มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไว้ เริ่มเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 68 เวลา 00.01 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ เวลา 11.01 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในอัตรา 36% และในขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศทั่วโลกที่ถูกขึ้นภาษีในอัตราที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลว่าการกระทำของสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะเกิดสงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น จนกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวลง ต่อมาในวันเดียวกัน ทรัมป์ ได้โพสต์บนโซเชียลมีเดีย X ประกาศระงับมาตรการภาษีดังกล่าวใน 75 ประเทศที่มาติดต่อเจรจาต่อรอง แต่ยังคงภาษีพื้นฐานไว้ที่ 10% และเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ 125%
แต่สงครามการค้ายังคงรุนแรงมากขึ้น เมื่อสหรัฐฯ และจีน ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มีรายงานว่า ทรัมป์ ขึ้นภาษีสินจีนเป็น 145% หลังจีนขึ้นภาษีตอบโต้เป็น 84% (อัปเดทล่าสุดวันที่ 11 เม.ย. จีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กลับสหรัฐฯที่ 125%)
สหรัฐฯ-จีน แลกกันคนละหมัด
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ภาษีสินค้าจีน 145% ไม่ใช่ของใหม่ การเพิ่มอัตราภาษีใส่จีนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก แค่เขียนสั้น ๆ ในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Orders) เช่น ในวันที่ 8 เม.ย. “ที่เคยเขียนไว้ว่า 34% ให้เอาออก และใส่คำว่า 84% เข้าไปแทน” และในวันที่ 9 เม.ย. อีกครั้ง “ที่เคยเขียนไว้ว่า 84% ให้เอาออก และใส่คำว่า 125% เข้าไปแทน” แค่นี้ก็จบ
หมายความว่า จีนต้องจ่ายภาษีนำเข้าก่อนมาตรการ Reciprocal Tariffs 10% +10% = 20% สำหรับกรณีสารเฟนทานิล (Fentanyl) แต่เมื่อรวมกับมาตรการ Reciprocal Tariffs ที่ประธานาธิบดีประกาศล่าสุด คือ 10% + 10% + 125% = 145% จึงไม่ใช่แค่ 125% ตามที่หลายคน (รวมถึงตนด้วย) เข้าใจกัน
ภาษีที่สูงลิ่วนี้จะทำให้บริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐฯ เริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจีน เช่น แอมะซอน (Amazon) แจ้งซัพพลายเออร์ (Suppliers) ไปว่าขอยกเลิก (ซื้อสินค้า) เพราะสู้ภาษีนำเข้าไม่ไหว พร้อมหันไปหาประเทศอื่น ๆ
ทั้งนี้ กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า “แลกกันคนละหมัด” สหรัฐฯ วุ่นวายเพราะตลาดทุนที่ปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตร (Bonds) และจีนกำลังจะวุ่นวาย เพราะโรงงานต่าง ๆ ไม่มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และถ้าเทียบกันสหรัฐฯ ส่งออกมาที่จีนเพียง 143.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนจีนส่งออกมาที่สหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ต่อ 3 หมายความว่าต่อไปนี้จีนต้องหาตลาดใหม่ให้สินค้าตนเองประมาณเดือนละ 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าที่ไทยส่งออกไปทั้งโลกในละเดือนที่ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งของสินค้าที่ถูกยกเลิกคงส่งมาบุกที่เมืองไทย
“เราคงต้องเตรียมการรับมือดี ๆ ครับ” กอบศักดิ์ กล่าว
สัญญาณบวก”ทรัมป์”เลื่อนภาษี 90 วัน
สถานการณ์ต่อไปของไทยในระยะข้างหน้า ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า สงครามการค้าครั้งนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ เพราะสามารถออกมาได้หลายรูปแบบ แต่โอกาสที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีกับไทยมากกว่า 36% หรือใช้สูตรคำนวณใหม่นั้น มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย และยังมีโอกาสที่จะเจรจากันได้ สะท้อนได้จากที่ ทรัมป์ ประกาศระงับมาตรการภาษีตอบโต้ 75 ประเทศ เป็นเวลา 90 วัน ถือเป็นสัญญาณชัดเจนเชิงบวกว่ามีโอกาสเกิดการเจรจา ซึ่งนับจากนี้หลายประเทศรวมถึงไทยจะมีมาตรการต่าง ๆ เข้าไปเจรจากับสหรัฐฯ มากขึ้น
แต่ไม่ว่าการเจรจาจะได้ผลมากหรือน้อย คาดว่าสหรัฐฯ จะลดภาษีไทยลงจาก 36% แต่อาจไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมเช่นในอดีตได้ เพราะเชื่อว่า ทรัมป์ จะยังคงภาษีพื้นฐานไว้ที่ 10% แน่นอน และสงครามการค้ารอบที่รุนแรงที่สุดครั้งนี้ก็จะดำเนินต่อไป
ขณะเดียวกันต้องติดตามสถานการณ์จีน หลังถูกสหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจบลงอย่างไร ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจไทยและโลกมากขึ้น เนื่องจากยังประมาณการไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงมากขนาดไหนจากผลกระทบดังกล่าว เพราะจีนส่งออกสินค้าไปขายสหรัฐฯ จำนวนมาก และหากสินค้าจีนส่งไปสหรัฐฯไม่ได้ ก็อาจทะลักเข้ามาที่ไทยและในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
“แนวโน้มการเจรจามีทิศทางเชิงบวกมากขึ้น แต่ภาษีไม่หายไปไหน และยังต้องติดตามศึกทางด้านจากจีนอยู่” ปุณยวัจน์ กล่าว
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้ากว่าในอดีต
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส SCB EIC กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่หลังโควิด-19 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 90% และรายได้ของประชากรที่ยังไม่ฟื้นตัว กดดันการบริโภคภาคเอกชน แม้จะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ แต่ก็อาจไม่ช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้นได้ นอกจากนี้ภาคธุรกิจยังมีความเปราะบางและบางส่วนกลายเป็นบริษัทซอมบี้ (หนี้สินล้นพ้นตัว) โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งในอนาคตหากยังไม่ดีขึ้น ก็จะทำให้การลงทุนชะลอลงค่อนข้างมาก
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาพยุงเศรษฐกิจไว้ แต่ในอนาคตจะมีความกังวลมากขึ้น จากหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงใกล้ชนเพดาน 70% และงบประมาณรัฐอาจมีจำนวนจำกัดมากกว่าในอดีต ดังนั้นจากปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเติบโตได้ค่อนข้างช้ากว่าในอดีต
อย่างไรก็ตาม SCB EIC กำลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 68 คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่า 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์เดิม 2.4%) โดยในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วไปจนถึงท้ายปีเหมือนกลิ้งลงภูเขา
เจรจาสหรัฐฯแก้ได้บางส่วน
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า หากดูจากรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ในเรื่องที่ไทยไม่สร้างความเป็นธรรมให้กับสหรัฐฯ นั้น นอกจากมาตราการกีดกันทางภาษีแล้ว ยังมีเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีด้วย เช่น เนื้อหมู อาหารสัตว์ หรือสินค้าเกษตร ที่ไทยใช้มาตรการกีดกันห้ามนำเข้าจากสหรัฐฯ หรือระบบศุลกากรไม่โปร่งใส หรือการกีดกันนักลงทุนสหรัฐฯไม่ให้มาทำธุรกิจในไทย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลไทยประกาศในตอนแรกว่าจะซื้อสินค้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้น หรือสกัดสินค้าจีนที่หลบเลี่ยงภาษี ก็คงยืนยันไม่ได้ว่าจะเพียงพอต่อการเจรจากับสหรัฐ
สูตรการตั้งภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% คือมาจากสัดส่วนยอดที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ หารด้วยยอดการส่งออกสินค้าทั้งหมดที่ไทยส่งไปสหรัฐฯ และหารครึ่งหนึ่งจนเหลือ 36% ซึ่งหากไทยลดการส่งออกไปสหรัฐฯ หรือเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯมากขึ้น ก็จะช่วยลดภาษีลงได้ จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากไทยลดยอดเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯลงประมาณ 20% หรือ 12,000 ล้านบาท คิดเป็นเงินไทยประมาณ 400,000 ล้านบาท จะช่วยลดภาษีสหรัฐฯได้เหลือ 26% ซึ่งการคำนวณนี้ยังไม่รวมการเจรจาเรื่องอื่น อย่างไรก็ตามยังไม่ฟันธงว่าสหรัฐฯ จะยึดกับสูตรภาษีนี้เป็นหลักหรือไม่ และจะใช้ต่อไปอีกนานแค่ไหน เพราะฉะนั้นภาษีนี้จึงยังเป็นเพียงแค่จุดเปิดเพื่อนำไปเจรจาต่อรองกัน
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการเจรจาอาจช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องมาสร้างความเข้มแข็งให้กับประชากรในประเทศ เศรษฐกิจ การลดหนี้ ปรับปรุงคุณภาพศึกษา ทำให้คนมีงานและมีโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งก็ต้องเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น
สำหรับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ประเมินว่าภาคส่งออกไทยในปีนี้จะติดลบ 0.5 % (คาดการณ์เดิมขยายตัว 2.5%) แต่เชื่อว่าบางอย่างอาจไม่ได้กระทบไทยเยอะ เพราะสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกก็เป็นสินค้าของคนอเมริกัน ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับไทยน้อยมาก อีกทั้งสินค้าจีนที่มาประกอบในไทยก็ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นกัน แม้ไทยจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯสูงเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ผลกระทบต่อไทยก็คงต้องใช้เวลาประเมิน เพราะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าเยอะกว่าส่งออก ดังนั้นภาคการส่งออกของไทยจึงไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศมากเท่าไหร่
ถึงเวลาไทยปรับตัว
บุรินทร์ แนะนำว่า มาตรการที่ไทยจะต้องทำ คือ ควบคุมธุรกิจจีนไม่ให้มาตั้งฐานประกอบในไทยและส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงต้องสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการไทย และหาตลาดการค้าอื่นเป็นทางเลือก เพราะหากสหรัฐฯยังอยากลดขาดดุลการค้าอยู่ ในระยะยาวอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้าการค้าขายกับสหรัฐฯก็จะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น
นอกจากนี้ไทยต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการใส่เทคโนโลยีเข้าไป เพราะหากไทยผลิตสินค้าที่คนอื่นทำได้ก็จะต้องไปสู้กันที่ราคา ดังนั้นไทยจึงต้องพัฒนาสินค้าให้แตกต่าง ใส่ความรู้ เทคโนโลยึ และการวิจัยของตนเองให้มากขึ้น สมมติสหรัฐฯขึ้นภาษีสูง และไม่มีใครสามารถผลิตแข่งได้ เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น สุดท้ายก็ต้องมาซื้อสินค้าไทย
“เราเองก็ต้องปรับตัว เราจะไปแข่งอะไรตรง ๆ กับผู้ผลิตรายใหญ่ เราคงแข่งยาก เราก็ต้องหาเป้าหมาย หาความแตกต่าง เราอาจจะไปเน้นการบริการดีไหม หรือไปหาสินค้าที่มีเฉพาะในเมืองไทย มีสัมผัสของคนไทย มีภูมิปัญญาของคนไทยเข้าไป” บุรินทร์ กล่าว
ตอนนี้โลกมีโอกาสเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้นมาก เพราะทุกคนไม่มั่นใจ ไม่อยากค้าขายและลงทุน ซึ่งสิ่งที่สหรัฐฯทำถือเป็นเรื่องช็อกครั้งใหญ่และไม่ให้เวลาปรับตัว ในระยะสั้นจะเห็นการค้าโลกหยุดชะงัก ส่งผลต่อการค้าการลงทุน จนในที่สุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย กระทบการจ้างงาน กระทบห่วงโซ่อุปทาน จนในที่สุดทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยตอนนี้เริ่มมีความกังวลกันว่าโลกจะเจอ “Stagflation” คือ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อพุ่ง ของทุกอย่างจะแพงขึ้น แต่สุดท้ายทุกคนจะปรับตัว และการค้าโลกอาจดำเนินต่อไปได้โดยที่ไม่มีสหรัฐฯ
ภาษีสหรัฐฯซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยระยะสั้น-กลาง
วิจัยกรุงศรี ออกบทวิเคราะห์มองว่า ความตึงเครียดทางการค้าโลกที่ทวีแรงขึ้นและยังมีความไม่แน่นอนสูง จะกดดันเศรษฐกิจไทย (GDP) อ่อนแอลง ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทยสูงเกินคาดที่ 36% ขณะที่ทางการไทยเคยประเมินไว้ว่าอาจถูกเก็บภาษีที่ 11%(ช่วง 10-15%) โดยก่อนหน้านี้ส่วนต่างภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของไทยกับสหรัฐฯอยู่ที่ราว 6% หากบวกกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อัตราภาษีนำเข้าที่เคยคาดการณ์จะอยู่ที่ราว 13%
ผลกระทบในระยะปานกลางถึงระยะยาวอาจจะรุนแรงน้อยกว่าในระยะสั้น เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดกับไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ อาทิ จีน (54% คำนวณจากอัตราภาษีตอบโต้ 34% บวกกับอัตราภาษีที่สหรัฐฯจัดเก็บ20% เมื่อต้นปี) และเวียดนาม (46%) ส่งผลให้การย้ายฐานการลงทุนและผลของการทดแทนการส่งออกสินค้าอาจส่งผลบวกในเชิงเปรียบเทียบต่อการส่งออกและการผลิตบางรายการของไทย การประเมินผลกระทบโดยอาศัยแบบจำลอง Global Trade Analysis Project (GTAP)
วิจัยกรุงศรี ยังพบว่าการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะทำให้การส่งออกและ GDP ของไทยในระยะกลางถึงยาวลดลง -2.6% และ -0.11% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนพบว่า GDP ของเวียดนามและกัมพูชาจะลดลงมากกว่าไทย เนื่องจากถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าและมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯมากกว่า ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าไทย
ในระยะข้างหน้าความตึงเครียดทางการค้าโลกอาจมีพัฒนาการในหลายทิศทาง ได้แก่
- การเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ
- มาตรการตอบโต้ที่ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อ
- ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นซึ่งกดดันภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตของหลายประเทศลดลง และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
สำหรับไทย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวแบบรูปตัว K คือ ภาคการผลิตหลายสาขายังคงฟื้นตัวได้ช้าหรือการเติบโตที่อ่อนแอกว่าภาคบริการอยู่มาก ดังนั้นผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตสำคัญของไทย และกดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงปานกลางให้ยิ่งอ่อนแอลง
รีบเจรจาอาจไม่ส่งผลดี
ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี มองว่า การดำเนินการรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่น ๆ อาจไม่ส่งผลดีกับประเทศนั้น ๆ นัก เนื่องจากไม่สามารถทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของแนวทางการขึ้นภาษีของประธานาธิบดี ทรัมป์ อาทิ ประเทศแคนาดาและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้เร่งดำเนินการเจรจาไปก่อนหน้า หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่สุดท้ายทุกประเทศที่ไปเจรจากลับถูกขึ้นภาษีเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้ คือ การคิดแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจา
รัฐบาลไทยโดยการดำเนินการของคณะทำงาน ได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ การปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระบบการค้า ผ่านการใช้จุดแข็งของทั้ง 2 ประเทศ อาทิ การนำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐฯ ที่ผลิตได้มากกว่าการบริโภคภายในประเทศถึง 20% มาแปรรูปเป็นอาหาร โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหารของประเทศไทย เพื่อส่งออกขายไปทั่วโลก
แนวทางดังกล่าวจะถูกดำเนินการผ่านการสร้างพันธมิตรกับมลรัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ และดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเร่งปราบปรามการสวมสิทธิ์สินค้าจากประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการเปิดการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นปัจจัยการผลิตและประเทศเราผลิตไม่เพียงพอ รวมถึงสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่มเติม ตลอดจนการเพิ่มการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ โดยการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด เป็นไปเพื่อลดภาวะขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และเปิดบันไดทางลงให้กับสหรัฐฯ เมื่อมาตรการขึ้นภาษีได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าที่คาดการณ์
การดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นตามขั้นตอนการเจรจา โดยขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้หลักการที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ และประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม กระบวนการเจรจาต่อรองดังกล่าวต้องเจรจาในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน ยกเว้นสินค้าที่มีปัญหาที่จะต้องเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรี ดังนั้น ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งคือปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อทำการเจรจา ก่อนที่จะเจรจารอบสุดท้าย เพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนค้าสินค้าที่ยังตกลงกันไม่ได้ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการเจรจาการค้าของสหรัฐอเมริกา
“ประเทศเล็กอย่างเรา ต้องหาอํานาจต่อรอง และต้องสร้างแนวร่วมที่อเมริกา ซึ่งนายพันศักดิ์ ประเมินแล้วว่า ต้องไปทางนี้ กับมลรัฐเกษตรของอเมริกา และก็เป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของเราด้วยว่า เราต้องการจะเป็นผู้แปรรูปอาหารคุณภาพดีไปทั่วโลก ก็ใช้ทรัพยากรที่ดีที่สุดของอเมริกา ขายอะไรให้เรา เราก็จะซื้ออันนั้น ตามความต้องการของเราที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิดอันนี้” ศุภวุฒิ กล่าว
คลังเปิด 5 แนวทางรับมือทรัมป์
ในตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์ในทันทีเพื่อแสดงความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สังคมก็ยังมีความกังวลในแผนการแก้ปัญหาของไทย จึงได้ออกแถลงการณ์ซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง โดยระบุว่ามีการตั้งคณะทำงานรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้นัดประชุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในวันที่ 8 เม.ย. พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จการประชุมหารือกับคณะทำงานถึงมาตรการรับมือกับภาษีของสหรัฐฯว่า แม้มาตรการภาษีของสหรัฐฯจะดูเป็นแรงกดดันที่เข้มข้น แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยสามารถยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไทยจะทำ คือ
1. ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสินค้าใดที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และสามารถนำเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตได้ในลักษณะ win-win เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือเครื่องในสัตว์ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารสำเร็จรูป การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าก็ยังสามารถลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้การค้าของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรองรับการส่งออกในรูปแบบที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
2. การทบทวนภาษีนำเข้าของสินค้าที่ปัจจุบัน โดยรัฐบาลพิจารณาว่าหากมีการผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการและบริหารโควต้าให้เหมาะสม จะสามารถเปิดตลาดอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่กระทบกับภาคการผลิตในประเทศมากนัก ซึ่งการบริหารความยืดหยุ่นในส่วนนี้จะเป็นการส่งสัญญาณบวกต่อคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในแง่ของความตั้งใจในการลดอุปสรรคทางการค้าและยกระดับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล
3. ปรับปรุงกลไกภายในประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎระเบียบและขั้นตอนนำเข้าสินค้า โดยมุ่งแก้ไขอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี ที่อาจเป็นต้นเหตุให้สหรัฐฯ มองว่าประเทศไทยมีพฤติกรรมกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ซึ่งการปรับปรุงนี้จะทำให้ไทยดูดีในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบภายในประเทศ ลดภาระของผู้ประกอบการ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรม
4. หาทางรับมือกับประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำผิดปกติจากประเทศที่สาม ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นทางผ่านหรือแหล่งเลี่ยงภาษี เพื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รัฐบาลไทยจะใช้มาตรการคัดกรองสินค้านำเข้าอย่างรอบคอบ ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด และดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นเป้าหมายของการกล่าวหาว่าช่วยหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของประเทศที่สาม ทั้งยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของไทยในฐานะประเทศคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล
5. พิจารณาปรับโครงสร้างการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีที่ไทยเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบและทรัพยากร เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นโอกาสในการให้บริษัทไทยเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น แล้วส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกาไปยังตลาดโลก ถือเป็นการสร้างเครือข่ายมูลค่าเพิ่มและลดแรงเสียดทานทางการค้าในระยะยาว
รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวเสริมว่า การรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ไม่อาจอาศัยเพียงมาตรการฉุกเฉิน แต่ต้องใช้กระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์และการเจรจาอย่างเป็นระบบ รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายในลักษณะ win-win solution เพื่อให้เกิดผลดีทั้งต่อไทยและสหรัฐฯ โดยเน้นการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่กับการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศอย่างมั่นคง พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำรายละเอียด เพื่อเตรียมเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อย่างรอบด้านและทันสถานการณ์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง