รายงานภาวะสังคมไทย ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ไตรมาส 2 ปี 67 หนี้สินครัวเรือนไทยชะลอตัวลง โดยมีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 จากร้อยละ 2.3 ของไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปรับลดลงจากร้อยละ 90.7 ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 89.6 ซึ่งแม้จะเป็นการลดต่ำสุดนับแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) แต่ยังเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้จากข้อมูล CEIC พบว่า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของไทย อยู่อันดับที่ 3 จาก 21 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย รองจาก เกาหลีใต้ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และอยู่อันดับที่ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับ 65 ประเทศทั่วโลก
สาเหตุหนี้ครัวเรือนลด
โดยการชะลอตัวของหนี้ครัวเรือนไทย ส่วนหนึ่งมาจากระดับภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ (ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.5 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด) หดตัวเป็นครั้งแรกที่ร้อยละ 1.2
อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนชะลอหรือหดตัวในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในแต่ละประเภทสินเชื่อในไตรมาส 2 ปี 67 ดังนี้
สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 3.5 ของไตรมาสก่อน เนื่องจากการสิ้นสุดการผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) และการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงิน สะท้อนจากมูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 2 ปี 67 ที่หดตัว ในทุกวงเงินสินเชื่อ
สินเชื่อเพื่อยานยนต์ หดตัวร้อยละ 5.8 ต่อเนื่องสามไตรมาสติดต่อกัน ตามความกังวลของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมยอดจาหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศหดตัว และจากสถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อหรือให้วงเงินกู้น้อยลง
กลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากร้อยละ 5.0 ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นทั้งหมด มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เทียบกับร้อยละ 4.2 ของไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 10.4 เหลือร้อยละ 6.3 และสินเชื่อบัตรเครดิต หดตัวร้อยละ 1.1
แม้ภาพรวมการก่อหนี้ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคฯ จะขยายตัวชะลอลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามการกู้ยืมของครัวเรือน เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และปัจจุบันสัดส่วนของสินเชื่อประเภทนี้ ต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากร้อยละ 25.0 ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2555 มาเป็นร้อยละ 27.9 หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
คนไทยจ่ายหนี้ลดลง
ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนยังคงลดลงต่อเนื่อง จากข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จากัด หรือเครดิตบูโร ในไตรมาส 2 ปี 67 ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชาระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) มีจำนวนบัญชี 9.6 ล้านบัญชี เป็นมูลค่ากว่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 8.48 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.01 ของไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ หนี้ NPLs ที่เกิดขึ้นของครัวเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71 อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs)
เมื่อพิจารณาภาพรวมการขยายตัวของ NPLs ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 พบว่า มีสาเหตุการขยายตัวมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก นอกจากนี้ หากพิจารณาสินเชื่อที่ค้างชำระระหว่าง 30 – 90 วัน (SMLs) มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.66 ปรับลดลงจากร้อยละ 4.72 ของไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนหนี้ SMLs ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น
จับตา 3 ประเด็นใหญ่หนี้ครัวเรือน
สำหรับประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
1. แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นหนี้ ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราการผิดนัดชำระที่สูง ซึ่งหากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้หรือไม่มีวินัย ทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้ฃ
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการแก้ไขปัญหานี้ผ่านมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) แต่สัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และมีสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสีย (NPLs) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนประเภทอื่น
2. ความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากสถานการณ์คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมถึงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ไม่เหลือทางเลือก จนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ
โดยจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2566 พบว่า ครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบคิดเป็นมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่ร้อยละ 47.5 เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือน ซึ่งการก่อหนี้นอกระบบจะทำให้ลูกหนี้มีความเสี่ยงในการตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกฎหมายกาหนด ซึ่งบางครั้งสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือร้อยละ 240 ต่อปี การถูกโกงจากสัญญาที่ไม่ชัดเจน การใช้วิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและรุนแรง เป็นต้น
3. แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น สะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร ทั้งการขยายตัวของมูลค่าหนี้เสียที่สูงถึงร้อยละ 23.2 จากร้อยละ 18.2 จากไตรมาสที่ผ่านมา และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.34 จากร้อยละ 3.98 ของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งการเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้าน ที่ถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น ทั้งต่อการอยู่อาศัยและบางส่วนยังใช้เป็นสถานที่ในการประกอบอาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ตึงตัว
ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ลูกหนี้ที่มีการก่อหนี้หลายประเภทเกือบ 1 ใน 3 เลือกที่จะผิดนัด หรือหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้จำกัด จึงเลือกรักษาวงเงินที่เหลือในสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลไว้จับจ่ายใช้สอยแทน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจำแนกตามวงเงินสินเชื่อ จะพบว่า วงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้เสียสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินอื่น ซึ่งสะท้อนว่า ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้เสียข้างต้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
4. ผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมีผู้ประสบภัยกว่า 3.3 แสนครัวเรือน คิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 46.5 พันล้านบาท ทำให้ครัวเรือนมีปัญหาสภาพคล่องจากรายได้ที่ลดลง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชาระหนี้
ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและสถาบันการเงินมีการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่าง ๆ เช่น การให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและเพื่อซ่อมแซมบ้าน มาตรการพักชำระหนี้ และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ดังนั้น ภาครัฐอาจจำเป็นต้องติดตามการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวของผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่ ที่สถานการณ์คลี่คลายให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อให้รายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวโดยเร็ว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- SMEs เผชิญวิกฤติหนี้ เอ็นพีแอลพุ่ง 20%
- มาตรการอุ้มลูกหนี้รายย่อย สร้างภาระมากกว่าตัวเงิน
- พักดอกเบี้ยรายย่อย ช่วยลูกหนี้ “บ้าน-รถ-เอสเอ็มอี”