คริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เข้าพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามและสานต่อความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน ภายหลังการหารือทวิภาคีของทั้งสองฝ่ายในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษฯ ณ นครเมลเบิร์น เมื่อเดือนมี.ค. ผ่านมา โดยเฉพาะด้านการเกษตรอัจฉริยะและปศุสัตว์ ซึ่งไทยต้องการรับความช่วยเหลือจากนิวซีแลนด์
โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ เน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันและการจัดทำแผนงานร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในปี 2569 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์
ไทย-นิวซีแลนด์ ลงนามยกระดับสร้างความร่วมมือทุกด้าน
ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือร่วมกัน และลงนามความตกลงร่วมกัน 2 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (Strategic Partnership) ในปี 2569 หรือเร็วว่านั้น ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เพื่อผลักดันความร่วมมือในทุกมิติ และบรรลุความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเต็มศักยภาพ
2. ส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยเฉพาะความคืบหน้าของแผนความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ และการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์และยาเสพติด ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงการก่อการร้าย และแนวคิดสุดโต่ง
3. ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยไทยและนิวซีแลนด์ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 3 เท่า ภายในปี 2588 ซึ่งจะสอดคล้องกับความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย – นิวซีแลนด์ (Thai – New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZCEP) ที่เพิ่มพูนการค้าทวิภาคีของทั้งสองฝ่ายมาตั้งแต่ปี 2548
4. การส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน โดยมีคนไทยอยู่ในนิวซีแลนด์ประมาณ 13,000 คน และยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านการศึกษายอดนิยมของนักเรียนไทย จึงเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านการศึกษา และวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
สำหรับด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรา และการกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์มาไทยเป็น 100,000 คน และนักท่องเที่ยวชาวไทยไปนิวซีแลนด์เป็น 40,000 คน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมแสวงหาความร่วมมือและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของกันและกัน ในด้านการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regenerative Tourism) รวมทั้งการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ (movie-induced tourism)
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความยั่งยืน และความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยไทยยินดีต่อความตั้งใจของนิวซีแลนด์ในการเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน – นิวซีแลนด์ รวมถึงความตั้งใจของนิวซีแลนด์ในการผลักดันความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์ สู่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ภายในปี 2568
นายกฯไทยหารือเอกชนนิวซีแลนด์ ดึงดูดการลงทุน-เพิ่มนักท่องเที่ยว
โดยนายกรัฐมนตรี ยังได้หารือกับคณะภาคเอกชนนิวซีแลนด์ โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยเสริมสร้างโอกาสการลงทุนในไทยได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมและโครงการเป้าหมายของไทย รวมถึงในโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
ด้านการเกษตร บริษัท Fonterra สหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ เห็นพ้องถึงการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย หรือฟาร์มขนาดเล็ก การสร้างแหล่งทรัพยากรน้ำให้เพียงพอ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างเท่าเทียมกัน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหลักการสำคัญควรคำนึงถึงการสร้างความไว้วางใจ และการเพิ่มบทบาทให้กับเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ บริษัท Fonterra ได้แนะนำถึงการทำงานร่วมกับบริษัทผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ในระดับโลกเพื่อสร้างตลาดและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผ่านการรวมกลุ่มสหกรณ์รายย่อยทั้งหมด สู่สหกรณ์โคนมที่ใหญ่ระดับชาติเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังต่างประเทศ
ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นพ้องถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตรกรรม โดยไทยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งการทำนาข้าวของไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนด้วย ขณะที่นิวซีแลนด์กล่าวถึงการมี AgriZero NZ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และเกษตรกร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคปศุสัตว์ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพต่าง ๆ เช่น การตัดต่อพันธุกรรมของหญ้าที่มีอัตราการปล่อยก๊าซต่ำ ซึ่งสามารถขายเชิงพาณิชย์ได้ โดยไทยพร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางทั้งในด้านนวัตกรรมการเกษตรและการศึกษาวิจัย
ด้านพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไทยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและต้องการครอบคลุมระบบนิเวศทั้งหมด (Ecosystem) ทั้งการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แบตเตอรี่ และอื่น ๆ ที่สามารถผลิตจากวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ ขณะที่บริษัทจากนิวซีแลนด์ เช่น บริษัท Morrison ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ให้ความสนใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การลงทุนในพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในไทย บริษัท Hiringa Energy Ltd. บริษัทด้านพลังงานสีเขียวแบบครบวงจร ยินดีที่จะสนับสนุนบริษัทในไทยที่ต้องการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในประเทศ
ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายพร้อมผลักดันให้เกิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทย – นิวซีแลนด์อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างกันได้ทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและการค้า โดย บริษัท Air New Zealand เห็นถึงขีดความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศต่างเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระหว่างกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในปี 2567 นี้ จะเป็นปีแห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีทั้งเทศกาล คอนเสิร์ต และกิจกรรมด้านวัฒนธรรมไทยต่าง ๆ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวได้อีกมาก
ด้านการศึกษา ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติในไทย รวมไปถึงการจัดหลักสูตรและความร่วมมือทางสาขาวิชาชีพ การฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงานการศึกษานิวซีแลนด์พร้อมแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียนแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศด้วย
อ้างอิง : ทำเนียบรัฐบาล