ความหวังที่คนไทยจะได้ใช้ “ระบบตั๋วร่วม” บริการขนส่งสาธารณะจะเป็นจริง หลังล่าช้ามานานนับ 10 ปี เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 3 ธ.ค. 67 เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติ
หากกฎหมายบังคับใช้อาจจะทำให้นโยบายค่าบริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางเป็นจริง เนื่องจากกฎหมายจะให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการเจรจากับเอกชนผู้ได้รับสัมปทานบริการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและรถไฟฟ้า เนื่องจากจะมีการจัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการขึ้นมาดูแล
สุริยะ จึงรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งความหวังว่าจะสามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในปีนี้ และคาดว่าสภาฯจะอนุมัติได้ภายในมิ.ย. 68 เพื่อให้ทันตามกำหนดที่เคยบอกไว้ว่าจะสามารถใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง ในก.ย. 68
หลักการและเหตุผลร่างพระราชบัญญัติฯ
เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหาร จัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. 2563 ใช้บังคับกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ไม่สามารถบังคับให้เอกชนดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เนื่องจากเกินขอบเขตอำนาจที่พระราชบัญญัติระเบียบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 มาตรา 11 (8) ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกระเบียบปฏิบัติราชการไว้ส่งผลให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ไม่สามารถบังคับใช้ได้กับภาคเอกชน ซึ่งการขนส่งสาธารณะในประเทศไทย
ในปัจจุบันนั้น มีทั้งผู้ประกอบการที่เป็นส่วนราชการและภาคเอกชน ดังนั้นการบูรณาการให้เกิดระบบตั๋วร่วมอย่างครอบคลุมทั้งระบบจำเป็นต้องใช้กลไกของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเพื่อเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับการให้บริการระบบตั๋วร่วมในอนาคต และสำหรับผู้ให้บริการในปัจจุบันที่จะเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม กำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนประชาชน รวมถึงสนับสนุนผู้รับใบอนุญาตที่เข้าร่วมระบบตั๋วร่วม กำหนดผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม และในกรณีมีความจำเป็นให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม
กำหนดบทนิยาม ร่างมาตรา 3
- “ตั๋วร่วม” หมายความว่า รูปแบบการชำระค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการในการขนส่ง สาธารณะทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม ไม่ว่าด้วยการใช้บัตรหรือสิ่งอื่นใดแทนการใช้บัตรก็ตาม
- “ระบบตั๋วร่วม” หมายความว่า ระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับค่าโดยสารค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ ในการขนส่งสาธารณะ ซึ่งใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม
- “ขนส่งสาธารณะ” หมายความว่า การขนส่งผู้โดยสารโดยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรูปแบบทางถนน รูปแบบทางราง หรือรูปแบบทางน้ำ
หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม(ร่างมาตรา 5-13)
ให้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน) มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การพัฒนาระบบตั๋วร่วมหรือการพัฒนาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินงานและระยะเวลาเข้าร่วมดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วม พิจารณาเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางต่อคณะรัฐมนตรีในการสนับสนุนระบบตั๋วร่วม รวมถึงกำหนดนโยบายในการนำส่งเงินเข้ากองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม
หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม(ร่างมาตรา 14 – 23)
ส่วนที่ 1 การกำกับดูแล
- ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับผิดชอบงานธุรการของ คนต.รวมถึงมีภารกิจในการจัดทำและเสนอนโยบายหรือแนวทาง
ในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมต่อ คนต. รวมถึงการออกประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับโดยความเห็นชอบของ คนต. ในเรื่องมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม รูปแบบของระบบตั๋วร่วม หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาต และการบริหาร จัดการรหัสความปลอดภัยของระบบตั๋วร่วม อีกทั้ง สนข. ยังมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตและผู้ให้บริการขนส่ง - เมื่อ สนข. ออกประกาศกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องน้ำมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมดังกล่าวไปใช้บังคับ ในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม
ส่วนที่ 2 การประกอบกิจการระบบตั๋วร่วม
กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยความเห็นชอบของ คนต. ทั้งนี้ โดยการขอรับใบอนุญาตเป็นโดยความสมัครใจของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการรายใดไม่ขอรับใบอนุญาต จะมีผลทำให้ไม่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนเงินกองทุน แต่จะไม่มีโทษ ทั้งนี้ ใบอนุญาตประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมแบ่งเป็น 3 ประเภท และมีอายุไม่เกิน 10 ปี ได้แก่
- การให้บริการศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง
- การให้บริการออกตั๋วร่วม
- การให้บริการระบบตั๋วร่วม
กำหนดให้ในกรณีจำเป็น เพื่อรักษาการให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ โดยก่อนมีการตราพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องจัดให้มีการเจรจาและทำความตกลงร่วมกับผู้ประกอบกิจการขนส่งสาธารณะที่จะถูกบังคับ รวมถึงดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามความเหมาะสมและนำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหากผู้ประกอบการที่ถูกบังคับภายใต้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางปกครอง
หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (ร่างมาตรา 24)
กำหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต
- ประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมให้เป็นไปตามมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ระบบตั๋วร่วมทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้
- บำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงระบบตั๋วร่วม หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน ในกรณีที่เกิดความชำรุดเสียหาย จะต้องดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
- รวบรวมข้อมูลการใช้บริการระบบตั๋วร่วม ข้อมูลการเดินทาง และข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่ สนข. ร้องขอ และประมวลผลข้อมูลเพื่อรายงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สนข. ประกาศกำหนด
- รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความสะดวก ได้รับการบริการที่ไม่สุภาพ หรือได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอื่นใดอันเนื่องมาจากการให้บริการระบบตั๋วร่วม เพื่อรายงานต่อ สนข.
- นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม
- ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่กำหนดในประกาศ ระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ
หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (ร่างมาตรา 25 – มาตรา 28)
การกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วมตามที่ คนต. กำหนด โดยให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
- การบูรณาการอัตราค่าโดยสารระหว่างระบบขนส่งสาธารณะที่ต่างระบบและต่างผู้ให้บริการขนส่ง
- ค่าใช้จ่ายอันสมควรในการให้บริการขนส่งสาธารณะโดยมีกำไรที่สมเหตุสมผล ตามประเภทและลักษณะของการให้บริการที่เป็นไปตามปกติในการประกอบธุรกิจ
- ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
- ต้องไม่เป็นภาระแก่ผู้ให้บริการขนส่งและผู้ใช้บริการเกินกว่าปกติ และ
- การแข่งขันที่เป็นธรรม
ในกรณีที่ คนต. เห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี ให้ คนต. มีอำนาจปรับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วมให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนด ไปใช้บังคับ ในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทาน สัญญา ร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม
หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (ร่างมาตรา 29 – มาตรา 34)
ให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมใน สนข. โดยมีวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล
2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม และ
3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม
– แหล่งที่มาของเงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม
- เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
- เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
- เงินที่ได้รับจากผู้ได้รับใบอนุญาต
- เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุน แล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน
- เงินค่าปรับทางปกครอง
- เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน
- ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
- เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากกองทุน กองทุนหมุนเวียน เงินทุน เงินทุนหมุนเวียน หรือทุนหมุนเวียน
– กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้
- เป็นเงินส่งเสริมและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตเนื่องจากประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามที่ คนต. กำหนด
- เป็นเงินสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาต เนื่องจากการนำอัตราค่าโดยสารร่วมมาประยุกต์ใช้
- เป็นเงินสนับสนุนการจัดตั้งหรือปรับปรุงศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ
- เป็นเงินสนับสนุนการลงทุนพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติของผู้รับใบอนุญาต
- ให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม
- เป็นเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัย และพัฒนาระบบตั๋วร่วม
- เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน
ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่เป็นไปตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558
หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (ร่างมาตรา 35 และมาตรา 36)
- กำหนดให้ คนต. มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการ
- กำหนดให้กรณี คนต. สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการ คนต.สามารถมอบหมายให้หน่วยงานใด หรือ สนข. เข้าดำเนินการแทนโดยจ้างพนักงานของผู้รับใบอนุญาตได้โดยให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
หมวด 7 บทกำหนดโทษ (ร่างมาตรา 37 – มาตรา 40)
กำหนดโทษทางปกครองสำหรับกรณีที่ผู้ประกอบกิจการขนส่งสาธารณะซึ่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (อ้างอิงจากพระราชบัญญัติระบบชำระเงิน
พ.ศ. 2560)
บทเฉพาะกาล
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมแล้ว และค่าโดยสารร่วมดังกล่าวจะกระทบต่อสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณีให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อสัญญาให้สอดคล้องกับอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนด โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงประกาศใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนรายงานต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 60 วัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
“สุริยะ” เดินหน้ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ยันปี 68 ได้ใช้แน่นอน
ครม.ต่ออายุค่ารถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย รถไฟฟ้าสาย “สีแดง – สีม่วง” อีก 1 ปี