หลังจากมีรายงานว่าพบสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจปัสสาวะของประชาชน 25 ราย ในจำนวนนี้รวมถึงเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ พบว่า กว่า 80% มีสารหนูในร่างกาย แต่ยังอยู่ในระดับ “ไม่เกินค่ามาตรฐาน” ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
แม้ผลการตรวจจะถูกสื่อสารในเชิง “ไม่น่ากังวล” ทว่าความสงสัยของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงข้อสังเกตของนักวิชาการ กลับตั้งคำถามว่า “แค่ไม่เกินค่ามาตรฐาน” เพียงพอแล้วหรือ?
ThaiPBS Policy Watch ย้อนดูบทเรียนในอดีตจากกรณีเหมืองทองอัครา จังหวัดพิจิตร ซึ่งเคยมีผลตรวจพบสารหนูในปัสสาวะของเด็กที่คล้ายกัน
ผลตรวจชาวแม่อายพบสารหนูแม่กก “ยังไม่เกินมาตรฐาน”
ข้อมูลการดำเนินงานเฝ้าระวังปริมาณสารหนูของ กรมอนามัย ที่ตรวจสอบปริมาณสารหนูรวมในปัสสาวะของประชาชนในพื้นที่แม่อาย ที่พบว่า แม้ผลตรวจทั้งสองรอบจะไม่เกิน “ค่าอ้างอิง” ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 100 ไมโครกรัมต่อลิตร (µg/L) แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือลักษณะ “แนวโน้มค่าที่สูงผิดปกติ” ในบางราย และการที่สารหนูยังคงตกค้างในร่างกายแม้เวลาผ่านไปนานนับเดือน
ผลการตรวจครั้งแรกในวันที่ 20–21 เมษายน 2568 สุ่มตัวอย่างประชาชนจำนวน 10 ราย พบว่าค่าสารหนูในปัสสาวะมีตั้งแต่ต่ำสุดเพียง 2.0 µg/L ไปจนถึงสูงสุดถึง 63.6 µg/L โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างลำดับที่ 6 ถึง 10 มีค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยยะ
ถัดมาอีกประมาณหนึ่งเดือน วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ได้มีการตรวจครั้งที่ 2 จากตัวอย่างประชาชนอีก 5 ราย พบค่าสารหนูในระดับที่ยัง “ไม่เกินเกณฑ์” เช่นเดียวกัน แต่หลายรายกลับมีค่าอยู่ในช่วง 47.0 – 65.7 µg/L ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีค่าค่อนข้างสูงในการตรวจครั้งแรก
น่าสังเกตว่า แม้ตัวเลขจะไม่ทะลุเส้นอันตราย แต่แนวโน้มของค่าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และไม่มีการลดลงมากนักระหว่างรอบการตรวจ บ่งชี้ว่าสารหนูอาจกำลังสะสมในร่างกายของผู้คนอย่างเรื้อรัง และสะท้อนความเสี่ยงที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคตหากไม่มีการป้องกันอย่างเหมาะสมหรือไม่
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ในคนทั่วไปอาจมีสารหนูอยู่ในร่างกายได้ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารทะเล ซึ่งจะพบสารหนูในรูปแบบอินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษ ร่างกายจะสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ
กรณีที่มีการรายงานผลตรวจสองรอบว่า “พบสารหนู” แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก หากค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
“ค่ามาตรฐานของสารอาร์เซนิกในปัสสาวะอยู่ที่ 100 ไมโครกรัมต่อลิตร เราตรวจรวม ไม่แยกประเภทอินทรีย์หรืออนินทรีย์ แต่ค่าที่ตรวจได้ก็ยังต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่มีอันตราย” อธิบดีกรมอนามัยชี้แจง
อย่างไรก็ตาม สารหนูเป็นโลหะหนักที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางน้ำดื่ม อาหาร หรือแม้กระทั่งฝุ่นละอองในอากาศ เมื่อสะสมในร่างกาย อาจก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาว เช่น ความผิดปกติของระบบประสาท โรคผิวหนัง มะเร็งตับ มะเร็งปอด และภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ การได้รับสารหนูต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองได้
แนะตรวจแยกสารหนู “อนินทรีย์-อินทรีย์” ก่อนสรุปความเสี่ยง
ขณะที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมายังไม่สามารถใช้สรุปประเด็นความปลอดภัยได้อย่างชัดเจน เนื่องจากผลตรวจเป็น “สารหนูรวม (Total Arsenic)” ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชนิดใด
การตรวจปัสสาวะที่พบสารหนูรวมแบบนี้ ยังแปรผลได้ยาก เพราะสารหนูแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ‘สารหนูอนินทรีย์’ ที่เป็นพิษและมักปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม เช่น เหมืองแร่ หรือน้ำบาดาล และ ‘สารหนูอินทรีย์’ ที่พบในอาหารทะเล
การพบสารหนูในระดับ 10–30 µg/L ยังไม่ใช่ระดับที่น่าวิตก ถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดใด ถ้าเป็นสารหนูอินทรีย์ ค่า 30 ก็ไม่ได้แปลว่าอันตราย เพราะคนที่กินอาหารทะเลก็มีค่านี้ได้ แต่ถ้าเป็น ‘สารหนูอนินทรีย์’ นั่นคืออีกเรื่องหนึ่งเลย ต้องกังวลมากกว่า
เปรียบเทียบกับกรณีเหมืองทองอัครา
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังเปรียบเทียบกับกรณี “เหมืองทองอัครา” ในจังหวัดพิจิตร ซึ่งเคยมีข้อถกเถียงด้านวิธีการตรวจสารหนูแบบเดียวกันว่า ตอนนั้นก็เจอเหมือนกัน ตรวจสารหนูรวม แล้วเกิดข้อโต้แย้งว่าผลไม่น่าเชื่อถือ ต่อมาจึงต้องส่งตรวจซ้ำ แยกสารหนูเฉพาะชนิด แล้วพบว่าสารหนูอนินทรีย์สูงจริง จึงยืนยันได้ว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อม
เขาตั้งข้อสังเกตว่า หากพบสารหนูในเด็กแม้เพียงไม่กี่ราย ก็ควรมีการตรวจเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะจำนวนที่ตรวจยังถือว่าน้อยมาก
“ทำไมมีเด็กแค่ 5–6 คนที่ถูกตรวจ ทั้งที่ในพื้นที่น่าจะมีเด็กอยู่มากกว่านั้นเยอะมาก? ถ้าเริ่มพบสิ่งผิดปกติแล้ว ก็ควรสุ่มตรวจกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้น เพื่อยืนยันว่าเป็นปัญหาหรือไม่” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
ตัวอย่างประสบการณ์จากกรณีเหมืองทองอัคราในอดีตว่า ทีมวิจัยได้ตรวจเด็กกว่า 200 คน เพื่อวิเคราะห์สารหนูและแมงกานีสในร่างกายอย่างละเอียด และพบความเกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านพัฒนาการเรียนรู้ เช่น เด็กที่มีระดับสารหนูอนินทรีย์ในปัสสาวะเกิน 35 ไมโครกรัมต่อลิตร มีแนวโน้มสูงกว่ากลุ่มที่ต่ำกว่า ว่าจะมีภาวะเรียนช้า อ่านช้า หรือคำนวณช้า
“ตอนนั้นเราตรวจเป็นร้อย ๆ คน และแยกชัดว่าเป็นสารหนูอนินทรีย์ เมื่อเปรียบเทียบช่วงที่เหมืองยังเปิดดำเนินการ กับช่วงที่หยุดไปแล้วสองปี พบว่าสารหนูในปัสสาวะเด็กลดลงถึง 12 เท่า”
แม้ว่าผลตรวจที่ออกมา ไม่ฟันธงว่ามีต้นตอจากเหมืองทองดังกล่าวหรือไม่ แต่จากกรณีเหมืองอัครา ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเอง รัฐยังไม่มีมาตรการจัดการที่ชัดเจน ทั้งยังอนุมัติ อนุญาตให้เดินหน้าต่อได้ แล้วจะคาดหวังอะไรกับแม่น้ำกก ที่มีเหมือนอยู่ที่ต้นน้ำ ซึ่งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน?
ถ้าเหมืองในไทยเรายังจัดการไม่ได้ แล้วแม่น้ำที่มีเหมืองอยู่นอกเขตแดน เราจะจัดการได้จริงหรือ?
ตรวจให้มากขึ้น-ถูกวิธี ทั้งอดีต-ปัจจุบัน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ เสนอว่า หน่วยงานรัฐอย่างกรมอนามัยควรตรวจเพิ่มในกลุ่มเด็กหรือประชาชนที่อาจมีความเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ริมแม่น้ำกก และต้องแยกชนิดของสารหนูที่ตรวจให้ชัดเจนว่าเป็น “อินทรีย์” หรือ “อนินทรีย์” เพราะส่งผลต่อการวินิจฉัยและสื่อสารต่อสาธารณะ
“ถ้ายังตรวจแบบรวมอยู่ จะยังไม่สามารถสรุปความเสี่ยงได้ ต้องตรวจแยก และใช้ค่าที่ ‘ควรเฝ้าระวัง’ เช่น 35 ไมโครกรัมต่อลิตร สำหรับสารหนูอนินทรีย์ ไม่ใช่รอให้ถึง 100 แล้วค่อยบอกว่าเป็นอันตราย”
เขายังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปรียบเทียบกับข้อมูลจากพื้นที่อื่น เช่น พิจิตร เพชรบูรณ์ หรือแม้แต่บริเวณชายแดนพม่าที่อาจมีเหมืองทองอยู่
ถ้าข้อมูลระบุว่ามีเหมืองทองฝั่งพม่าจริง และน้ำในแม่น้ำกกอาจรับสารปนเปื้อนมาจาก upstream ตรงนั้น ก็ควรใช้ข้อมูลเก่าจากฝั่งไทยมาเทียบ หรืออย่างน้อยควรตั้งสมมติฐานตรวจสอบต่อ ไม่ใช่สรุปว่าไม่เป็นอันตรายทั้งที่ยังไม่รู้ชัดว่ามาจากไหน
แต่หากตรวจสารหนูในกลุ่มอนินทรีย์จริง ๆ จะมีต้นทุนสูง ตกคนละเกือบ 2,000 บาท แต่หากต้องการความชัดเจนทางวิทยาศาสตร์และปกป้องสุขภาพประชาชน ก็จำเป็นต้องลงทุน
ข้อถกเถียง เหมืองทองจากฝั่งเมียนมา หรือเคมีเกษตร?
คำถามที่เป็นข้อถกเถียงว่า แหล่งกำเนิดสารหนูในแม่น้ำกกอาจมาจาก “เหมืองทองฝั่งเมียนมา” อย่างเดียว จริงหรือไม่ หรือว่า จริง ๆ แล้วมีการใช้เคมีเกษตรในพื้นที่ด้วยซึ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมการปนเปื้อนในแม่น้ำกก ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.อดิศักดิ์ มองว่าเหมืองทองขนาดใหญ่ ไม่ใช่ทำกันเงียบ ๆ และโดยธรรมชาติของพื้นที่ที่มีแร่ทองคำ มักมีสารหนูสะสมสูงอยู่แล้วในชั้นดิน หากมีการขุดเจาะหรือล้างแร่ ก็อาจทำให้สารหนูไหลลงน้ำได้
“แต่หากจะสื่อสารความปลอดภัยต่อสาธารณะ ต้องเริ่มจากการตรวจที่ถูกต้องก่อน ถ้ายังไม่รู้ว่าผลตรวจหมายถึงอะไร จะให้ประชาชนเข้าใจถูกได้อย่างไร?”
เด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปก็อาจมีสารหนูจากสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วในระดับต่ำ แต่ถ้าจะยืนยันว่าปลอดภัยจริง ต้องรู้ว่าสารหนูที่พบเป็นชนิดไหน ถ้าเป็นอนินทรีย์ ถึงจะต้องกังวล
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยเฉพาะหลังพบการปนเปื้อนในเด็ก ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตา การแก้ปัญหาของภาครัฐว่าจะปกป้องสุขภาพเด็กจากสารปนเปื้อนได้หรือไม่ หากยังทำไม่ได้ก็ถือว่ารัฐสอบตก และขาดความจริงจังในการดูแลสุขภาพของชาวบ้านและเด็กในพื้นที่
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง