สิ่งที่ทำให้นโยบายภาษีทรัมป์เป็นเรื่องใหญ่และสามารถสร้างผลกระทบทางลบให้แก่เศรษฐกิจไทยเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในนานหลายสิบปี
โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมีชื่อว่า “Export-led growth” ซึ่งการส่งออกเป็นกลจักรขับเคลื่อน (Growth engine) ของเศรษฐกิจไทยมานับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970s สัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการใน GDP เพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี ค.ศ. 1970 มาสูงสุดที่ 71.4 ในปี ค.ศ. 2008 และปีในค.ศ. 2023 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 65.4%
นอกจากนั้น ไทยยังเป็นหนึ่งในกี่ประเทศในโลกที่มี Trade-to-GDP ratio (สัดส่วนการส่งออกและนำเข้าต่อ GDP) มากกว่า 100% หรือเรียกว่าเป็น “Super-trading nation” ตามความหมายของ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
หลายสิบปีที่ผ่านมา เครื่องจักรตัวนี้ทำงานได้ดีเนื่องจากมีปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WTO ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างกันผ่านการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมถึงการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก (Global value chains) ที่ได้อานิสงค์จากความก้าวหน้าของกระบวนการผลิต (Improvements in production technology) ที่ทำให้สินค้าอุตสาหกรรม (Manufactured goods) สามารถแยกผลิตในหลาย locations และต้นทุนในการติดต่อสื่อสาร/ประสานงานที่ต่ำลง
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สอดรับกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ทำให้ไทยได้เปรียบหรือเป็น best location ในการผลิตสินค้า (หรือ task) ที่ใช้แรงงานเข้มข้น ประกอบการศักยภาพของผู้ประกอบการไทย การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและทักษะอื่น ๆ กำลังแรงงานที่ฝึกฝน/เรียนรู้ได้ (Trainable workforce) รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตร (โครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค)
แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีการถกเถียงอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับผลิตภาพการผลิตที่เติบโตช้า รวมถึงการไม่สามารถ upgrade การผลิต แต่กระนั้น การส่งออกก็ยังเป็นแก่นของเศรษฐกิจไทย ที่ไม่เพียงสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่แรงงาน แต่ยังสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structural transformation) จากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรมและบริการ
จากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยของสำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2567 พบว่า การส่งออกในไตรมาส 4/2567 มีมูลค่า 76,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.6 สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส เมื่อพิจารณาทั้งปี 2567 พบว่า การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 297,049 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีคือคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คือสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นจีนและญี่ปุ่น
นโยบายภาษีของทรัมป์เป็นเหมือนการรื้อภูมิทัศน์การค้าระหว่างประเทศใหม่ทั้งหมด แม้ว่าก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีในสินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียมแต่สินค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทย มูลค่าการนำเข้าจากไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาคิดเป็นเพียง 1.5% ของการนำเข้าทั้งหมด ผลกระทบจึงมีจำกัด แต่การขึ้นภาษีรอบใหม่เดือนเมษายนนี้แตกต่างตรงที่ 1) เก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 36% และ 2) เก็บใน (เกือบ) ทุกสินค้า ตั้งแต่เกษตร อาหารแปรรูป และครอบคลุมอุตสาหกรรมเกือบทุกรายการ
อัตราภาษีของทรัมป์คำนวณจากมูลค่าการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศนั้น ๆ กับสหรัฐอเมริกา หารด้วยมูลค่าการส่งออกของประเทศดังกล่าวมายังสหรัฐอเมริกา และหารด้วย 2 ด้วยสูตร (และ Assumptions เบื้องหลังการคำนวณ) ดังกล่าว ทำให้หลายประเทศที่ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาเผชิญกับอัตราภาษีที่สูง
ประเทศในอาเซียนต่างเผชิญภาษีนำเข้าที่สูงด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา (49%) ลาว (48%) และเวียดนาม (46%) ขณะที่ไทยเผชิญกับภาษีนำเข้าอยู่ที่ 36% ซึ่งเป็นเพราะไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ข้อมูลจาก International Trade Center พบว่า ในปี พ.ศ. 2024 นั้น จาก 218 ที่ค้าขายกับสหรัฐอเมริกานั้น สหรัฐอเมริกาได้ดุล (ส่งออกมากกว่านำเข้า) จำนวน 117 ประเทศ (เช่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร) และขาดดุล (นำเข้ามากกว่าส่งออก) จำนวน 101 ประเทศ (เช่น จีน เม็กซิโก เวียดนาม และเยอรมณี)
มูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อไทย เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าใน 10 ปี จาก -16,217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2014 เป็น -48,292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2024 ซึ่งขาดดุลสูงเป็นอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 101 ประเทศ แต่มูลค่าการขาดดุลยังถือว่าน้อยกว่าเทียบกับจีน เม็กซิโก และเวียดนาม ที่มูลค่าการขาดดุลสูงเกิน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ใครคือผู้ได้รับผลกระทบ?
จากตัวเลขภาษีนำเข้าที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บกับสินค้าไทยในอัตรา 36% นั้น แน่นอนว่ากระทบโดยตรงกับสถานประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2567 กว่า 1 ใน 5 ของมูลค่าการส่งออกไทยอยู่ที่ตลาดสหรัฐอเมริกา โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 54,889 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 18% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ลดลงแม้กระทั่งเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากตลาดส่งออกอื่น ๆ ที่มีการชะลอตัวหรือส่งออกลดลง โดยอาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นคือคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
ในการพิจารณาผลกระทบในขั้นแรกนั้น หากความต้องการสินค้าไทยของผู้บริโภคอเมริกันลดลงเนื่องจากภาษีนำเข้าที่แพงขึ้น กำไรของสถานประกอบการย่อมลดลง หากสถานประกอบการไม่สามารถหาผู้ซื้อในประเทศอื่นได้ เราอาจเห็นดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง การว่างงานมากขึ้น โดยเฉพาะงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของตลาดแรงงานไทย
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นความหายนะทางเศรษฐกิจ ที่ไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่ส่งผลต่อเนื่องไปยังความยากจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งเป็นผลมาจากการค้าระหว่างประเทศ
ขนาดของผลกระทบเป็นเช่นไร?
ในระยะสั้น ความรุนแรงของผลกระทบของนโยบายภาษีทรัมป์ต่อการส่งออกของไทย น่าจะขึ้น 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือส่วนต่างระหว่างภาษีที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทยในปัจจุบัน กับภาษีนำเข้าที่ทรัมป์เพิ่งประกาศใช้ หากส่วนต่างมีมาก ย่อมความหมายว่า ราคาสินค้าไทยในตลาดอเมริกาก็จะสูงขึ้นมากตามไปด้วย
ข้อมูลจาก World Integrated Trade Solution ที่เผยแพร่โดยธนาคารโลก ระบุว่าอัตราภาษีเฉลี่ย (Weighted average applied tariff) ที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บกับสินค้าไทยในปี 2022 อยู่ 0.85% ซึ่งถือว่าต่ำมาก สาเหตุเนื่องจากสินค้าส่วนมาก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมไม่ถูกเรียกเก็บภาษี
สินค้าที่สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีจากไทยในระดับสูงเช่น บุหรี่ (HS2403/2401) ถั่วลิสง (HS1202) รองเท้ากีฬา (HS6402) และยานยนต์สำหรับส่งของ (HS8704) แต่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาน้อยมาก ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่เข้าไปยังตลาดสหรัฐแบบปลอดภาษี การเผชิญกับภาษี 36% จึงเป็นเรื่องใหญ่และน่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อออเดอร์สั่งซื้อสินค้า
ปัจจัยที่สอง คือ การทำราคาเพื่อแข่งขันในตลาดสหรัฐอเมริกา ภาษีนำเข้าไม่ใช่การห้ามนำเข้า แต่เป็นมาตรการทางการค้าที่เพิ่มราคาสินค้าที่ผู้บริโภคจ่าย ผู้บริโภคอเมริกันต้องบวกลบคูณหารเปรียบเทียบราคาและอาจหันเหไปบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือสินค้าจากประเทศอื่น (ที่โดนภาษีต่ำกว่าและราคาเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า) แต่แม้จะมีคุณภาพแย่กว่า/ใกล้เคียงกันแต่มีราคาถูกกว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์สินค้านำเข้าจากไทยต่อราคาสินค้า
หากสินค้าไทยเป็นสินค้าจำเป็น ผู้บริโภคมี brand royalty สูง หรือเป็นสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ในสหรัฐอเมริกาหรือไม่มีคู่แข่งใดที่สามารถผลิตได้ใกล้เคียง ผลกระทบอาจมีน้อย หากผู้ประกอบการสามารถปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้ (แม้ไม่มาก) แต่ผลกระทบจะรุนแรงในกรณีที่ความยืดหยุ่นดังกล่าวมีค่าสูง กล่าวคือ เป็นสินค้าไม่จำเป็น คุณภาพไม่โดดเด่นหรือไม่แตกต่างจากชาติอื่น ผู้บริโภคสามารถหันเหไปยังสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือผลิตในประเทศอื่น (ที่โดนภาษีต่ำกว่า) หรือหยุดการบริโภค
ทางออกมีอะไรบ้าง?
วันนี้ ต้องยอมรับว่า ภูมิทัศน์การค้าที่ทุกชาติเคารพใน Rule-based trade system หรือระบบการค้าที่มีกฎเกณฑ์/กติกา อันมี WTO เป็นกลไกหลัก และมีเป้าหมายร่วมกันในการใช้การค้าระหว่างประเทศให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ถูก Pause เอาไว้ หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงรายชั่วโมงของทรัมป์ ตามที่ได้กล่าวว่าไทยมีเศรษฐกิจแบบเปิดและมีขนาดเล็ก การโต้ตอบ (Retaliate) ด้วยมาตรการทางภาษีแบบเฉกเช่นจีน เยอรมนี และบางประเทศในยุโรปคงไม่ได้อยู่ในตัวเลือก
การต่อสู้แบบ independent คงไม่สามารถหวังผลได้สักเท่าไหร่ แม้แต่เวียดนามที่ยอมลดภาษีให้เหลือ 0% ก็ยังไม่อาจสร้างความพอใจให้กับสหรัฐอเมริกาได้ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง ไทยที่เป็นสมาชิก RCEP อาจใช้ RCEP เป็น Platform ในการแสวงหาความร่วมมือเพื่อตอบสนอง ปรับตัว และบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจจากนโยบายภาษีทรัมป์
ในระยะปานกลาง-ยาว การกระจายตลาด (Market diversification) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นไปได้เพื่อลดความเสี่ยงจากนโยบายการค้าโลกที่คาดเดายาก (เช่น Trump 3.0 และสงครามการค้าอื่น ๆ ในอนาคต) ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหาช่องทางขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ
อีกหนึ่งทางที่เป็นไปได้คือการใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นจาก FTA ที่ไทยมีอยู่เดิม (15 ฉบับ) พร้อมกับการปิดดีลเจรจากับประเทศอื่น หรือเริ่มเจรจา/ศึกษากับประเทศ/ภูมิภาคใหม่ ๆ เช่น กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) และตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Mercosur) ที่แม้จะตั้งอยู่ในทวีปลาตินอเมริกาที่มีระยะทางไกล แต่เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเพราะจำนวนประชากรเยอะ รายได้ต่อหัวอยู่ในระดับปานกลาง-สูง เป็นแหล่งทรัพยากรต้นน้ำในหลายอุตสาหกรรม และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่ต้องคิดต่อกับ FTA คือผลกระทบทางลบต่อการผลิตบางสาขาที่ต้องการมาตรการรองรับปรับตัว รวมถึงความซับซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่อาจสร้างต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
อีกหนึ่งประเด็นคือส่งเสริมผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของผู้ประกอบการ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และการลดความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงาน (Skill/job mismatch) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ต้องยอมรับว่า เรายังไม่เห็น movement ที่เป็นรูปธรรมเท่าไหร่นักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ ไม่ได้ใช้แค่งบประมาณแต่รวมถึง Vision และ Commitment ของผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เศรษฐกิจไทยมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะอาศัยการค้าระหว่างประเทศเป็นกลจักรขับเคลื่อน ในวันที่ภูมิทัศน์การค้าโลกเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบย่อมมาถึงไทยอย่างมีนัยสำคัญ นโยบายภาษีของทรัมป์จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่มาเร็วและแรงแต่จะอยู่กับเศรษฐกิจไทยไปอีกนาน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนระอุ เศรษฐกิจปั่นป่วนอีกนาน