เศรษฐกิจการเมืองโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) กับหลายประเทศทั่วโลก ด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า โดยเก็บภาษี 2 ส่วน คือ การเก็บภาษีขั้นต่า (Baseline) 10% ซึ่งจะเรียกเก็บกับสินค้าจากทุกจากประเทศที่สหรัฐนาเข้าสินค้า และ การเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Additional) 10-49% กับหลายประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง
แม้ว่าจะมองว่านโยบายของสหรัฐฯจะบีบให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ช่วยกัน “แก้ปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐ” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยอาศัยอำนาจที่เหนือกว่ากดดัน แต่ในครั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเจรจาของแต่ละประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจอื่น ๆ จะออกมาอย่างไร
ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในตลาดเห็นได้จากในวันแรก หลังสหรัฐฯประกาศมาตรการทางภาษี ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกผันผวนอย่างมาก และยังไม่อาจประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
แบงก์ชาติรอประเมินผลกระทบ
หลังจากสหรัฐฯประกาศมาตรการทางภาษี ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าสหรัฐฯออกแถลงการณ์มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ต่อไทยที่อัตรา 37% โดยจะมีผลตั้งแต่ 9 เม.ย. 68 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าที่คาดไว้
“หลังแถลงการณ์ ความผันผวนในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง ทั้งในหลักทรัพย์และค่าเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ถูกกระทบจากการประกาศขึ้นภาษี ขณะที่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ทองคำ ปรับเพิ่มขึ้น”
ในช่วงปิดตลาดเมื่อ 3 เม.ย. 68 ค่าเงินบาทปรับอ่อนลง 0.28% จากวันก่อนหน้า มาอยู่ที่ 34.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมปรับลดลงประมาณ 0.05% โดยพันธบัตรระยะ 10 ปีอยู่ที่ 1.89% สำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตของไทยสะท้อนผ่าน credit default swaps ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ไทยโดยรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค
ธปท. อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยและช่องทางต่าง ๆ ที่ผลของมาตรการจะถูกส่งผ่านมายังภาคเศรษฐกิจให้ครบถ้วน โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลความผันผวนในตลาดการเงินเพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม
ส.อ.ท.คาดอุตสาหกรรมไทยกระทบหนัก 8-9 แสนล้าน
หลังจากสหรัฐฯออกแถลงการณ์มาตรการทางภาษี ภาคเอกชนได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้มีการประเมินในเบื้องต้นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเจรจาและแก้ไขกฎระเบียบที่อาจทำให้สหรัฐฯใช้เป็นเหตุผลการขึ้นภาษีในระยะต่อไป ซึ่งจากความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนชี้ให้เห็นว่ายังไม่มีการเตรียมความพร้อมใด ๆ นอกจากรอผลกระทบที่เกิดขึ้นและรอการเจรจา
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. ยอมรับว่ามาตรการทางภาษีของสหรัฐ “มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว” และคาดมูลค่าเสียหายประมาณ 8-9 แสนล้านบาท และขอให้สมาชิกสำรวจผลกระทบอีกครั้ง เพื่อหารือกับรัฐบาล
ส.อ.ท. ได้ประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่ได้รับผลกระทบ คือ
- อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือน มี.ค.68 ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
- อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36%
- อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
- อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลง หากมาตรการภาษีของสหรัฐฯยังคงดำเนินต่อไป
- อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง
- กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง เนื่องจากคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ายังคงสามารถรักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้
ประธานส.อ.ท. ระบุว่าที่ผ่านมามีการหารือกับรัฐบาลไปแล้ว แต่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำคือ ต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเหมือนเช่นปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยกสิกรคาดจีดีพีเหลือ 1.4%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2568 เติบโตเหลือ 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4% จากผลกระทบสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของไทย 37% แต่ตัวเลขประมาณการดังกล่าวยังมี Upside และ Downside (บวกและลบ) คืออาจจะปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐ ห่วงระยะเวลา และข้อตกลงที่ได้รับมาจากสหรัฐฯ
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การประกาศเพิ่มภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเกินคาดที่ 37% เป็นการเดินเกมเพื่อเจรจา ซึ่งการขึ้นภาษีนี้จะมีผลในวันที่ 9 เม.ย. ถือว่าค่อนข้างกระชั้นชิด และไทยคงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้เชื่อว่าไทยคงไม่ถูกปรับขึ้นภาษีไปจนสุดที่ 72% เพราะรัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าพร้อมจะเจรจากับสหรัฐฯ และไม่มีของที่จะไปตอบโต้กลับด้วย ส่วนเครื่องมือทางนโยบายของไทย ยังพอมีอยู่ ณ ตอนนี้
โดยรัฐบาลควรใช้นโยบายการค้าและอุตสากรรมในการแก้ปัญหาให้ตรงจุด รวมถึงใช้นโยบายการเงินและการคลังเป็นตัวช่วยเสริม ซึ่งเชื่อว่าเครื่องมือทางนโยบายของไทยยังเพียงพอที่จะรับมือปัญหาในตอนนี้ได้ ตราบใดที่สัดส่วนหนี้สาธาณะต่อจีดีพียังไม่ถึงเพดาน 70% แต่รัฐบาลต้องระมัดระวังการใช้งบประมาณ เพราะพื้นที่ทางการคลังตอนนี้มีเหลืออยู่อย่างจำกัด
ประเด็นอยู่ที่ว่าจะใช้อย่างไร เช่น ปรับโครงสร้างระยะยาว หรือมาตรการเยียวยาระยะสั้น ซึ่งต้องดูหน้างานอีกครั้ง และเมื่อใช้พื้นที่การคลังที่เหลือไปแล้ว รัฐบาลก็ต้องมีความชัดเจนด้วยว่าจะหาเงินมาเพิ่มได้อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นประเด็นความยั่งยืนทางการคลังจะกลับมามีผลต่อความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทย และจะสร้างโจทย์ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกในระยะข้างหน้าเหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้จากผลกระทบดังกล่าว กสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. และจะปรับลดอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 68
เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากภาษีสินค้านำเข้าที่สหรัฐฯเก็บไทยอัตรา 37% เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2568 ประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท
กลุ่มสินค้าที่จะได้รับกระทบทั้งทางตรงและทางอื่น คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เกษตร และอาหาร เมื่อประกอบภาพกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลงเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ (MPI) เสี่ยงจะหดตัวลงกว่าเดิม หรือติดลบ 3.4% ในปี 2568 (เดิมคาดที่ติดลบ 1.0%)
ขณะเดียวกัน แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2568 ลงมาที่ 35.9 ล้านคน จากเดิมคาด 37.5 ล้านคน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง