สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายประเทศทั่วโลก ตามนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ โดยให้เหตุผลว่าประเทศเหล่าได้ประโยชน์จากสหรัฐฯ จำนวนมาก จากการเกินดุลการค้าที่สูง (มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯมากกว่านำเข้าสินค้าสหรัฐฯ) และเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้นที่ถูกสหรัฐฯเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าในอัตรา 37% และมาตรการนี้จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. 2568 (10 เม.ย. ตามเวลาประเทศไทย)
เจรจาคือทางรอด
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สัมภาษณ์พิเศษ ในไลฟ์เพจเฟซบุ๊ก Suthichai live ของ สุทธิชัย หยุ่น ระบุว่าหากดูจากตัวเลขภาษีที่สหรัฐฯประกาศออกมานั้น สงครามการค้าแค่เพิ่มเริ่มต้น ทรัมป์อาจจะทำไม่สำเร็จก็ได้ หรืออาจปรับเพิ่มภาษีอีกรอบหนึ่ง เพราะยังเหลือพื้นที่ให้ปรับภาษีขึ้นได้อีกถึง 72% ส่วนตัวคิดว่า ทรัมป์ ได้เผื่อไว้แล้วในการปรับภาษีเพิ่มขึ้นอีก และสิ่งที่ไทยจะต้องทำคือผ่อนหนักให้เป็นเบา ดังนี้
1. อย่าเพิ่งตื่นเต้นกับตัวเลขภาษี 37% แม้จะดูแรงมาก แต่ต้องเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและคู่แข่งด้วยว่าไทยอยู่จุดไหน จะทำให้รู้ว่าไทยเสียเปรียบจริง ๆ เท่าไหร่ โดยต้องเข้าใจว่าสหรัฐฯ ก็ผลิตสินค้าขึ้นมาทดแทนไม่ได้ ในตอนที่ขึ้นภาษีจีนเป็น 60% มีการสำรวจในสหรัฐฯก่อนด้วยว่าจะผลิตสินค้าทดแทนจีนได้หรือไม่ แต่ผู้ผลิตบอกว่าสหรัฐฯยังไม่พร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบ เครื่องจักร และแรงงาน
เมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาทดแทนสินค้าจีนได้ก็จะต้องไปหาจากที่อื่น ถามว่ามีใครบ้าง อย่างเวียดนามก็ถูกขึ้นภาษี 46% แต่ไทยอยู่ที่ 37% จะเห็นได้ว่าไทยอยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
2. ไทยต้องเจรจากับสหรัฐฯ เพราะอัตราภาษีดังกล่าวถือว่าเยอะเกินไป ซึ่งจากรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) มีบางอย่างที่ไทยอาจพูดคุยกับสหรัฐฯได้ และไพ่ของไทยก็คือความมั่นคง ส่วนตัวคิดว่าสหรัฐฯกังวลภูมิภาคนี้อย่างมาก เพราะไม่อยากให้ทุกประเทศหันเข้าหาจีนกันหมด และอยากมีพันธมิตรที่ไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง หรือมีความเป็นกลาง ดังนั้นถ้าหากไทยย้ายไปอยู่ฝั่งจีนก็อาจทำให้สหรัฐฯหนักใจ เพราะจะเสียพันธมิตรในอาเซียน
“ต้องไปนั่งคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง เขาอยากได้เราเป็นเพื่อนแน่ ๆ และอยากให้ไปซื้ออะไรบางอย่างกับเขาบ้าง และเขาก็อยากจะมี Strategic Positioning (ตำแหน่งเชิงกลยุทธ์) ในพื้นที่นี้ด้วย เขาก็อยากใช้เมืองไทย ไม่งั้นเขาจะไปสร้างตึกสถานทูต 20,000 ล้านบาททำไม”
ไทยควรเจรจากับสหรัฐฯ และเชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้ เพราะสหรัฐฯ ก็เปิดโอกาสให้ ไม่ได้บังคับใช้มาตรการทางภาษีในทันที แต่การเจรจาอาจดำเนินการไม่ทันภายในวันที่ 9 เม.ย. เพราะคงมีหลายประเทศติดต่อไปยังสหรัฐฯจำนวนมาก
แต่อย่าถอดใจ ไทยยังพอมีโอกาส เพราะฤดูกาลการส่งออกสินค้าจะอยู่ช่วงปลายปี และตอนนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการส่งออก จึงยังมีเวลาไปเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ไม่ได้ส่งออก อาจต้องคุยกันยื่นหมูยื่นแมว เพราะจากรายงานสหรัฐฯ ก็มีหลายสิ่งที่ไทยสามารถทำให้ได้ แค่ที่ผ่านมาไทยอาจไม่เคยสนใจ
3. หลังจากนี้ไทยควรลดการพึ่งพาสหรัฐฯ เพราะในระยะยาวโลกจะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งโลกอาจหันมาที่เอเชียเป็นหลัก เพราะมีจำนวนประชากรเกินครึ่งหนึ่งของโลก และเศรษฐกิจหลักของเอเชียก็จะก้าวขึ้นเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของโลกต่อไป โดยเฉพาะจีน อินเดีย และอาเซียน จะเป็นหัวใจที่สำคัญ หลังจากนั้นอาจเป็นโอกาสของไทยที่จะเปิดกว้างมากขึ้นในการทำค้ากับประเทศอื่น เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินเดีย บังคลาเทศ ตะวันอออกลาง และแอฟริกา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในวิสัยที่จะเพิ่มทางออกให้กับไทยได้
ทั้งนี้การลดพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่จีนทำมาตั้งแต่ยุคทรัมป์ 1.0 โดยหันไปพึ่งพาอาศัยในประเทศและภูมิภาคเป็นหลักแทน จึงไม่น่าแปลกใจที่การขึ้นภาษีครั้งล่าสุดนี้จีนดูไม่ตื่นเต้นเหมือนครั้งก่อน
ผลกระทบส่งออกไทย
ผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งโลก เพราะทุกประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกคิดภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ในวันที่ 5 เม.ย. ส่วนประเทศไทยเป็น 1 ใน 60 กว่าประเทศที่ถูกเพิ่มภาษีในอัตราสูงกว่านั้น โดยในเอกสารทางการของสหรัฐ ระบุไว้ที่ 37 % ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 9 เม.ย. ทั้งนี้มีบางประเทศในอาเซียนที่ถูกเก็บภาษีในอัตรามากกว่าไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ส่วนจีนที่ถูกภาษีเพิ่มอีก 34% จากเดิมที่อัตราได้ปรับขึ้น 20% อยู่แล้ว ทำให้จีนถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 54%
ตัวอย่างสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบหลัก ๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงอยู่ใน 20 อันดับแรก คิดเป็น 64% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ไทยมีเม็กซิโกเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ การขึ้นภาษีครั้งนี้จะทำให้ไทยต้องจ่ายภาษีนำเข้าที่ 38.5% (รวมกับอัตราเดิมจ่าย 1.5%) ในขณะที่เม็กซิโก จ่ายภาษี 25% เท่านั้น
นอกจากนี้การขึ้นภาษีดังกล่าว ยังทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ รวมทั้งคู่ค้าอื่นของไทยด้วย ดังนั้นคาดว่าปีนี้ส่งออกของไทยจะโตอยู่ที่ 1-2% ขณะที่ปีที่ผ่านมาโตที่ 5.4%
สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณา คือ การประเมินคู่แข่งของไทยที่ผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ว่าถูกขึ้นภาษีมากกว่าหรือน้อยกว่าไทย เพราะหมายถึงโอกาสในการแข่งขันบนสนามที่มีกติกาใหม่ ซึ่งไทยอาจสามารถส่งสินค้าไปทดแทนสินค้าของประเทศอื่น ๆ ที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูงกว่าไทยได้ เพราะปีแรกของการขึ้นภาษีสหรัฐฯ คงไม่สามารถผลิตสินค้าในประเทศมาทดแทนสินค้าได้ทัน ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ต้องนำเข้าอยู่ดี
นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยแล้ว สินค้านำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกประเทศต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน และสินค้าประเภทเหล็ก แต่เชื่อว่าสหรัฐฯต้องการให้นานาประเทศ รวมทั้งไทยเจรจาเพิ่มเติมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าเดิม แลกกับการขอปรับลดอัตราภาษีนำเข้า เพราะในเอกสารของสหรัฐฯ ระบุว่าทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้หากมีการเจรจา
สิ่งที่สหรัฐฯต้องการจากไทย
ผู้อำนวยการวิจัย EIS จากทีดีอาร์ไอ ระบุอีกว่า แนวทางที่ทางสหรัฐฯ ต้องการจากไทย คือ 1. อาจขอให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ไทยเรียกเก็บสหรัฐฯ สูงกว่าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทยมาก เช่น ไวน์ เบียร์ เนื้อวัว รถยนต์ รวมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิด ซึ่งสินค้าเกษตรมีความสำคัญกับประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากเกษตรกรเป็นฐานเสียงหลัก 2. อาจขอให้ไทยเพิ่มโควตานำเข้าสินค้าบางประเภทมากขึ้น เช่น ข้าวโพด และกาแฟ ที่ไทยมีการกำหนดโควตานำเข้า 3. อาจขอให้ไทยลดข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสุขภาพ เช่น ให้ไทยอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งไทยกังวลว่ามีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐาน
ดังนั้นไทยควรพิจารณาเจรจา เพื่อเปิดตลาดสินค้าที่มีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยน้อย หรือจะส่งผลดีกับผู้บริโภคในไทยในลำดับแรก นอกจากนี้สหรัฐฯ อยากให้ประเทศต่าง ๆ มีการไปลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้นด้วย
แต่ที่สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ ท่าทีของธุรกิจต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีภาคธุรกิจจากต่างประเทศจำนวนมากที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) และได้รับบัตรส่งเสริมไปแล้วใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุน เมื่อมีความไม่แน่นอนนี้เกิดขึ้นและไทยยังถูกขึ้นภาษี 37% บางธุรกิจอาจจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์หลังการเจรจาระหว่างประเทศต่าง ๆ กับสหรัฐฯ
สำหรับภาพรวมทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคด้วยว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทิศทางของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยน่าจะเป็นขาลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจมีการลดดอกเบี้ยอีก 1-3 ครั้งในปีนี้ เช่นเดียวกับทิศทางดอกเบี้ยของไทยน่าจะลงเช่นเดียวกัน คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับอันตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 1-2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว รวมถึงเงินที่จะไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย ทั้งจากการค้า และภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีในปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าเกือบจะมากที่สุดในอาเซียน เป็นรองเพียงมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประเทศที่ค่าเงินถูกกว่าไทยได้เปรียบไทยในการส่งออก
ความไม่แน่นอนของภาษี ขึ้นกับเจรจา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ประเมิน ว่าอัตราภาษีนําเข้าของสหรัฐฯ ที่ไทยและประเทศคู้ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลกต้องเผชิญจะมีแนวโน้มตํ่ากว่าที่ทําเนียบขาวประกาศ เนื่องในประกาศของทําเนียบขาวระบุชัดว่า ประธานาธิบดีทรัมป์อาจลดภาษีตอบโต้ให้ได้หากประเทศนั้น ๆ สามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น พยายามลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษีตอบโตเสําหรับประเทศนั้น ๆ ได้บ้าง
อย่างไรก็ดี การเจรจาขอลดภาษีสินค้านำเข้าต่อสินค้าส่วนใหญ่ (Universal Tariffs) และภาษีเฉพาะสินค้า (Specific Tariffs) จะดําเนินการได้ยากกว่า เพราะวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ ต้องการประกาศเป็นอัตราภาษีนําเข้าส่วนเพิ่มขั้นตํ่า และเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศบางประเภท โดยเฉพาะแม้อัตราภาษีที่แท้จริงที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจริงกับประเทศไทยอาจลดลงหลังการต้อรองลดผลกระทบไม่ให้รุนแรงมาก
ไทยจะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ 2.0 มาก เพราะพึ่งส่งออกไปสหรัฐฯ สูง และถูกเก็บภาษีนําเข้าจากสหรัฐฯ สูงโดยเปรียบเทียบ
SCB EIC ประเมินว่า การประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นความเสี่ยงด้านตํ่าสําคัญของเศรษฐกิจไทยจะส่งผลกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.4% อย่างมีนัยสําคัญ ไทยจึงควรให้ความสําคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เผยแพร่เดือนมี.ค. 2568 ได้แก่
1. ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยนําเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนําเข้าบางสินค้าของสหรัฐฯ
2. ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนําเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร
3. แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ
ทั้งนี้การเจรจาต้องคํานึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศอย่างสมดุล โดยนอกเหนือจากประเด็นจาก USTR ที่ระบุไว้ ไทยควรคํานึงถึงกลไกเพื่อดูแลผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งการเตรียมตัวรับมือต่อการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านคุณภาพสินค้า แนวทางป้องกันการทุ่มตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เพื่อขยายตลาดและโอกาสการค้า การลงทุนและสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้อย่างเข็มแข็ง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจไทยกระทบหนัก หากสหรัฐฯขึ้นภาษี 25%
- สหรัฐฯขึ้นภาษีทั่วโลก เขย่าระเบียบการค้าครั้งใหญ่
- จับตาเศรษฐกิจไทยป่วน ไม่รีบเจรจา กระทบหนัก 9 แสนล้าน