การประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค. 2567 ไม่ได้มีการพิจารณาใด ๆ เกี่ยวกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย – อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร – ระนอง) ที่ยังมีประเด็นค้างคาใจในเรื่องผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีเพียงการเดินทางไปตรวจพื้นที่บริเวณที่จะเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง และสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ ส่วนอีกฝั่งของชุมพร นายกรัฐมนตรีไม่ได้เดินทางไปดูสภาพพื้นที่ที่จะเป็นท่าเรือน้ำลึกอีกฝั่งในอ่าวไทย
อย่างไรก็ตาม การประชุม ครม. กลับมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวคือ มี “ข้อสั่งการ” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ซึ่งหมายถึงว่าภาพที่ปรากฏว่ามีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงลงพื้นที่ตรวจราชการและสั่งให้ดำเนินการนั้น ถือว่าเป็นคำสั่งจาก ครม. ให้ดำเนินการได้ มีการอนุมัติหลายโครงการด้วยงบประมาณรวม 350 ล้านบาท
ที่มาภาพ: ทำเนียบรัฐบาล พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย – อันดามัน บริเวณอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
อันที่จริง พื้นที่ในฝั่งอันดามัน เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) โดยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีเป้าหมายการพัฒนาเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและเกษตรแนวใหม่” เพื่อสังคมแห่งความสุขและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
เอกสาร ครม. ระบุว่า ภาพรวมของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล มีศักยภาพหลักในการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก สามารถสร้างรายได้จากภาคบริการมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งที่เป็นคาบสมุทรฝั่งทะเลอันดามัน และมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งบนบกและทะเล มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลาย
อาทิ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน แหล่งทำประมงทะเลและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมูลค่าสูง แหล่งผลิตและแปรรูปพืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอาหารทะเลเพื่อการส่งออก ตลอดจนเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าฝั่งตะวันตกของภาคใต้ (Western Gateway) เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางทะเลกับประเทศกลุ่มบิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งมีประเด็นการพัฒนา คือ
- สนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยวเน้นคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนและเกษตรสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ
- การพัฒนาสังคมและความมั่นคงในทุกมิติ
แต่การรื้อฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์ขึ้นมาใหม่ หลังจากรัฐบาลชุดที่แล้ว มุ่งไปที่การพัฒนาตามแผน SEC โดยมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นการกลับไปหาตัวแบบการพัฒนาแบบเดิม ๆ ที่เน้นในอุตสาหกรรมหนัก ในขณะที่ในภาคใต้มีการศึกษาพัฒนาในภาพรวมมาหลายครั้ง ส่วนมากเห็นไปทางเดียวกันเรื่องจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว
พื้นที่ภาคใต้ มีรายได้จากภาคบริการและการท่องเที่ยวเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.77 ล้านล้านบาท โดยพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและต่างชาติ ประมาณ 4.79 แส้วล้านบาท ส่วนกรุงเทพมหานคร มีมากที่สุด 6.50 แสนล้านบาท
ในขณะที่รายได้จากการโครงการแลนด์บริดจ์ ตามผลการศึกษาของ สนข. ไม่ได้มีการประเมินออกมาอย่างชัดเจน เพียงแต่อ้างผลการศึกษาของ สศช. ที่ระบุว่าช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น ส่วนผลการศึกษาของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จะมีรายได้จากโครงการราว 3 แสนกว่าล้านบาท ในเวลา 38 ปี ซึ่งสะท้อนใ้หเ็นว่าภาคบริการท่องเที่ยวคือจุดแข็งของภาคใต้
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้าโรดโชว์แลนด์บริดจ์ต่อเนื่อง แต่เรากลับไม่เห็นบทบาทของ สศช. ในโครงการนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” อย่างมากสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่หน่วยงานอย่าง สศช. ไม่ได้เข้ามามีบทบาท แต่กลับเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง อย่างกระทรวงคมนาคม เหมือนกับว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่ข้อเสนอโครงการต่าง ๆ ที่ ครม.สัญจร พิจารณากลับมาจาก สศช.
โครงการแลนด์บริดจ์ นับว่าเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่และส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งสภาพแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจในพื้นที่ ดังนั้น การศึกษาจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และที่น่าแปลกใจก็คือ โครงการพัฒนาภาคใต้ มีความสับสนอย่างมาก ทั้งโครงการและแผนงานต่าง ๆ แม้แต่โครงการแลนด์บริดจ์ก็เคยดำเนินการและเวนคืนที่ดินในช่วงกระบี่มาแล้ว เหมือนกับว่าโครงการนี้ขึ้นกับการผลักดันทางการเมืองเป็นสำคัญ
หากสมัยไหน รัฐบาลมุ่งไปพัฒนา “ภาพรวม” ก็จะหยิบแผนของ สศช. มาพิจารณา แต่หากมุ่งไปเป็น “โครงการ” จากฝ่ายการเมือง ก็จะมุ่งไปที่หน่วยงานที่คิดโครงการและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งเป็นความสับสนในนโยบายพัฒนาประเทศ ทำให้เราเสียเวลากับการศึกษารายละเอียดและงบประมาณที่ลงไปครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ทุกอย่างยังวนไปมา “ประกาศนโยบาย-ศึกษา-เปลี่ยนรัฐบาล-ประกาศใหม่-ศึกษาใหม่”