ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เนื่องจาก กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยใน 2566 ที่ผ่านมา ขยายตัวแบบชะลอลง ซึ่งเกิดจากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศหดตัวลงกว่าคาด และภาคการผลิตฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลก รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า
แต่อย่างไรก็ตามการบริโภคยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง กนง.จึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว
ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนและเงินสำรองเข้มแข็ง สำหรับตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังเป็นปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover) ได้ไม่เต็มจำนวน
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่ลดลงไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ เพราะราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง แต่เกิดขึ้นในบางกลุ่มสินค้า และหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในปี 2567 แนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงร้อยละ 1 ก่อนที่จะทยอยขึ้นในปีหน้า และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม โดยต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
หั่นเป้าจีดีพีไทยปี 67 ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวลดลงในช่วงร้อยละ 2.50-3.00 โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว แต่ภาคการส่งออกและการผลิตจะขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด
ขณะที่ในระยะข้างหน้า กนง. มองว่าควรมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัฐหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่จะเป็นอุปสรรคมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตามการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ของ กนง.ในครั้งนี้ ไม่ใช่มติที่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากมีกรรมการ 2 คน ลงความเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
นายกฯจี้ลดดอกเบี้ย ดันเศรษฐกิจ หวังเดินหน้าเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยจากร้อยละ 0.5 มาอยู่ในระดับสูงที่ 2.50 ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้มีกระแสกดดันจากภาคการเมืองโดยเฉพาะฝั่งรัฐบาลที่พยายามผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงินทุนจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าการกู้เงินดังกล่าวจะสร้างภาระมหาศาลให้กับประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้บุคคลฝ่ายรัฐบาลที่ออกมากดดัน กนง.ให้ลดดอกเบี้ย มีทั้งพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
โดยเฉพาะเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยถึง 3 ครั้ง กับการปรับขึ้นและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 นายกฯ ระบุว่า “เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า ผมไม่เห็นด้วย” ในวันที่ 6 ก.พ.2567 นายกฯ กล่าวว่า “ผมเชื่อว่า เรื่องลดดอกเบี้ยมันถึงเวลา ก็ฝากให้คณะกรรมการกนง.พิจารณาประชุมกัน”
ต่อมาวันที่ 7 ก.พ.2567 หลังการประชุม กนง. นายกรัฐมนตรี กล่าวน้อมรับผลการลงมติดังกล่าว แต่ย้ำว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องให้ข้อคิดเห็น เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน “รัฐบาลไปก้าวก่ายไม่ได้ ถามว่าเห็นด้วยไหม ก็ไม่เห็นด้วย” และยังคงสัญญาณตามเดิมว่าควรลดดอกเบี้ย “ตอนนี้เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนแล้ว”
กนง. ยินดีรับฟังทุกข้อเสนอลดดอกเบี้ย
ในการแถลงข่าวผลการประชุมนโยบายการเงินวันนี้ ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ให้ความเห็นว่า “การพูดคุยอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา เป็นปกติที่มีมุมมองจากหลาย ๆ ภาคส่วน และก็มีค่ามาก เพราะทำให้เราได้มองจากหลาย ๆ แง่ ว่าควรจะพิจารณาประเด็นอะไรบ้าง เป็นเรื่องปกติ ที่ต่างประเทศก็มีการพูดคุยมีการดีเบตกันอย่างกว้างขวางเรื่องของนโยบายทั่ว ๆ ไป รวมถึงนโยบายการเงิน สิ่งที่ถือว่าเป็นประโยชน์จากการที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง คือ ทำให้เราแน่ใจว่าเราไม่ได้ลืมอะไรไป ให้คณะกรรมการฯพิจารณานโยบายรอบคอบ เพราะว่าอัตราดอกเบี้ย มีความพิเศษเฉพาะ คือ กระทบเยอะมาก เลยมีหลายแง่มุม”
นอกจากนี้ เลขานุการ กนง. ยังย้ำว่าข้อเสนอที่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากรัฐบาลถือเป็นความ”หวังดี” เนื่องจากยังคงอยู่ในจุดประสงค์เดียวกัน “ก็ยินดีที่ได้รับข้อเสนอแนะมุมมองที่หลากหลาย”