นับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดโรคติดต่อโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบและหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเติบโตอย่างรวดเร็วแตะระดับ 94.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประกอบการมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทำให้ยอดหนี้ยังคงไม่ลดลง
หลังไทยเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนสถานการณ์กลับมาดีขึ้นแล้ว แต่หนี้ภาคครัวเรือนยังคงทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด-19 ได้หมดลง ทำให้หนี้เสียเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น และสถาบันเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ
จากข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไตรมาส 3 ปี 67 สัดส่วนหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.97% ของสินเชื่อทั้งหมด มูลค่าหนี้ 553,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.84% และสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 64
รัฐบาลเล็งแก้หนี้ครัวเรือน
ทั้งนี้รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาของหนี้ ที่จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ เมื่อ 19 พ.ย. 67 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1/2567 มีการพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ด้วยการพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสีย (NPL) ไม่เกิน 1 ปี เฉพาะในกลุ่มหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ เป็นระยะเวลานาน 3 ปี รวมมูลค่าหนี้ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวเมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ทำให้เกิดการบริโภคมาขึ้นและลงทุนมากขึ้น
ขณะที่เงื่อนไขของลูกหนี้นั้น เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ต้องเป็นหนี้บ้านวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย หนี้ซื้อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคัน และธุรกิจ SMEs วงเงินมาเกิน 3 ล้านบาทต่อราย โดยทุกกลุ่มจะต้องเป็นหนี้เสียนานไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น
ทั้งนี้ แหล่งเงินที่จะมาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนในมาตรการนี้ มาจากที่รัฐบาลจะลดอัตรานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่เก็บจากธนาคารพาณิชย์ลงเหลือ 0.23% ต่อปี จากเดิม 0.46% ต่อปี
เมื่อวันที่ 26 พ.ย.67 สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงการลดเงินนำส่งสมทบกองทุน FIDF ว่า ธปท.อยู่ระหว่างหาข้อสรุปที่ชัดเจนกับ กระทรวงการคลัง เนื่องจากข้อมูลบางอย่างต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบก่อน โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าจะรู้ผลชัดเจนก่อนสิ้นปี 67 ซึ่งครั้งนี้จะให้ธนาคารพาณิชย์มีส่วนร่วมช่วยเหลือลูกหนี้ด้วย ในเรื่องของการพักดอกเบี้ย
ผลกระทบจากการลดส่งเงินสมทบกองทุน FIDF สุวรรณี ยอมรับว่า จะทำให้การจ่ายหนี้ของกองทุนขยายเวลาออกไปอีก เช่น หากลดเงินนำส่งครึ่งหนึ่งจนเหลือ 0.23% เป็นระยะเวลา 1 ปี จะทำให้จ่ายหนี้ช้าออกไปอีกครึ่งปี แต่ ธปท.กับกระทรวงการคลัง มีความเห็นร่วมกันว่าถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะทำ หากทำให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น
กองทุน FIDF คืออะไร
สำหรับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสถาบันการเงิน ด้วยการช่วยเหลือสภาพคล่อง และฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา
ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตการเงินปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง จนสถาบันการเงินบางแห่งเกิกล้มละลาย หรือถูกสั่งปิดกิจการลง เกิดเป็นวิกฤตการณ์การเงินที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ และต่อประชาชนวงกว้าง
ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ ผ่านกองทุน FIDF รวมทั้งค้ำประกันเต็มจำนวนแก่เจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และให้ภาคธุรกิจดำเนินการต่อได้และไม่ทำให้ผู้ฝากเงินได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ความเสียหายของกองทุน FIDF ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้กับกองทุน FIDF มูลค่า 1.21 ล้านล้านบาท และยังค้ำประกันพันธบัตรที่ออกโดยกองทุน FIDF อีก 1.12 แสนล้านบาท รวมทั้งหมด 1.32 ล้านล้านบาท
ซึ่งภาระหนี้ที่รัฐบาลเข้าไปพยุงให้กับกองทุนนั้น ได้ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะ เดิมแหล่งจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของหนี้ดังกล่าวมาจากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล แต่ปัจจุบันแหล่งเงินมาจาก กำไรของ ธปท. เงินที่เก็บจากธนาคารพาณิชย์ 0.46% ของฐานเงินรับฝาก (FIDF Fee) และเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯ โดย ณ 31 ต.ค. 67 มีหนี้เงินต้นคงเหลือรวม 5.5 แสนล้านบาท และคาดว่าจะชำระหนี้เงินต้นหมดภายในปี 2574
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- SMEs เผชิญวิกฤติหนี้ เอ็นพีแอลพุ่ง 20
- คนไทยชำระหนี้ได้ลดลง บีบกู้เงินนอกระบบมากขึ้น
- แก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ต้องใช้นโยบายเพิ่มรายได้