ThaiPBS Logo

ยกแรกกำแพงภาษีทรัมป์2.0 ส่งออกไทยได้ประโยชน์

28 ม.ค. 256816:04 น.
ยกแรกกำแพงภาษีทรัมป์2.0 ส่งออกไทยได้ประโยชน์
  • สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 10% และ 25% กับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา อาจทำให้การส่งออกและ GDP ของไทย เพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +1.65% และ +0.05% ตามลำดับ
  • สหรัฐฯการขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้การส่งออกและ GDP ของจีนลดลงจากกรณีฐาน -2.38% และ -0.08% ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐฯ อาจได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากการส่งออกและ GDP จะลดลงจากกรณีฐานมากกว่าจีนถึงประมาณ 4 เท่า

 

ความกังวลสงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ 2.0 จะลดลง หลังจากสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีเม็กซิโก-แคนนาดา แต่ขึ้นภาษีจีน 10% แต่การเตรียมการของสหรัฐฯชี้ให้เห็นว่าความไม่แน่นอนการค้าทั่วโลกยังสูง แม้ว่าไทยจะได้ประโยชน์ในระยะสั้น

วิจัยกรุงศรี มองว่าจากการประกาศนโยบายทรัมป์ 2.0 ในวันแรก ขณะนี้โลกคลายความวิตกในช่วงสั้นหลังประธานธิปดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่ปรับขึ้นภาษีศุลกากรใน “วงกว้าง” แต่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจทวีความรุนแรง

หากดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังเป็นบวกและความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ เมื่อ 20 ม.ค. 68 โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) หลายฉบับ อาทิ การถอนตัวจากข้อตกลงปารีส องค์การอนามัยโลก (WHO) และข้อตกลง Global Minimum Tax รวมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน และการจัดการผู้อพยพผิดกฎหมาย

แม้ว่า ทรัมป์ยังไม่ได้ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรในวงกว้าง แต่พิจารณาที่จะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าบางประเทศเมื่อ 1 ก.พ. 68 ได้แก่ จีน ในอัตรา 10% เม็กซิโกและแคนาดา ในอัตรา 25% หากว่ายังไม่เร่งแก้ไขปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเฟนทานิลที่ถูกส่งเข้ามายังสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ขู่ที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างมาก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ จีนเผชิญแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เมื่อ 23 ม.ค. 68 สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมาย Restoring Trade Fairness Act เพื่อยกเลิกสถานะ Permanent Normal Trade Relations (PNTR) ของจีน ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากจีน 35% สำหรับสินค้าทั่วไป และ 100% สำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ โดยจะปรับเพิ่มเป็นขั้นบันไดตลอด 5 ปีข้างหน้า

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีน เม็กซิโก และแคนาดาของสหรัฐฯ รอบใหม่ จะทำให้การส่งออกและ GDP ของจีนลดลงจากกรณีฐาน -2.38% และ -0.08% ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐฯ อาจได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากการส่งออกและ GDP จะลดลงจากกรณีฐานมากกว่าจีนถึงประมาณ 4 เท่า

นอกจากนี้ การยกเลิกสถานะ PNTR ของจีนอาจเร่งให้เกิดการแยกตัวทางเศรษฐกิจ (Decoupling) หรือทำให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะข้างหน้าเร็วขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 2568 รัฐบาลจีนจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อชดเชยการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนกำลังลง

ผลต่อเศรษฐกิจไทย

วิจัยกรุงศรีประเมินไทยอาจได้ผลเชิงบวกเล็กน้อยจากกรณีสหรัฐฯเรียบเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนเพิ่ม 10% และ 25% กับเม็กซิโกและแคนาดา ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ระกาศเตรียมพิจารณาปรับขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทั้ง 3 ประเทศข้างต้น โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ. นี้

การประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าโดยใช้แบบจำลองการวิเคราะห์การค้าโลก (Global Trade Analysis Project: GTAP) พบว่ากรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 10% และ 25% กับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา อาจทำให้การส่งออกและ GDP ของไทย เพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +1.65% และ +0.05% ตามลำดับ

แม้ว่าไทยอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม รวมถึงการย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษี แต่ผลบวกกระจุกตัวในบางกลุ่มสินค้าเท่านั้น และที่สำคัญผลลบกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม

นโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีความไม่แน่นอนและอาจสร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอยู่เป็นระยะๆ จึงนับเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

ไทยติดอันดับ 2 ในอาเซียน เป้าหมายนโยบายทรัมป์2.0

ถ้าจีนเจอหนัก ไทยก็หนัก จากผลกระทบนโยบายทรัมป์ 2.0

เทียบ”Trump Effect” จาก “อเมริกาเฟิสต์” ถึง “ยุคทองของอเมริกา”

ที่มา: วิจัยกรุงศรี

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

การค้า

นโยบายการค้าของไทย เผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากสงครามการค้า ทำให้มีความเสี่ยงจากการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งทำให้ไทยต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐ-จีน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางและประสานผลประโยชน์ทุกฝ่าย

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: