คณะรัฐมนตรีลงมติ “เห็นชอบ” ให้ดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ หรือ Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 68
คาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,599.45 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นทั้งหมด 7,200 ทุน หรือคิดเป็น 4,800 คน ตัวโครงการได้มีการระบุว่าสาขาวิชาที่จะให้ทุนคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่คุ้นหูกันว่า STEM โดยมี 3 หน่วยงานหลักดูแล
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
- คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ เป็นไปตามมติครม. เมื่อ 29 เม.ย. 68 ที่จ.นครพนม เห็นชอบให้กระทรวงการคลังออกสลากการกุศลเพื่อการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพ ODOS ในรอบแรกจำนวน 7 โครงการ วงเงิน 5,308.14 ล้านบาท
ที่มาของโครงการ
โครงการ ODOS มีความสอดคล้องกับการนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีความต้องการที่จะยกระดับประเทศให้ศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมระดับสูงที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการพลักดันประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริม ผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อให้การเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนเป็นไปอย่างเท่าเทียม โดยต้องมีการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบนอกระบบตามบริบทต่างๆ
วัตถุประสงค์
การสร้างแรงงานที่มีคุณภาพต้องมาจากการศึกษาที่แข็งแรง โครงการนี้จะเป็นพื้นที่ให้นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีศักยภาพ ได้มีโอกาสรับทุนศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องจนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ/หรือระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ วัตถุประสงค์โครงการ 3 ประการหลัก คือ
- เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างยั่งยืน
- เพื่อปลูกฝังทัศนคติให้แก่เด็กและเยาวชนของประเทศในการพัฒนาตนเองอย่างมีเป้าหมายและต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
- เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม เป็นระบบและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การดำเนินการของโครงการยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลอีกด้วย
รายละเอียดโครงการ
ใครได้ทุน
- ผู้รับทุนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยของสมาชิกครัวเรือนไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน โดยจะเป็นการให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชา STEM
ประเภททุน
- ทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ในประเทศ จำนวน 4,800 ทุน ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท มีลักษณะเป็นทุนให้เปล่า ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2568 – 2572 (ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 – เมษายน 2572)
- ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ จำนวน 200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) ใช้งบประมาณ 2,609.31 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2568 – 2576 (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 – กันยายน 2576) โดยประเทศที่กำหนดให้ไปศึกษา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (ศึกษาระดับปริญญาตรี) และเครือรัฐออสเตรเลีย (ศึกษาระดับ ปวส. และ/หรือปริญญาตรี) และจะมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ก็ที่ได้รับทุนทุนก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ทักษะการใช้ชีวิต จิตวิทยา การปรับตัว การสร้างความผูกพันต่อสังคมและประเทศ
- ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ จำนวน 2,200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2569 – 2574 (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 – กันยายน 2574)
เงื่อนไขการชดใช้ทุน
- แบบที่ 1 จะเป็นการให้ทุนเปล่า
- แบบที่ 2 เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประไทยซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยเน้นให้ปฏิบัติงานในภูมิภาคเป็นลำดับแรก สำหรับการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
- แบบที่ 3 เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามความประสงค์ของผู้รับทุน
ผลประโยชน์ของโครงการ
ผู้ดำเนินการโครงการมองว่าผลประโยชน์ที่นักเรียนและสังคมจะได้รับคือ
- กระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส ให้มีโอกาสรับทุนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับ ปวส. และ/หรือระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ซึ่งขาดแคลนโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างยั่งยืน
- สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างทั้งต่อเยาวชน สถาบันการศึกษาและสังคม ทำให้สังคมตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเก่งและคนดีที่จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และทำให้สถาบันการศึกษาตระหนักว่า แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถพัฒนาเยาวชนที่มีคุณภาพได้เช่นกัน
ความเหมือนและข้อแตกต่าง ระหว่าง ODOS และ 1 อำเภอ 1 ทุน
ทั้งสองโครงการมีแนวคิดแบบเดียวกัน คือมีความต้องการที่จะ ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส แต่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดีและมีศักยภาพ
โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 และมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 544 คน ไม่สำเร็จการศึกษาจำนวน 16 คน พ้นสภาพนักเรียนทุนจำนวน 14 คน ลาออกจำนวน 2 คน สละสิทธิ์จำนวน 5 คน และยังอยู่ระหว่างการศึกษาจำนวน 3 คน
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของความแตกต่างของสองโครงการหลักๆ มีดังนี้
- ระดับการศึกษา โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เริ่มให้ทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี แต่โครงการ ODOS เริ่มให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย และ ปวช.
- ประเภทของทุน โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน มีการทุนให้ 2 ประเภท โดยหนึ่งในนั้นไม่มีการจำกัดรายได้ของครอบครัว และยังมีนโยบายให้ศึกษาต่อทั้งในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอีกด้วย แต่โครงการ ODOS มีการระบุถึงรายได้ของครัวเรือนในทุกประเภททุน และหากจะศึกษาต่อต่างประเทศ จะต้องเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเท่านั้น
- เงื่อนไขการชดใช้ทุน โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน มีเงื่อนไขว่าผู้รับทุนทั้ง 2 ประเภทจะต้องกลับมาใช้ทุนในประเทศไทย แต่โครงการ ODOS มีประเภทแบบทุนที่ไม่ต้องมีการชดใช้ด้วย
- ที่มาของงบประมาณ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ใช้งบประมาณของแผ่นดินตลาดทั้งโครงการ ส่วนโครงการ ODOS จะของบประมาณจากหลายๆ แหล่งทุน เช่น โครงการสลากการกุศล
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ODOS
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เห็นด้วย” แต่ มีข้อเสนอให้พิจารณาเพิ่ม
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ศธ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ กสศ. ไม่ขัดข้องต่อโครงการนี้ แต่ทว่ามีความเห็นว่า ควรมีสาขาวิชาหลากหลายในการให้ทุนการศึกษามากกว่าการจำกัดไว้แค่ภาควิชา STEM
เพราะสาขาวิชาอื่นก็มีความสำคัญต่อประเทศและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมด้านเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรม Soft Power
ความต้องการของตลาดแรงงานนั้นแตกต่างกันไปตามพื้นที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นทักษะและความรู้ก็แตกต่างไปเช่นเดียวกัน นอกจากนี้โอกาสในการศึกษาในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนด้าน STEM ยังคงเป็นข้อจำกัดของเด็กยากจน
ที่มา https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/96350
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
คนหนีหลักสูตรการศึกษาไทย แห่ส่งลูกเรียนอินเตอร์
ตีกรอบทิศทางวิจัยการศึกษาแห่งชาติ แก้ปัญหางานวิจัย “ขึ้นหิ้ง”