ไทยเผชิญฝนตกหนักในช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ประกอบกับมีน้ำจากประเทศเพื่อนตอนบนไหลลงมาสมทบ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่ต้องจมน้ำเป็นเวลานานหลายสิบวัน สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่กว่า 50,000 ครัวเรือน นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังขยายเป็นวงกว้างไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงมาจากภาคเหนือ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเหตุใดถึงไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า ความล่าช้าในการเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย และความล้มเหลวของแผนเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ
ความพร้อมระบบเตือนภัยไทยเป็นอย่างไร
ศิรินันต์ สุวรรณโมลี นักวิชาการอิสระด้านการจัดการภัยพิบัติ ได้รวบรวมข้อมูลการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศไทย พบว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีพันธกิจตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ มีกรอบระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 – 2573 (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015 – 2030) ซึ่งมีประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) ให้การรับรองกว่า 187 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
โดยมีเป้าหมาย คือ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงใหม่และลดความเสี่ยงที่มีอยู่ เพื่อป้องกันและทำให้ความล่อแหลมและเปราะบาง ต่อภัยพิบัติลดน้อยลง ตลอดจนช่วยให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญเหตุและฟื้นฟูที่ดียิ่งขึ้น จะทำให้สามารถรับมือและฟื้นคืนกลับได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ด้วยการดำเนินงาน “ลด 4 อย่าง เพิ่ม 3 อย่าง” คือ ลดอัตราการเสียชีวิต, ลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ, ลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ และ ลดความเสียหายต่อสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการพื้นฐาน
ในขณะที่การเพิ่ม 3 อย่าง คือ 1.เพิ่มแผนยุทธศาสตร์ ลดความเสี่ยงระดับชาติ และระดับท้องถิ่น 2. เพิ่มการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และ 3. เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าและข้อมูลความเสี่ยง
กรอบการดำเนินงานนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยในเป้าหมาย SDG11.b คือ เพิ่มจำนวนเมืองและกระบวนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และดำเนินการตามนโยบาย และแผนที่บูรณาการเพื่อนำไปสู่ความครอบคลุม ความมีประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีภูมิต้านทางต่อภัยพิบัติ และให้พัฒนาและดำเนินการตามการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติแบบองค์รวมในทุกระดับ
นอกจากนี้กรอบการดำนเนินงาน มี 4 ภารกิจสำคัญที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติที่สำคัญสำหรับประเทศและท้องถิ่น ดังนี้ 1. การสร้างความเข้าใจความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 2. เสริมสร้างศักยภาพในการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 3. การลงทุนในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อให้พร้อมรับมือและฟื้นคืนกลับได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 4. พัฒนาศักยภาพการเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการฟื้นสภาพและซ่อมสร้างให้ดีกว่าเดิมในช่วงของการบูรณะฟื้นฟูภายหลังเกิดภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตาม เพื่อการดำเนินงานตามกรอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลที่ประชุมสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน 7 เป้าหมาย ได้แก่
– เป้าหมาย A ลดอัตราการตายจากภัยพิบัติทั่วโลกลงอย่างมากในปี 2573 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกเฉลี่ย 100,000 รายต่อปี ระหว่างปี 2563 ถึง พ.ศ. 2573 เปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2548-2558
– เป้าหมาย B ลดจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกลงอย่างมากในปี 2573 เพื่อลดตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลกต่อ 100,000 ราย ระหว่างปี 2563 ถึง พ.ศ. 2573 เปรียบเทียบกับปี 2548-2558
– เป้าหมาย C ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยพิบัติทางตรงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายในปี 2573
– เป้าหมาย D ช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและการหยุดชะงักของบริการขั้นพื้นฐานรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและการศึกษา พัฒนาความยืดหยุ่นต่อภัยให้ได้ภายในปี 2573
– เป้าหมาย E เพิ่มจำนวนประเทศที่มีแผนยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับชาติและระดับภูมิภาคภายในปี 2563
– เป้าหมาย F ช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศให้กับประเทศกำลังพัฒนาผ่านการสนับสนุนอย่างเพียงพอและยั่งยืนเพื่อเสริมการดำเนินงานของประเทศในการดำเนินการตามกรอบภายในปี 2573
– เป้าหมาย G เพิ่มความพร้อมใช้งานและการเข้าถึงระบบเตือนภัยที่มีความเสี่ยงหลาย ต้นและข้อมูลความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการประเมินผลต่อประชาชนภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมาย G ที่โฟกัสไปที่การจัดให้มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพนั้นมีตัวชี้วัดย่อยที่ต้องติดตาม คือ
- G-1 (องค์ประกอบ G2-G5): จำนวนประเทศที่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าหลายอันตราย
- G-2 จำนวนประเทศที่มีระบบติดตามและพยากรณ์อันตรายหลากหลาย
- G-3 จำนวนคนต่อ 100,000 คน ที่ได้รับการคุ้มครองโดยข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้าผ่านหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผ่านกลไกการเผยแพร่ระดับชาติ ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าหลายอันตราย (multi-hazard early warning systems: MHEWS)
- G-4 เปอร์เซ็นต์ของรัฐบาลท้องถิ่นมีแผนปฏิบัติการเตือนภัยล่วงหน้า เตรียมพร้อมในการตอบสนองโดยใช้ข้อมูลจากระบบเตือนภัยล่วงหน้าหลายอันตราย
- G-5 จำนวนประเทศที่มีข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เข้าถึงได้ เข้าใจได้ ใช้งานได้ ให้รู้เกี่ยวกับความเสี่ยงแก่ประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
- G-6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่เผชิญหรือเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่ได้รับการคุ้มครองโดยการอพยพล่วงหน้าหลังการเตือนภัยล่วงหน้า
สำหรับองค์ประกอบของการเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพนั้น สำนักงานลดความเสี่ยงภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) และ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เสนอว่าควรเป็นระบบ End-to-End คือ เป็นการเตือนภัยที่เชื่อมโยงกันระหว่างผู้แจ้งเตือนและผู้รับสาส์น จากผู้ที่ทำหน้าที่ติดตามแนวโน้มของภัยและสร้างข้อความสำหรับเตือนอันตรายที่จะเกิดขึ้น ด้วยการทำงานแบบไร้รอยต่อเป็นระบบที่เหนียวแน่นและแข็งแกร่ง จากต้นทางถึงปลายทางในระบบเตือนภัยล่วงหน้า
ระบบที่มีประสิทธิผลดังกล่าวจะประกอบด้วยเสาหลัก 4 ประการ ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดตามกรอบการดำเนินงานเซนได ได้แก่ เสาที่ 1 (G5) ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ, เสาที่ 2 (G2) ระบบการสังเกตการณ์ ติดตาม และพยากรณ์, เสาที่ 3 (G3) กลไกการเผยแพร่คำเตือน และ เสาที่ 4 (G4) ความสามารถในการเตรียมพร้อมและตอบสนอง
ขณะที่การประสานงานภายในและประสานงานระหว่างภาคส่วนระดับต่างๆ เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากต่อประสิทธิภาพของการเตือนภัยแบบ End-to-End เพราะความล้มเหลวขององค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งในกลไก จะนำไปสู่ความล้มเหลวโดยรวมต่อภาพรวมของการเตือนภัยล่วงหน้าทั้งหมด และจะยิ่งเพิ่มแนวโน้มต่อผลกระทบเชิงลบในการดำรงชีวิต
นอกจากนี้เนื่องจากความรับผิดชอบในการเผยแพร่คำเตือนและตอบสนองกับสถานการณ์นั้น เป็นของผู้มีอำนาจตัดสินใจของรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่น การมีศูนย์เตือนภัยระดับชาติที่จัดตั้งขึ้นอย่างดีและปฏิบัติงานได้จริง จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบเตือนภัยแบบให้ครบวงจร โดยกำหนดและเผยแพร่คำเตือนเชื่อมต่อกับชุมชนที่มีความเสี่ยง เพื่อให้แน่ใจว่ามีความสามารถในการดำเนินการล่วงและตอบสนองได้อย่างครอบคลุม
ขาดการสร้างความรู้เสี่ยงภัยให้ประชาชน
จากเสาหลัก 4 ประการของการเตือนภัยล่วงหน้านี้ ประเทศไทยได้พัฒนาระบบติดตามสถานการณ์และพยากรณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อประเมินสถานะความพร้อมตามกลไกแบบ End-to-End ก็พบว่า ยังมีการดำเนินงานที่ไม่ครอบคลุม โดยอ้างอิงจากรายงานสถานะของสภาพภูมิอากาศในเอเชียในปี 2023 หรือ World Meteorological Organization (2024)
รายงานดังกล่าว ได้ระบุถึงสถานะการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามเป้าหมาย G ของกรอบการดำเนินงานเซนได ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีการรายงานข้อมูล เสาที่ 1 การสร้างการรับรู้ความเสี่ยงแก่ประชาชน และเสาที่ 4 ข้อมูลการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ ส่วนเสาที่ 2 การติดตามและพยากรณ์สภาพอากาศมีระดับการดำเนินงานอยู่ที่ 0.8 และเสาที่ 3 มีการเตือนภัย-เผยแพร่ข้อมูลอยู่ที่ 1.0
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับรายงานภาคสมัครใจของการดำเนินงานตามกรอบเซนได ที่ไทยส่งรายงานแก่สหประชาชาติ ( UNDRR) ในปี 2565 พบว่า ไทยมีโครงการพัฒนาระบบติดตามภัยพิบัติ (ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ) ใช้บประมาณ 158,567,300 บาท ซึ่งเป็นการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์ และวิเคราะห์สภาพอากาศ มีระบบพยากรณ์ รองรับข้อมูลการเตือนภัยพร้อมคำเตือนไปยังแต่ละจังหวัด
แต่ขณะที่การอบรมและจัดตั้งการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน (CBDRM) ในปี 2565 มีเพียง 50% ของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยง (15,671 ชุมชนจาก 33,176 ชุมชน) ที่ได้รับการฝึกอบรมใน CBDRM และมีเพียง 456 ชุมชน ที่มีการตั้งศูนย์เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งโครงการ CBDRM มีงบประมาณแบ่งออกเป็น 1.การฝึกอบรม CBDRM ชุดละ 50,000 บาท และ 2.การติดตามผลการปฏิบัติงาน ชุดละ 3,000 บาท
งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ไปนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งแต่ละปีก็จะแตกต่างกันไป แต่ทุกโครงการก็จะมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเตรียมการป้องกัน รู้จักการเตือนภัย และบริหารจัดการภัยพิบัติในชุมชน/หมู่บ้านในพื้นที่เสี่ยง จัดทำแผนเฝ้าระวังภัยพิบัติที่ชุมชน /หมู่บ้านคิดและทำด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ
ปัญหา 8 ด้านรับมือภัยพิบัติของไทย
นอกจากนี้รายงานการดำเนินงานตามกรอบเซนไดปี 2565 นั้นยังประเมินปัญหาด้านการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติที่เชื่อมโยงกับการเตือนภัยล่วงหน้าของไทย ได้แก่
- ไทยไม่มีแผนที่ความเสี่ยงภัยพิบัติอย่างเป็นทางการ แผนที่ความเสี่ยงในประเทศไทยจัดทำขึ้นในขนาดเล็กที่แยกกันทำและกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ยังไม่เคยมีการรวมแผนที่เหล่านี้เข้ากับแผนที่ขนาดใหญ่
- สภาพการพัฒนามิติความเป็นเมืองที่ขาดการควบคุม ทำให้ภัย ความเปราะบาง และความล่อแหลมยิ่งเพิ่มเรื้อรังมากขึ้นๆ
- การเก็บข้อมูลและแชร์กันระหว่างกระทรวง สำหรับประมาณการความเสียหายและการสูญเสียยังไม่โยงกัน ขาดความแม่นยำ การเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงไม่เพียงพอ
- การขาดความไว้วางใจกันระหว่างภาครัฐกับอาสาสมัครภาคประชาชน ทำให้แม้จะมีระบบสื่อสารของอาสาสมัคร เช่น วิทยุสมัครเล่น แต่การสื่อสาร แบ่งปันข้อมูลร่วมกันก็ยังเกิดขึ้นได้ยาก
- การอบรม CBDRM นั้นผ่านไปนานมากแล้ว ทักษะ ความรู้ที่เคยถ่ายทอดลงไปนั้นเลือนลางไปมากแล้ว
- ฉากทัศน์ในแผนรับมือภัยพิบัติของแต่ละท้องถิ่น ยังขาดแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวและเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ในฉากทัศน์ที่มีความร้ายแรง
- แม้ว่าประเทศไทยจะมีกลไกงบประมาณสำหรับการรับมือภัยพิบัติในระยะก่อนเกิดภัย มีนโยบายการชดเชยสำหรับความช่วยเหลือหลังเกิดภัย มีระบบประกันภัยสำหรับพืชผลทางการเกษตร แต่ก็ยังมีความคุ้มครองไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปก็ยังไม่ค่อยให้ความสนใจ
- งบประมาณและการลงทุนด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติยังไม่เพียงพอ มีข้อจำกัดทางกฎหมายในการบริหารและงบประมาณเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดังนั้นแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฏหมายด้านการป้องกันและบรรเทาสารธารณภัยครบในทุกมิติ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมในภาวะปกติก็ตาม แต่รายงานรายงานสถานะตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็ยังชี้ว่า สัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย มีเพียงร้อยละ 50 ที่มีแผนเตรียมพร้อมรับสาธารณภัยที่สอดคล้องกับแผนชาติ
อาจกล่าวได้ว่า สถานะความไม่พร้อมด้านการเตรียมพร้อมรับภัยในระดับท้องถิ่น ที่ปรากฏรายงานระดับโลกนั้นไม่เกินจริง
จากข้อมูลและสภาพที่เป็นอยู่ ประเทศไทยจึงไม่ต่างกับภาพรวมของเอเชียและประเทศอื่น ๆ ในโลกที่ส่วนใหญ่ ยังมีจุดอ่อนในการเตรียมพร้อมรับภัยในระดับชุมชน สะท้อนได้จากผลของการประเมินสถานะในการเตรียมพร้อมด้านการเตือนภัยล่วงหน้าในระดับโลกนั้น ประเทศในโซนเอเชียที่รายงานว่ามีความพร้อมด้านการเตือนภัย ในแง่ของการมีแผนระดับท้องถิ่นครอบคลุมเรื่องการเตือนล่วงหน้า (comprehensive) ที่ร้อยละ 28 (11 ประเทศ) จากประเทศทั้งหมดที่ตอบรายงานในปี 2566 จำนวน 63 ประเทศ ประเทศที่เหลือคือ มีข้อจำกัด หรือ ไม่ส่งรายงานผลในรายงานภาคสมัครใจ (World Meteorological Organization, 2024)
กาง 5 ยุทธศาสตร์เตือนภัยล่วงหน้าระยะ 7 ปี
จากการทบทวนกรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และช่องว่างของการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติของไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กำหนดแนวทางการสร้างขีดความสามารถที่เชื่อมโยงกับการเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้ภายในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 มียุทธศาสตร์และกลยุทธที่สอดรับกันในการไปสู่การเตือนภัยแบบ End-to-End ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย มี 2 กลยุทธ
กลยุทธที่ 1 พัฒนาและส่งเสริมให้มีระบบการประเมินความเสี่ยง ในทุกระดับตั้งแต่ ชาติ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน 3 ส่วน คือ
1.แนวทางปฏิบัติในการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย คือ สํารวจและจัดทําข้อมูลฐาน และชุดข้อมูล ที่จําเป็นสําหรับการจัดการ ความเสี่ยงจากสาธารณภัยในพื้นที่ และมีการเชื่อมโยงข้อมูลทุกภาคส่วนในทุกระดับ โดยกําหนดให้มีข้อตกลงระหว่าง หน่วยงานในการขอใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยร่วมกันเพื่อให้ได้แผนที่ความเสี่ยง ทั้งนี้ ให้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลเชิงสถิติและเชิงพื้นที่เพื่อการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย อย่างสม่ำเสมอ
รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงโดยสร้างฉากทัศน์เป็นการใช้สถานการณ์ หรือสถิติของภัยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อค้นหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ที่ปรึกษาด้านเทคนิคจากสถาบัน การศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนา หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นําความรู้ และแนวทางปฏิบัติจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้ร่วมกับความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ ผนวกกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในทุกมิติ
2.แนวทางปฏิบัติในการใช้ผลการประเมินความเสี่ยง เพื่อการวางแผน แก้ไขปัญหาความเปราะบาง และความล่อแหลม การเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยในทุกระดับ โดยนําผลการประเมินความเสี่ยงมาเป็นแนวทางในการกําาหนดแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อจัดลําดับความสําคัญและจัดสรรทรัพยากร รวมถึงริเริ่มโครงการการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยบรรจุในนโยบายระดับชาติ และระดับพื้นที่
3.แนวทางปฏิบัติในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยเพื่อนําไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการ
- สื่อสารความเสี่ยงของพื้นที่ให้แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนได้รับทราบความเสี่ยงของพื้นที่ตนเอง เพื่อให้มีความตระหนัก เข้าใจความเสี่ยงในพื้นที่ ให้รู้เท่าทันภัย และเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัย โดยการวางแผนและการลงทุนด้านการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย
- จัดทํา ปรับปรุง และพัฒนาคู่มือประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยให้หน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับรู้ความเสี่ยงของพื้นที่
- จัดทํา ปรับปรุง และพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องดูแล เป็นพิเศษ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น
- พัฒนาศักยภาพให้ทุกภาคส่วนมีความรู้และความเข้าใจความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยให้นําคู่มือ ประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย และสื่อการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้ให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่
- ให้มีหลักสูตรการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยในการศึกษาภาคบังคับและการศึกษานอกระบบ
กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนามาตรการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงที่มีอยู่เดิมและป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงใหม่ ด้วยมาตรการและวิธีการที่หลากหลายในการป้องกันและลดความล่อแหลม เปราะบาง และเพิ่มศักยภาพในการ เตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ รวมทั้งฟื้นฟูให้กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วให้ดีกว่า และปลอดภัยกว่าเดิม ร่วมกับการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน โดยพิจารณาเลือกใช้วิธีการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยตามแนวทางปฏิบัติดังนี้
1.แนวทางปฏิบัติในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
- ย้ายที่ตั้งชุมชน หมู่บ้านและอาคารสถานที่ออกนอกพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัย หรือการออกแบบโครงสร้างและใช้วัสดุในการก่อสร้างที่มีความคงทนและปลอดภัย
- กําหนด/จัดทําโซนนิ่ง เพื่อวางแผนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
- จัดทําผังเมือง โดยคํานึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงจากสาธารณภัย และมีการบังคับใช้ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดทํากฎระเบียบมาตรฐานด้านความปลอดภัยในชุมชนที่อยู่อาศัย
2.แนวทางปฏิบัติในการป้องกันและลดผลกระทบจากความเสี่ยง
- กําหนดพื้นที่ และจัดกลุ่มที่ตั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เช่น การวางแผนการใช้ที่ดิน การจัดทําแผนที่เสี่ยงภัย การกําหนดมาตรฐานความปลอดภัยของกิจกรรมต่าง ๆ การกําหนดโซนนิ่ง เป็นต้น
- กําหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคารที่ต้านทาน และไม่ก่อให้เกิดสาธารณภัยต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว พายุ เป็นต้น
- เสริมสร้างความแข็งแรงของตลิ่งด้วยการปลูกต้นไม้ ไม้พุ่ม หญ้าแฝก ร่วมกับการลดความเสี่ยง จากสาธารณภัยโดยใช้ระบบนิเวศเป็นฐาน
- ขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ และสามารถระบายน้ำาของพื้นที่แบบปกติและแบบฉุกเฉิน
- ปรับแผนการเกษตรเพ่อกระจายความเส่ยง เช่น ปลูกป่า ปลูกไม้คลุมหน้าดินกันดินพังทลาย ทำแนวปลูกแนวขวาง แนะนำพันธุ์พืชที่ทนต่อแมลงศัตรูพืชและความแห้งแล้ง รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชให้เหมาะสมกับ สภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
การแจ้งเตือนภัย (Warning) ลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อม การป้องกันและลดผลกระทบ โดยการให้ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับสาธารณภัยและการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็วไปยังพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้หน่วยงานและประชาชน เตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการแจ้งเตือนภัยจะมี 4 แนวทางปฏิบัติได้แก่
1.แนวทางปฏิบัติของระบบการเตือนภัย การจัดหา ติดตั้ง และพัฒนาโครงสร้างระบบ การเตือนภัย ระบบสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานด้านการเตือนภัยในการพัฒนาการแจ้งเตือนภัย วิเคราะห์ข้อมูล สาธารณภัยและการส่งข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วไปยังส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ซึ่งการพัฒนา และเชื่อมโยงระบบการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังภัยที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก 1.การรับรู้และเข้าใจความเสี่ยง 2.การติดตามสถานการณ์และการพยากรณ์ 3.การแจ้งเตือนภัยและการสื่อสาร และ 4.ความตระหนักรู้และการตอบสนองต่อการแจ้งเตือนภัย
2.แนวทางปฏิบัติการแจ้งเตือนภัย เนื่องจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะภัยธรรมชาติ มีระยะเวลาในการเกิดที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการแจ้งเตือนภัยให้พิจารณาระยะเวลาของการแจ้งเตือนภัย ตามแต่ละประเภทของสาธารณภัย โดยแบ่งการแจ้งเตือนภัยเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
- เฝ้าระวัง ติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์
- แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า โดยแจ้งข้อมูลข่าวสารที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยไปยังส่วนราชการ และประชาชน เพื่อให้ติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หากประเมินสถานการณ์แล้วคาดว่ามีโอกาสเกิดสาธารณภัยมากกว่า 60% ให้มีการแจ้งเตือนภัยทันที
- รับมือและอพยพ หากคาดว่าสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนในพื้นที่ให้ดําเนินการแจ้งผู้อํานวยการสั่งการให้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือพื้นที่ที่หน่วยงานราชการมูลนิธิ องค์กร หรือเอกชนได้จัดเตรียมไว้
ให้กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับกําหนดแนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งแผนเผชิญเหตุสําหรับส่วนราชการ หน่วยงาน และองค์กรเอกชน ในการรับมือกับ สาธารณภัยที่เกิดขึ้น โดยให้กระทรวงกลาโหม ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานสนับสนุนทรัพยากร เครื่องจักรกล เครื่องมือพิเศษ หากเกินศักยภาพที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ ให้รายงานกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบทันที ทั้งนี้ ระยะเวลาในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าและการแจ้งให้อพยพขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และประเภทของสาธารณภัย เช่น ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลากอาจมีระยะเวลาในการแจ้งเตือน 1 – 2 วัน ในขณะที่ ภัยจากสึนามิจะมีระยะเวลา 1 – 2 ชั่วโมง เป็นต้น สำหรับการกําหนดระดับ สัญลักษณ์ สีการแจ้งเตือนภัย ให้เป็นไปตามบริบทและภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยอ้างอิงจากการแจ้งระดับสถานการณ์สาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 4
3.แนวทางปฏิบัติพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการเตือนภัยสําหรับหน่วยงาน ภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้การเตือนภัยมีความแม่นยํา น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น โดยมีแนวทาง ดังนี้
- ปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีให้สามารถรองรับกับระบบเตือนภัยในปัจจุบันและต่างประเทศได้
- พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และแบบจําลองในการพยากรณ์และคาดการณ์สาธารณภัย โดยนําการวิเคราะห์ข้อมูลจํานวนมาก (Data Analytics and BIG DATA) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: Al) มาใช้ในการพยากรณ์และคาดการณ์
- จัดทํามาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) และเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยงภัย
- จัดวางระบบสื่อสารหลัก อย่างน้อย 2 ระบบ และระบบสื่อสารสํารอง
- จัดเตรียมและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารและอุปกรณ์เตือนภัยให้ครอบคลุม
- เตรียมความพร้อมและสร้างความตระหนัก รวมถึงให้ประชาชนมีการรับรู้และเข้าใจ ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ได้รับ โดยจัดให้มีการฝึกอบรม เช่น อาสาสมัครแจ้งเตือนภัยในชุมชนเมือง ตําบลและหมู่บ้าน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเตือนภัยที่มีความแตกต่างกันของภัยแต่ละประเภท เป็นต้น
- จัดให้มีการฝึกกระบวนการตามระบบการเตือนภัยเพื่อเป็นการทดสอบแผนปฏิบัติการ แผนเผชิญเหตุ ขั้นตอน เครื่องมือ อุปกรณ์ และความพร้อมของประชาชนทั้งในระดับจังหวัด อําเภอ ตําบล หมู่บ้าน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4. แนวทางปฏิบัติเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้นําเทคโนโลยีมาสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แผนที่เสี่ยงภัย แอพพลิเคชั่น จัดทํา Web Service ในการนําเสนอข้อมูล และ Mobile Application เพื่อเป็นช่องทางในการให้บริการข้อมูล และแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชน และกลุ่มเปราะบางผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต หรือระบบอื่นที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านสาธารณภัย
กลยุทธ์ที่ 1 ปรับปรุงกระบวนการทํางานที่มีอยู่เดิมให้มีคุณภาพ รวมถึงการใช้นวัตกรรมจากองค์ความรู้ เทคโนโลยีเพื่อให้การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนา นวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยใช้ฐานข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยี การลงทุน บุคลากร องค์กรที่เกี่ยวข้อง การวิจัย และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านสาธารณภัย การทบทวนและบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก และเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาระบบสารสนเทศด้านสาธารณภัย สารสนเทศด้านสาธารณภัยมีความสําคัญและนํามาใช้ในการสนับสนุนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ตั้งแต่การป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไว้เป็นระบบเดียวกันและนํามาวิเคราะห์ประเมินผล เพื่อใช้ในการตัดสินใจ การปฏิบัติงาน รวมทั้งการเผยแพร่สู่สาธารณะ
1.แนวทางปฏิบัติในการจัดทําแพลตฟอร์ม สารสนเทศด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทํา ควบคุม กํากับ ดูแล แพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมต่อ และใช้ประโยชน์
2.แนวทางปฏิบัติในการจัดทํามาตรฐานชุดข้อมูลสาธารณภัย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทํา พัฒนา ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้มีรูปแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยน ข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้ ทั้งนี้ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดําเนินการพัฒนามาตรฐานชุดข้อมูลและคลังข้อมูลสาธารณภัยแห่งชาติ เช่น ข้อมูลทางสังคม ข้อมูลทางสาธารณูปโภค ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลทางเศรษฐกิจ ข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น เพื่อกําหนดมาตรฐานของข้อมูลการจัดการ ความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศให้สอดคล้องตามหลักมาตรฐาน
3.แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาระบบวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อสนับสนุนระบบการตัดสินใจ ในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยด้านการป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียม ความพร้อม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน การฟื้นฟูที่มีความถูกต้อง แม่นยํา รวดเร็วบนพื้นฐานหลักวิชาการทั้งมิติ ด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้แพลตฟอร์ม สารสนเทศด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ของประเทศ เช่น การพัฒนาระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เป็นต้น
4. แนวทางปฏิบัติในการจัดทําระบบนําเสนอข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูล โดยการจัดทําระบบสืบค้น การคัดกรอง วิเคราะห์การแสดงผลได้ทุกช่วงเวลาครอบคลุมทุกมิติการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย เป็นต้น ภายใต้แพลตฟอร์ม สารสนเทศด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในภารกิจที่เกี่ยวข้องในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาการสื่อสารความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารเป็นกลไกสําคัญที่ทําให้เกิดความเข้าใจ รับรู้ และรับทราบเรื่องการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะสื่อสารให้เกิดการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัย รวมถึงเป็นเครื่องมือในการแจ้งข่าวสารและเผยแพร่ข้อมูลสาธารณภัยแก่ประชาชนให้รับทราบ อย่างทั่วถึงสามารถลดความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ การนํานวัตกรรม และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการ พัฒนาระบบสื่อสารจะเพิ่มประสิทธิภาพ การติดต่อสื่อสาร การกระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง คุ้มค่า นําไปสู่การสร้างมาตรฐานการสื่อสารการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ
1.แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาและสร้างรูปแบบการสื่อสารความเสี่ยงจากสาธารณภัยสู่สาธารณะ โดยประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง และนักท่องเที่ยว รับรู้และเข้าใจในรูปแบบง่ายและสามารถนําข้อมูล ดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนการเตรียมความพร้อมรับมือจากสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ระหว่างเกิดสาธารณภัย โดยพัฒนารูปแบบ สื่อประชาสัมพันธ์ที่มีความรวดเร็ว ครอบคลุมทันต่อสถานการณ์ เช่น การสร้างสื่อออนไลน์เพื่อให้ข้อมูลความเสี่ยงจากสาธารณภัย เกมส์ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เว็บไซต์รวมถึงเป็นช่องทางในการโต้ตอบ รับ และส่งข้อมูลความเสี่ยง เป็นต้น
2.แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาระบบเตือนภัยแบบครบวงจร ที่สามารถแจ้งเตือนภัยที่หลากหลายประเภทภัย นําไปสู่การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า รวมถึง ข่าวสารข้อมูลที่มีความแม่นยําตรงเป้าหมายทุกกลุ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงจากสาธารณภัยสามารถรับรู้ รับทราบสถานการณ์สาธารณภัย แนวทางการปฏิบัติตนเมื่อเกิดสาธารณภัยได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม ทั่วถึง ทุกพื้นที่และเหมาะสมกับประเภทสาธารณภัยที่เกิดขึ้น
กลยุทธ์ที่ 4 ส่งเสริมการลงทุนด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบมีส่วนร่วม จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในระดับชาติ จังหวัด อําเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การลงทุนในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยสามารถดําเนินการได้ทั้งมาตรการด้านโครงสร้างและด้านไม่ใช้โครงสร้าง เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการทางการเงิน ฯลฯ และใช้กระบวนการสร้างความเป็น หุ้นส่วนเข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนเพื่อการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อสร้างรากฐานให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
1.แนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีการลงทุนแบบมีส่วนร่วม ด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยการนําผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี ด้านการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัยมาประยุกต์ใช้เพื่อประกอบการลงทุนด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อการบํารุงรักษาหรือบูรณะระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่มีอยู่เดิมและก่อสร้างใหม่ เช่น การก่อสร้างระบบป้องกันน้ําท่วม ในสถานที่สําคัญทางเศรษฐกิจ การจัดทําระบบ ชลประทานสําหรับภัยแล้งและอุทกภัย การลงทุนระบบ ด้านการป้องกันอัคคีภัย ด้านพลังงาน ในสถานประกอบการ หรือพื้นที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัย เป็นต้น
2.แนวทางปฏิบัติในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยในทุกระดับ โดยเป็นการดําเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัยระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนหรือชุมชน เกิดความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมการตัดสินใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การจัดทําบันทึกข้อตกลงเพื่อดําเนินกิจกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในพื้นที่เสี่ยงจากสาธารณภัย โครงการก่อสร้างระบบป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยโดยบูรณาการ การใช้ทรัพยากร เครื่องมือ เครื่องจักร และงบประมาณร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ โครงการสร้างสังคม รู้รับ ปรับตัวจากสาธารณภัยเพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนของภาคเอกชน เป็นต้น
3.แนวทางปฏิบัติในการกําหนดกลไก/มาตรการทางการเงินและการคลัง เพื่อส่งเสริมการจัดการ ความเสี่ยงจากสาธารณภัย ให้เกิดการผลักดัน ขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัย เช่น การจัดตั้งกองทุนการจัดการสาธารณภัย การกําหนดมาตรการยกเว้นหรือลดภาษีสําหรับ ผู้ประกอบการและประชาชนเพื่อจูงใจให้ตระหนักถึงสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นต้น
4.แนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย และขยายขอบเขต ให้ครอบคลุมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อกระจายความเสี่ยง และลดภาระที่เกิดจากผลกระทบ จากสาธารณภัย เช่น ภาครัฐจัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนระบบประกันภัยด้านสาธารณภัยการกําหนดมาตรการ/แนวทางเพื่อจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเบี้ยประกันบางส่วนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เสี่ยงจากสาธารณภัย ภาครัฐทําข้อตกลงกับบริษัทประกันภัย ในระดับสากลเพื่อรับประกันสาธารณภัย เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 5 เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการสร้างชุมชนที่มีภูมิคุ้มกันจากสาธารณภัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้โดยมี เป้าหมายเพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่มีความปลอดภัย
1.แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ภาคประชาชน อาสาสมัคร และอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่รัฐ โดยส่งเสริมการร่วมคิด ร่วมดําเนินการ ร่วมวางแผนในการจัดการ ความเสี่ยงจากสาธารณภัย ดังนี้
- สร้างจิตสํานึกการทํางานร่วมกันและการแสวงหาผู้ร่วมดําเนินการ โดยการเสริมสร้างองค์ความรู้ ด้านการจัดการสาธารณภัยโดยการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่ผู้นําชุมชน รวมถึงคนในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงสภาพความเสี่ยงในพื้นที่และเข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ทุกขั้นตอนของการจัดการสาธารณภัย
- สร้างข้อตกลงและร่วมกันวางแผน โดยสร้างแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยระดับชุมชนโดยมุ่งเน้นการวางกลไกขับเคลื่อนกิจกรรมการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยในรูปแบบคณะกรรมการ โดยมีชุมชน เป็นศูนย์กลางในการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือป้องกันจัดการบรรเทาและฟื้นฟูความเสียหายจากภัย
- กํากับ ติดตาม และประเมินผล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทบทวนผลการดําเนินงานร่วมกัน ติดตาม ความก้าวหน้าหรือผลสัมฤทธิ์ตามที่กําหนดไว้ และนําผลจากการติดตามและประเมินผลมาใช้พัฒนาแนวทาง การพัฒนาความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ
- สร้างความเข้มแข็งและความต่อเนื่องของเครือข่ายอย่างยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี จากงานวิจัยเพื่อแสวงหาทางเลือกในการทํากิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และการแสวงหาแกนนําเครือข่าย เช่น การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง การสร้างแรงจูงใจ การจัดหาทรัพยากร สนับสนุนอย่างพอเพียงในการให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหา เป็นต้น
2.แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาศักยภาพชุมชนและเมืองให้มีขีดความสามารถ ในการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัย นําไปสู่ชุมชนและเมืองแห่งความปลอดภัยโดยส่งเสริมการพัฒนาแบบอัจฉริยะ โดยสร้างศักยภาพการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของชุมชนและเมือง ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะ ภายใต้กรอบแนวคิด “รู้รับ – ปรับตัว – ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน” โดยมีแนวปฏิบัติตามการสร้างชุมชนและเมืองแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน 10 ประการ ดังนี้
- วางระบบโครงสร้างการบริหารจัดการในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยทุกระดับ
- มีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อนําองค์ความรู้มาใช้ในการตัดสินใจ
- จัดสรรงบประมาณและการสร้างแรงจูงใจทุกระดับในสังคมให้มีการลงทุนลดความเสี่ยง
- ใช้การออกแบบและพัฒนาเมืองเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เช่น การประเมินความเสี่ยง การจัดทําผังเมือง การออกระเบียบกฎหมาย เป็นต้น
- ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัย ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน
- เพิ่มศักยภาพของหน่วยงานในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย รวมถึงการพัฒนาทักษะ ความรู้ และการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- เพิ่มศักยภาพและความเข้าใจด้านการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้แก่ทุกภาคส่วน
- สร้างระบบสาธารณูปโภคที่สําคัญเพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการในภาวะฉุกเฉิน
ที่มา : ศิรินันต์ สุวรรณโมลี นักวิชาการอิสระด้านการจัดการภัยพิบัติ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง