บทความชิ้นนี้ ชวนผู้อ่านมาทบทวนเหตุการณ์สำคัญของการดูแลแบบประคับประคองในไทย การเดินทางตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา วงการการดูแลแบบประคับประคองไทยผ่านร้อน ผ่านหนาวอะไรมาบ้าง และทำไมการมรณภาพของพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจึงเดินทางมาสู่นโยบายระดับประเทศ
ยุคที่ 1 รุ่งอรุณแห่ง Palliative Care (ก่อน พ.ศ. 2547) มรณภาพของพุทธทาสภิกขุ
“เราจะไม่หอบสังขารหนีความตาย จะขอตายตามธรรมชาติ อย่าใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่าใส่ท่อใส่สายยาง เจาะนั่นเจาะนี่” – พุทธทาสภิกขุ
นี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวความขัดแย้ง ว่าด้วย “ความตาย” ของพระธรรมโกศาจารย์ หรือ พุทธทาสภิกขุ
ความป่วยไข้ของท่านพุทธทาสภิกขุเกิดขึ้นปี พ.ศ. 2516 ลูกศิษย์ลูกหาพาเข้า – ออก โรงพยาบาลเรื่อยมา จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2534 อาการทรุดหนักด้วยภาวะหัวใจวาย และน้ำท่วมปอด
นี่เป็นครั้งแรกที่เริ่มเกิดข้อถกเถียงภายในว่าควรจะนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือกลับมารักษาตัวที่สวนโมกข์
พระธรรมโกศาจารย์ หรือ พุทธทาสภิกขุ[1]
กระทั่งปี พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสเริ่มมีอาการทรุดหนักอีกครั้งด้วยภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ฝั่งลูกศิษย์ยืนหยัดนำท่านกลับวัดและปฏิเสธการยื้อชีวิตใด ๆ โดยตามคำพูดของพุทธทาสที่ว่า “ไม่หอบสังขารหลีกหนีความตาย” ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของแพทย์ ข้อถกเถียงนี้ปะทุขึ้นเป็นวงกว้าง จนกระทั่งเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต
แม้ลูกศิษย์สามารถนำท่านกลับวัดเพื่อเตรียมจัดการร่างที่สวนโมกข์ได้ดั่งปรารถนา แต่จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อทีมแพทย์เดินทางมาที่สวนโมกข์เพื่อขอรับท่านไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โดยชี้แจ้งว่าจะไม่มีการผ่าตัด หรือเจาะใด ๆ และยังสามารถทำให้ท่านฟื้นคืนมาอย่างมีคุณภาพ
ท่านพุทธทาสถูกนำเข้าสู่กระบวนการรักษาอีกครั้งในห้องไอซียู โรงพยาบาลศิริราช รวม 41 วัน และได้รับการเจาะคอเพื่อยื้อชีวิต ซึ่งถือว่าสวนทางกับเจตนารมณ์ของท่าน จนกระทั่งมรณภาพลงในวันที่ 8 ก.ค. 2536
การมรณภาพของท่านพุทธทาสนำมาสู่การตั้งคำถามของสังคมในวงกว้าง ถึงเรื่องสิทธิในการตัดสินใจของผู้ป่วยในวาะสุดท้าย ว่าแท้จริงแล้ว เนื้อตัวของเรานี้ ใครเป็นเจ้าของชีวิต และเป็นสิทธิของใครกันแน่จนถึงปัจจุบัน
สุภาพร พงษ์พฤกษ์–ความตายของนักเคลื่อนไหว ขอมีวาระสุดท้ายในอ้อมกอดคนที่รัก
อีกหนึ่งบุคคลที่เป็นหมุดหมายสำคัญ คือ “สุภาพร พงษ์พฤกษ์” นักฝึกอบรม นักเขียน นักแปล และครูสอนโยคะ
สุภาพรเผชิญกับโรคมะเร็งเต้านม แต่กลับปฏิเสธเข้าการรักษาในโรงพยาบาลตามแบบฉบับแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เลือกดูแลตัวเองด้วยวิถีธรรมชาติ เน้นการปฏิบัติธรรม ภาวนา ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือแม้แต่การเดินชมเดือดดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน
สุภาพร พงษ์พฤกษ์[2]
ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต สุภาพรเลือกที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้านแทนโรงพยาบาล โดยรายล้อมไปด้วยครอบครัวและกัลยาณมิตรที่รัก ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลไม่ขาดสาย และยังได้รับการดูแลจาก นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาที่บ้าน
สุภาพรต่อสู้กับมะเร็งร้ายยาวนาน 11 ปี จนกระทั่งจากไปอย่างสงบท่ามกลางคนที่รัก ณ “บ้านถั่วพู” บ้านของเธอเอง ในวันที่ 18 ต.ค. 2546[1]
กรณีของสุภาพร ยิ่งย้ำเตือนให้สังคมเห็นว่า เส้นทางความตายของคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องจบที่โรงพยาบาล แต่สามารถเดินทางไปพร้อมกับครอบครัว กัลยาณมิตร ชุมชน หรือแม้แต่ผู้คนที่อยู่รอบกายได้อย่างดี และกลายเป็นบทเรียนสำคัญของสังคมว่าการดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายสามารถเกิดขึ้นได้ที่บ้าน ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน และส่งผู้ป่วยได้ตายดีอย่างสมศักดิ์ศรี
ครอบครัว และ โรงพยาบาล ความเห็นต่างที่รอวันคลี่คลาย
จากงานศึกษา “การทบทวนกระบวนทัศน์เรื่องความตายและมิติแห่งสุขภาวะ” ในปี พ.ศ. 2546 โดย ธนา นิลชัยโกวิทย์ และคณะ พบว่า มุมมองการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของบุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวยังไม่ตรงกัน โดยฝั่ง “แพทย์” มองว่า นี่คือภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้อีกต่อไป แค่ต้องให้ยาควบคุมอาการ และให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวเพื่อให้การยอมรับ
แต่ในมุมของ “ครอบครัว” จะมุ่งเน้นมิติทางใจมากกว่า มีการขออโหสิกรรม จัดการเรื่องที่ค้างคาใจ ให้กำลังใจ รวมถึงช่วยดูแลความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันจนไปถึงการจัดพิธีศพ[2]
จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานี้ของไทย มุมมองของบุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวไม่ได้มองเห็นเรื่องการดูแลแบบประคับประคองไปในทิศทางเดียวกันเท่าใดนัก
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีองค์กรที่ดูแลแบบประคับประคองแล้วทั้งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (เช่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช ฯลฯ) โรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช) และโรงพยาบาลเอกชน (โรงพยาบาลเซนส์หลุยส์, St.Claire’s Hospice) เป็นต้น
ยุคที่ 2 สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา (พ.ศ. 2547-2555)
ในยุคนี้ เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาชนมากขึ้น จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน
จุดเริ่มต้นสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มีการจัดประชุม “Palliative Care: From Principles to Practice in Thailand” จ.สงขลา นับเป็นการประชุมวิชาการเรื่องการดูแลแบบประคับประคองอย่างจำเพาะเจาะจงครั้งแรกในประเทศไทย[5]
ผลผลิตจากการประชุมนี้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์รวมตัวกันทำงานอย่างแข็งแรง จนเกิดเครือข่าย Palliative Care ที่เรียกว่า “Medical Schools-Palliative Care Network, MS-PCARE” ภายใต้แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาพ ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ใน ปี พ.ศ. 2552
เครือข่าย MS-PCARE ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งก่อให้เกิดร่างหลักสูตร Palliative Care ที่ปรับให้เข้ากับหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (พ.บ.) และถูกนำไปใช้ในในโรงเรียนแพทย์ 18 สถาบัน
การเกิดเครือข่ายนี้ นอกจากจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบมากขึ้นแล้ว (จากที่เดิมต่างคนต่างทำ) เครือข่ายนี้ยังมีบทบาทสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ ดังที่จะกล่าวในส่วนต่อไปด้วย
จากอาสาข้างเตียง–อาทิตย์อัสดง สู่การเดินหน้าของภาคประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ
ในช่วงเวลานี้เอง ที่ภาคประชาชนเริ่มเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของประเทศ
ปี พ.ศ. 2546 “เครือข่ายพุทธิกา” โดยพระไพศาล วิสาโล ร่วมกับเสมสิกขาลัย พัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการในชื่อ “เผชิญความตายอย่างสงบ” เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการดูแลแบบประคับประคองที่ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่กับการผลิตสื่อ เวทีสาธารณะ และพัฒนาเครือข่ายแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลไปพร้อมกัน[6]
โครงการ “เผชิญความตายอย่างสงบ” ดำเนินเรื่อยมา สามารถสร้างอาสาสมัครผู้ดูแลผู้ป่วยผ่านการอบรมเป็นจำนวนมาก แต่ยังคงติดปัญหาการขาดพื้นที่ทำงาน จึงนำมาสู่การเกิดโครงการ “อาสาข้างเตียง” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549
นอกจาก โครงการ “อาสาข้างเตียง” จะเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่การทำงานให้เหล่าอาสาสมัครแล้ว ยังกลายเป็นข้อต่อสำคัญ หรือ คนกลาง ในการเชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ในวงล้อมของผู้ป่วยด้วย แต่การสื่อสารจะสมบูรณ์แบบไม่ได้เลย หากขาดพื้นที่แห่งความรู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ ข่าวสาร และงานเชิงวิชาการ
ปี พ.ศ. 2552 เครือข่ายพุทธิกาจัดทำ “จดหมายข่าวอาทิตย์อัสดง” ภายในบรรจุข้อเขียน บทความวิชาการ บทสัมภาษณ์ หรือแม้แต่บทกวี มุ่งให้ผู้อ่านทำความเข้าใจงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ความตาย หรือแม้แต่ความหมายของชีวิต
จดหมายข่าวฯ ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องราย 3 เดือน รวมทั้งหมด 29 ฉบับ และปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2559 รวมระยะเวลาเพียง 8 ปี แต่กลับสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้คนหันมาสนใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและตระหนักรู้เรื่องความตายอย่างสงบจนถึงปัจจุบัน
โครงการ “เผชิญความตายอย่างสงบ” ดำเนินต่อเนื่องมาได้ 5 ปี สร้างเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองขึ้นมากมาย แต่กลับพบจุดติดขัดในการทำงานบางประการ คือ
- บุคลากรไม่สามารถทำงานประคับประคองได้เต็มที่ เนื่องจากภาระงานในโรงพยาบาลมีมาก และไม่ได้มีมาก และการดูแลแบบประคับประคองไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในระบบการทำงานหลัก
- เพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจกระบวนการดูแลแบบประคับประคองที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์
- ผู้นำองค์กรไม่ให้การสนับสนุน
- ไม่มั่นใจในองค์ความรู้และประสบการณ์
จากข้อสรุปดังกล่าวทำให้เห็นว่า โรงพยาบาลเองคงไม่สามารถแบกรักการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้ครบทุกมิติ โดยเฉพาะมิติทางจิตวิญญาณ
ทางพุทธิกาจึงเล็งเห็นว่าควรต้องมีตัวช่วย นั่นคือ “ชุมชน” เนื่องจากมองว่าสังคมไทยมีต้นทุนทางศาสนาอยู่มาก และมี บุคคลที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยได้ เช่น พระสงฆ์ นักบวช แม่ชี รวมถึงอาสาสมัคร พวกเขาเหล่านี้จะช่วยลดภาระให้แก่โรงพยาบาลได้ แต่ปัญหาคือยังขาดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
ปี พ.ศ. 2554 เครือข่ายพุทธิกา จึงจัด “โครงการเสริมบทบาทประสงฆ์ โรงพยาบาล ชุมชน ในการเยียวยาผู้ป่วยเรื่อรังและระยะสุดท้าย” และดำเนินกิจกรรมอีกเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อ “โครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ในปี พ.ศ. 2557
โครงการดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาล ชุมชน และวัด ทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคองร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
บทบาทของพุทธิกาตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจึงถือว่าเป็นการเดินหน้าของภาคประชาชนที่สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลให้กับสังคมไทย
ภาครัฐกระเตื้อง ยกเป็นมาตรฐาน เกิดโครงการนำร่อง และ กำเนิด Living Will
ในขณะที่ฝั่งภาครัฐ เริ่มเกิดนโยบายระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยมี 3 เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ได้แก่
- สถาบันรับรองคุณภาพสภานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) นำเอา “การดูแลแบบประคับประคอง” เข้ามาเป็นหนี่งใน “มาตรฐาน” การประเมินคุณภาพสถานบริการสุขภาพ ทำให้แต่ละสถานพยาบาลเกิดการเคลื่อนไหวและตื่นตัวอย่างชัดเจน
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกิดโครงการพัฒนาการดูแลคนไข้ระยะท้าย มีกิจกรรม “มิตรภาพบำบัด” หรือ “เพื่อนช่วยเพื่อน” และจิตอาสา และกำหนดให้ทุกเขตสนับสนุนรพ.ในพื้นที่ทำโครงการนำร่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในปี พ.ศ. 2553 ด้วย
- พ.ร.บ.สุขภาพห่างชาติ พ.ศ. 2550 มีเนื้อหาสนับสนุนเรื่องการดูแลแบบปรับประคองอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 12 ที่ว่าด้วยการเปิดโอกาสให้คนไข้สามารถปฏิเสธการรักษาเพื่อการยื้อชีวิตได้
โดยเฉพาะการบรรจุเนื้อหาเรื่องการดูแลประคับประคอง ตาม ม. 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ระบุถึงสิทธิของผู้ป่วยในการแสดงเจตนาล่วงหน้าในการไม่ประสงค์รับการรักษาเพื่อยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย เกิดเป็น “หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต” หรือ “Living Will” แก่ประชาชน เพื่อยืนยันว่า “การตายดีเป็นสิทธิของทุกคน”
ยุคที่ 3 การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
ในช่วงเวลานี้ องค์ความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคองเริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้าง แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว คือ การที่ไทยได้รับการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมนานาชาติ “Asia Pacific Hospice Conference (APHC)” ในปี พ.ศ. 2556
ผลพวงจากงานนี้ผลักดันให้เกิดระบบการการดูแลแบบประคับประคองในทวีปเอเชียหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และและฟิลิปปินส์[7] รวมทั้งไทยด้วย
หากยังจำเครือข่าย Palliative Care ในโรงเรียนแพทย์ (MS- PCARE) ที่กล่าวถึงในข้างต้นได้ (ยุคที่ 2) ตอนนี้เครือข่ายได้จดทะเบียนเป็น “สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Thai Palliative Care Society, THAPS)” ในปี พ.ศ. 2555 เป็นที่เรียบร้อย เพื่อใช้สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APHC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีถัดไป
การที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพในงานประชุมดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดการผลักดันระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในไทย เกิดเป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือ “โครงการสร้างความตระหนักเรื่องวิถีสู่การตายอย่างสงบ (ความตายพูดได้)” ที่ดำเนินการโดย พุทธิกา
เมื่อ “ความตายพูดได้”
แม้ในช่วงเวลานี้การดูแลแบบประคับประคองจะเริ่มถูกพูดถึงมากแล้ว แต่ยังพบว่าในประเทศไทยมีองค์ความรู้เรื่องนี้น้อยเกินไปและเข้าถึงเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจเฉพาะในวงแคบเท่านั้น
เรื่องนี้ถูกนำกลับมาทบทวนกันใหม่ และพบว่า “ความตาย” ไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องน่าหวาดกลัว หรือถูกยึดโยงกับศาสนาเท่านั้นอีกต่อไป
แต่ “ความตาย” ควรเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ง่าย ๆ สบาย ๆ ต่างหาก จึงนำมาซึ่งการร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชน โดยดึงเอาคนทำสื่อและโฆษณาเข้ามาร่วม เกิดเป็นวิธีการสื่อสารที่เป็นมิตรมากขึ้นอย่าง บทเพลง คลิปวิดดีโอ เกมไพ่ไขชีวิต และสมุดเบาใจ เป็นต้น
ตุลาคม พ.ศ. 2556 เครือข่ายพุทธิกา และ THAPS จัดกิจกรรม “Before I Die พร้อมก่อนตาย” ที่ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิลด์ คู่ขนานกับงานประชุมวิชาการ APHC งานในครั้งนั้นไ้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก
4 ปี ต่อมา (มิถุนายน พ.ศ. 2560) เกิดกิจกรรมสำคัญอีกครั้ง คือ “Happy Deathday – งานที่จะเปลี่ยนวันตายให้กลายเป็นวันสุข” โดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับภาคี 18 แห่ง ร่วมกับภาครัฐและเอกชน
งานนี้มีเพียงแต่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลามเท่านั้น แต่ยังยกระดับให้ “ความตาย” กลายเป็นหัวข้อพูดคุยในที่สาธารณะอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ดูแล
ด้วยการสื่อสารที่เป็นมิตรและเนื้อหาที่แข็งแรงทั้งหมดนี้ เปรียบเสมือนหินก้อนใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมบนหน้าน้ำอันสงบนิ่ง และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญ จนทำให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มอิสระในชื่อ “Peaceful Death – ชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี” โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
รวบรวม “วิทยานิพนธ์ก่อนตาย” กำเนิด “ศูนย์การุณรักษ์” และหลักสูตรแพทย์เฉพาะทาง
ในฟากฝั่งวิชาการ นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการ “สร้างและจัดการความรู้ระบบบริการสาธารณสุขที่สร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายตามบริบทประเทศไทย”
เกิดชุมชนออนไลน์ของนักปฏิบัติงาน และมีการรวมรวมจัดทำฐานข้อมูลทางวิชาการจนเกิดเป็น “วิทยานิพนธ์ก่อนตาย” ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2523-2559
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ “ศูนย์การุณรักษ์” โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553 โดยมี รศ. พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย หรือ THAPS เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ
ศูนย์การุณรักษ์ เป็นหนึ่งในสถาบันที่มีความโดดเด่นเรื่องการดูแลผู้ป่วยประคับประคองอย่างคบวงจร และเป็นต้นแบบในการนำยากลุ่ม opioid (ยาระงับปวดจากโรคมะเร็ง) ออกไปใช้นอกโรงพยาบาลได้เป็นแห่งแรก ทำให้การดูแลแบบประคับประคองสามารถทำได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
ปี พ.ศ. 2556-2557 ศูนย์การุณรักษ์ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. เขตสุขภาพที่ 7 และสสส. ในการอบรมแพทย์ พยาบาล จนเกิดเป็นเครือข่ายแข็งแรงครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลและมีแนวทางปฏิบัติไปในทิศทายเดียวกันได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และยังตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยหรือครอบครัวที่ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้านแทนรพ.
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการจัดอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการดูแลแบบประคับประคอง รวมถึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก “สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” ทำให้องค์ความรู้นี้เป็นที่รู้จักในวงการแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น ๆ มากขึ้น
ด้วยความก้าวหน้านี้ ทำให้ในปี พ.ศ. 2562 เกิดหลักสูตร แพทย์เฉพาะทางด้าน “การดูแลแบบประคับประคอง” หลักสูตร 1 ปี ขึ้น โดยปัจจุบันมีสถาบันที่เปิดสอนแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สู่นโยบาย “สถานชีวาภิบาล” ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
พ.ศ. 2566 กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ “นโยบายสถานชีวาภิบาล” โดยนำเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Care) ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (Long term Care) และผู้ป่วยประคับประคอง (Palliative Care) มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
กลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน คือ การตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาชีวาภิบาล ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีจุดเด่นเรื่องการทำงาน “ชุมชน” เป็นหลัก
กล่าวคือ นโยบายชีวาภิบาลจะไม่ได้ดูแลแต่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่การดูแลจะครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยในชุมชน ทั้งในระยะยาว ระยะท้าย จนถึงการเสียชีวิต (แม้ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล) โดย ประเภทของคำว่า “สถานชีวาภิบาล” แบ่งได้ ดังนี้
- บ้านชีวาภิบาล หรือ หอผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward, Hospital at Home) หรือ บ้าน ที่ถูกปรับปรุงให้ตรงตามมาตรฐาน ผู้ป่วยในสถานที่นี้จะได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านจากโรงพยาบาลและการปรึกษาทางไกล รวมถึงมีบริการผู้ดูแลหรืออาสานักบริบาลท้องถิ่นจากระบบการดูแลระยะยาว (Long Term Care) ด้วย
- สถานชีวาภิบาลในชุมชน เช่น ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้มีโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ชัดเจน สำหรับการส่งต่อและปรึกษาการดูแล โดยศูนย์ที่ได้รับการประเมินเป็นสถานชีวาภิบาลแล้ว ได้แก่ ศพส.บางแค ศพส.บ้านบางละมุง จ.ชลบุรี เป็นต้น
- Nursing Home ชีวาภิบาล เป็นรูปแบบการจัดบริการร่วมระหว่างสถานดูแลผู้สูงอายุเอกชน กับ สปสช. ที่หากผ่านเกณฑ์รับรองเป็นสถานชีวาภิบาลแล้ว จะได้รับอุดหนุนเงินค่าดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ตามมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- กุฏิชีวาภิบาล มีการพัฒนา “พระคิลานุปัฎฐาก” หรือพระผู้ดูแล (Care Giver) เพื่อดูแลพระอาพาธในระยะท้าย ให้สามารถมีช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตได้ที่กุฏิของท่านโดยมีระบบดูแลสุขภาพให้การสนับสนุน
ตลอด 20 ปี ของเส้นทางการดูแลแบบประคับประคองในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่า ผู้คนในสังคมไทยเริ่มมีความเชื่อมั่น และมองเห็นทิศทางในการดูแลผู้คนในสังคมในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัว ได้รับการดูแลทั้งมิติทางร่างกายและจิตวิญญาณอย่างดีที่สุด เพื่อให้ได้ชีวิตตามเจตนารมณ์อย่างสมศักดิ์ศรี และส่งให้ผู้ป่วยออกเดินทางครั้งสุดท้ายได้อย่างใจหวัง หรือที่เรียกว่า “ตายดี”
อ้างอิง:
[1] อ้างอิงรูปภาพ http://www.cicc.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=339:2019-09-14-14-25-10&catid=83&Itemid=482
[2] อ้างอิงรูปภาพ https://www.youtube.com/watch?v=OzmgS4k8Rbs
[3]พระไพศาล วิศาโล. สุภาพร พงศ์พฤกษ์ [อินเทอร์เน็ต]. 2546 แหล่งข้อมูล: https://www.visalo.org/article/person23Supaporn.htm
[4] ธนา นิลชัยโกวิทย์, วริสรา กริชไกรวรรณ, วรรณา จารุสมบูรณ์, พรเลิศ ฉัตรแก้ว. การทบทวนกระบวนทัศน์เรื่องความตายกับมิติแห่งสุขภาวะ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.); 2546.
[5] เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี. ลำดับเหตุการณ์สำตัญเรื่องการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในประเทศไทย. ใน : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. คู่มือผู้ให้บริการสาธารณสุข กฎหมายและแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลป฿วยระยะท้าย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ; 2560. หน้า 51-5.
[6] โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรอบรมและกระบวนการด้านจิตตปัญาศึกษา. ชุดความรู้การอบรมกระบวนการแนวจิตตปัญญาศึกษา เล่ม 8 การเผชิญความตายอย่างสงบ. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้; 2551.
[7] เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี. บันทึกคนสานเครือข่าย MS-PCARE 14: อีกหนึ่งก้าวสำคัญ [อินเทอร์เน็ต] แหล่งข้อมูล https://www.gotoknow.org/posts/315902