สมรสเท่าเทียมทำให้ คู่ LGBTQIAN+ ที่จดทะเบียนสมรสและได้รับสิทธิต่าง ๆ ในฐานะคู่สมรสทันที ตามกฎหมายอื่นๆ ทั้ง 72 ฉบับ ที่ใช้คำว่า “คู่สมรส” อยู่แล้ว รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่แม้จะยังคงใช้คำว่า “สามี-ภรรยา” ตามมาตรา 67 ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม (พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567)
“มาตรา 67 บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรส ที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมายหรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา หรือสามีภริยาไว้แตกต่างกัน”
สืบเนื่องจากมาตรา 67 วรรค 2 จึงนำไปสู่มาตรา 68 ที่กำหนดให้บรรดาหน่วยงานราชการต้องพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ที่มี เพื่อปรับแก้ให้สอดคล้องกับสมรสเท่าเทียม ครอบคลุมคู่สมรส LGBTQIAN+ และหากพบว่า “กฎหมายหรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา หรือสามีภริยาไว้แตกต่างกัน” ต้องทำรายงานแจ้งต่อคณะรัฐมนตรี ภายในกรอบระยะเวลา 180 วัน นับตั้งแต่สมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ วันที่ 23 ม.ค. 2568 ซึ่งเท่ากับว่าจะสิ้นสุดกรอบระยะเวลาภายในวันที่ 21 ก.ค. 2568
“มาตรา 68 ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยาสามีภริยา หรือคู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรสด้วย
ให้หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการทบทวนตามวรรคหนึ่ง เสนอผลการทบทวนพร้อมทั้ง ร่างกฎหมายในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ”
อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า มาตรา 67 เป็นมาตราที่แก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ทันที เพื่อให้สอดคล้องกัน เรียกว่า “automatic change” ให้คู่สมรสเท่าเทียมมีสิทธิอัตโนมัติเท่าเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิง เป็นเทคนิคเพื่อไม่ต้องแก้กฎหมายจำนวนมาก กล่าวคือ ที่ไหนมีคำว่าสามี-ภรรยา ที่นั่นก็ต้องเข้าใจว่าเป็นคู่สมรส ซึ่งรวมถึงคู่สมรส LGBTQIAN+ ด้วย
“หากด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ กฎหมายไทยยังให้ความสำคัญกับเพศชายมากกว่า สิทธิ หน้าที่จึงไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ในกฎหมายที่เป็นอยู่เดิม พอคู่สมรสเท่าเทียม ชาย-ชาย หญิง-หญิง เข้าไปสวม จึงเกิดปัญหาว่าจะไปสวมฝั่งไหน ชาย-ชายฝั่งไหน หรือหญิง-หญิงฝั่งไหนจะไปรับประโยชน์ หรือไปแบกรับภาระ ด้วยสภาพทางกฎหมายที่ มันไม่เท่ากันอยู่แล้ว จึงไม่สามารถเกิด automatic change ได้”
ดังนั้น จึงมีเพียง 3 กฎหมายที่ถูกจับตามองมากที่สุด ได้แก่ พ.ร.บ.อุ้มบุญ, พ.ร.บ. สัญชาติ, และ บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ที่สัมพันธ์กับสิทธิบทบาทหน้าที่คู่สมรสโดยตรง แต่บางมาตราบัญญัติบทบาทหน้าที่บางเพศให้แตกต่างกันเป็นการเฉพาะ
ด้วยกรอบเวลาที่ใกล้เข้ามา (21 ก.ค. 2568) นำไปสู่ข้อกังขาของสาธารณชนว่า เหตุใดยังไม่มีข่าวหรือแถลงใด ๆ จากทั้งกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการปฏิบัติตามกฎหมายภายในกรอบเวลา 180 วัน เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ. อุ้มบุญ (พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้คู่สมรส LGBTQIAN+ มีสิทธิตามกฎหมาย เสนอ ร่างพ.ร.บ. อุ้มบุญ ฉบับที่ 2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เมื่อร่างกฎหมายที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้รับความเห็นชอบ จะมีการทำประชาพิจารณ์และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
“180 วัน ไม่น้อยไป คือเท่ากับระยะเวลา 6 เดือน หรือครึ่งปี แค่ทบทวนกฎหมาย รายงานผลกระทบต่อคณะรัฐมนตรี แล้วก็ร่างกฎหมาย หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขแค่นั้น กฎหมายไม่ได้บอกว่า 180 วัน กระบวนการแก้ไขกฎหมายต้องแล้วเสร็จ มันเป็นเพียงงานที่อยู่ในหน้าตักของส่วนราชการเท่านั้นเอง” อานนท์ มาเม้า ระบุถึงประเด็นกรอบเวลา
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
ในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 40 ที่ระบุถึง เงินได้ที่บุคคลต้องเสียภาษี เช่น ค่าจ้างแรงงาน เงินจากหน้าที่หรือตำแหน่ง ค่าแห่งลิขสิทธิ์ ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล ซึ่งได้ระบุให้ผู้ชายมีภาระเสียภาษีมากกว่าฝ่ายหญิงว่า
“เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้มีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดา แต่ถ้าความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือของมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของบิดาในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน”
เท่ากับว่ารายได้บางรายการของลูกเป็นภาระหน้าที่ของผู้ปกครองฝ่ายชายต้องผิดชอบ หากนำสมรสเท่าเทียมมาปฏิบัติใช้ ในกรณีคู่สมรสชาย-ชาย จึงเกิดปัญหาในการตีความว่าชายฝ่ายใดจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
กรณีที่คู่สมรสต่างชาติต้องการมีสัญชาติไทย ต้องทำเรื่องขอสัญชาติ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 หากแต่ในมาตรา 9 ของกฎหมายนี้ ระบุสิทธิในการขอสัญชาติอย่างไม่สมมาตรระหว่างชายหญิงต่างชาติว่า หญิงต่างด้าวที่ได้สมรสกับชายสัญชาติไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกระทรวง กฎกระทรวง (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ที่เน้นถึงหญิงต่างด้าวที่สมรสกับชายชาวไทยและต้องการขอสัญชาติไทย หากแต่ไม่ได้ระบุถึงชายต่างด้าวที่สมรสกับหญิงไทยและต้องการของสัญชาติไทย
จากรายงานสถิติจำนวนทะเบียนสมรสของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติ
ประจำปี 2565
- คู่ชายไทยกับหญิงต่างชาติ 1,525 คู่
- คู่หญิงไทยกับชายต่างชาติ 7,658 คู่
ประจำปี 2566
- คู่ชายไทยกับหญิงต่างชาติ 2,611 คู่
- คู่หญิงไทยกับชายต่างชาติ 8,687 คู่
ประจำปี 2567
- คู่ชายไทยกับหญิงต่างชาติ 2,704 คู่
- คู่หญิงไทยกับชายต่างชาติ 8,822 คู่
และระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคมปี 2568
- ชายไทยกับหญิงต่างชาติ 1,300 คู่
- หญิงไทยกับชายต่างชาติ 3,917 คู่
- ชายไทยกับชายต่างชาติ 290 คู่
- หญิงไทยกับหญิงต่างชาติ 89 คู่
เห็นได้ชัดว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหญิงไทยจดทะเบียนสมรสกับชายต่างชาติมีจำนวนมากกว่าชายไทยจดทะเบียนกับหญิงต่างชาติ ราว 3-5 เท่า เท่ากับว่าหากกรมการปกครองยังนิ่งเฉย จะมีประชากรที่ได้สิทธิและโอกาสไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
LGBTQIAN+ ทำอย่างไรเมื่อหน่วยงานราชการนิ่งเฉย
ตลอดระยะเวลา 180 วัน ที่แต่ละหน่วยต้องพิจารณากฎหมายนั้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้แก่
- อนุทิน ชาญวีรกูล ตั้งแต่ 3 ก.ย. 2567 สิ้นสุดวาระ 19 มิ.ย. 2568
- ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน) ระหว่าง 19-30 มิ.ย. 2568
- ภูมิธรรม เวชยชัย ตั้งแต่ 30 มิ.ย. 2568 – ปัจจุบัน
โดยมี อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ เป็นอธิบดีกรมการปกครอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- เศรษฐา ทวีสิน ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2566 สิ้นสุดวาระ 27 เม.ย. 2567
- พิชัย ชุณหวชิร ตั้งแต่ 27 เม.ย. 2567 – ปัจจุบัน
โดยมี ปิ่นสาย สุรัสวดี เป็นอธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน
ในกระบวนการกระตุ้นเตือนให้อธิบดีและรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น อานนท์ มาเม้า กล่าวว่าประชาชนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง
- ทางการเมือง ทำได้เลยในทันที ไม่มีภาระขั้นตอนทางกระบวนการ ด้วยการประท้วงเรียกร้อง ยื่นเอกสารเปิดผนึก หากแต่ไม่เกิดผลบังคับทางกฎหมาย
- ทางกฎหมาย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ตามกฎหมาย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (2)
“คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”
หากแต่ผู้ยื่นฟ้องจะต้องอธิบายว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร และมีภาระในการดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้ศาลออกคำสั่งให้หน่วยงานดำเนินการ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอาจจะดำเนินการจนแล้วเสร็จก่อนศาลมีคำพิพากษา การฟ้องศาลปกครองจึงเป็นการกระทุ้งให้หน่วยงานปฏิบัติตามหน้าที่ มากกว่าหวังผลในทางคดี
แต่อันที่จริงแล้ว ในเมื่อความไม่เท่าเทียมปรากฎให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในตัวบทกฎหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนประชาชนและนิติบัญญัติสามารถเสนอแก้กฎหมายจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ. ได้เลยในทันที เพราะหากให้หน่วยงานราชการนั้น ๆ ทำหน้าที่เสนอรายงานต่อ ครม. เพื่อพิจารณา จากนั้นจึงทำร่าง พ.ร.บ. เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้สภาลงมติตามกลไก ย่อมใช้เวลานานกว่า สส. ทำร่าง พ.ร.บ. เองแล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศในกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สส. อยู่แล้ว
อาจกล่าวได้ว่า คุณูปการอย่างหนึ่งของสมรสเท่าเทียมคือ ช่วยให้กฎหมายที่มีอยู่เดิม ที่ไม่เสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ได้ถูกเร่งรัดแก้ไขให้เกิดความเท่าเทียมขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ส่องชีวิต LGBTQIA+ หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียม
- กม.สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว แต่เด็กยังถูกเลือกปฏิบัติ
- แก้กฎหมาย ”อุ้มบุญ” เพิ่มสิทธิ LGBTQ+ เข้าถึงบริการ