอพิจารณาร่างกฎหมายนี้ รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการชั่วคราวได้ทันที ในการชะลอหรือหยุดการฟ้องคดีการเมืองในชั้นตำรวจ รวมทั้งชะลอการสั่งฟ้องคดีทางการเมืองและการพิจารณาคดีการเมืองในชั้นศาล