จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยและทั่วโลก ทำให้เกิดความตื่นตัวกับผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นวาระสำคัญของคนในสังคม
จากความรุนแรงของปัญหา ทำให้ในปีนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี (TDRI Annual Public Conference 2024) ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด”
ทางทีดีอาร์ไอ หวังว่าข้อเสนอแนะทั้งหมดจากงานสัมมนา จะเป็นแนวทางในการรับมือกับอนาคต เนื่องจาก “ยุคโลกเดือด” จะเกิดความเสี่ยงและฉุดรั้งเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แต่หากมีการวางยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคตได้
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงในประเทศไทยในปัจจุบันว่า การที่ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากการที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นต่อเนื่องจนเข้าข่าย “โลกเดือด” ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ผ่านมาหลายประเทศได้เร่งปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ และควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนแล้ว
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภาครัฐทั้งส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชนและประชาชนไทยยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยต่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ แม้จะมีแนวคิดในบางด้านอยู่บ้าง เช่น การจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม แต่ก็แทบยังไม่มียุทธศาสตร์การรับมือกับผลกระทบในด้านอื่น
ทั้งนี้โจทย์สำคัญของประเทศจะทำอย่างไรให้ไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถอยู่รอดได้ในยุค “โลกเดือด” ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาคเกษตรให้พร้อมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมฉับพลัน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าที่แม่นยำ ตลอดจนการพัฒนาระบบการเงินและเครื่องมือประกันภัยที่จะช่วยในการปรับตัวและกระจายความเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติต่างๆ
สำหรับการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคโลกเดือดนอกจากต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม โดยมาตรการต่าง ๆ จะต้องคุ้มครองประชาชนในวงกว้าง ไม่มีกลุ่มใดตกหล่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำ และต้องไม่สร้างผลกระทบจากการปรับตัวที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้มาตรการที่ช่วยรับมือกับผลกระทบในพื้นหนึ่ง แต่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นในพื้นที่อื่น หรือเพิ่มความเสี่ยงขึ้นในอนาคต
ด้านสุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ มองว่าเมืองจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น โดยเมืองในประเทศไทยเจอกับภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง จึงต้องมีแนวทางตั้งรับปรับตัวในระยะยาวที่พิจารณาทุกมิติของการพัฒนาเมืองอย่างรอบคอบ ทั้งการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานหลากหลายรูปแบบในการลดความรุนแรงของภัยพิบัติ การจัดการผังเมือง และการเก็บข้อมูลภัยเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง
“หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น จำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อภัยธรรมชาติ กลุ่มเปราะบางในเมือง และความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของเมือง เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงของภัยพิบัติที่จะรุนแรงขึ้น ถ้าไม่สามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ประชาชนและภาคเศรษฐกิจจะประสบปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจมากขึ้น”
หากประเทศไทยยังอยู่แบบนี้ต่อไป โดยไม่มีการปรับเพื่อเปลี่ยนเมืองให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ก็จะส่งผลต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ ทำให้ต้นทุนของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบจากเกิดภัยพิบัติสูงขึ้น ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของประเทศจะต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะงบประมาณในส่วนนี้ที่นำไปบรรเทาผลกระทบสามารถนำไปใช้แก้ไขในปัญหาระยะยาว หรือไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ได้
ดังนั้นจะเกิดความเสี่ยงและฉุดรั้งเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แต่หากมีการวางยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคตได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารโลกหนุนไทยส่งออกคาร์บอนเครดิต จูงใจคนลดโลกร้อน
- เตือน (อีกครั้ง) น้ำจะท่วมกรุง จากผลกระทบโลกเดือด
- เทียบเคียงมหาอุทกภัยปี 54 มีโอกาสซ้ำรอยแค่ไหน?