สหรัฐอเมริกา ประกาศส่งจดหมายถึงหลายประเทศเรื่องการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) แม้เป็นอัตราที่เท่ากับตอนประกาศในช่วงรอบแรก แต่รอบนี้จะมีผลพร้อมกันในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่จะถูกขึ้นภาษีอัตรา 36%
ทรัมป์ร่อนจดหมายเก็บภาษีไทย 36%
ในจดหมายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ส่งถึงไทยมีใจความว่า
“เรียน ท่านนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นในความสัมพันธ์ทางการค้าของเรา แม้ว่าสหรัฐอเมริกาประสบกับการขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญกับประเทศไทย เรายังคงยืนยันที่จะทำงานร่วมกับประเทศของท่านต่อไป
อย่างไรก็ตาม เราได้ตัดสินใจที่จะสานต่อความสัมพันธ์นี้ โดยยึดหลักการค้าที่สมดุลและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอเรียนเชิญท่านเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจอันยอดเยี่ยมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลก เราใช้เวลาหลายปีในการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่าเราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และกำแพงการค้าต่าง ๆ ของประเทศไทย ความสัมพันธ์ทางการค้าของเราจึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการค้าต่างตอบแทน
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2568 เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยทั้งหมดที่ส่งเข้ามายังสหรัฐอเมริกาในอัตราเพียง 36% ซึ่งแยกต่างหากจากภาษีเฉพาะภาคส่วนต่าง ๆ สำหรับสินค้าที่มีการส่งผ่านเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงกว่าจะอยู่ภายใต้ภาษีที่สูงกว่านั้น โปรดเข้าใจว่าอัตราภาษี 36% ยังต่ำกว่าระดับที่จำเป็นในการลดช่องว่างของดุลการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ดังที่ท่านทราบดี จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีใด ๆ หากประเทศไทย หรือบริษัทภายในประเทศของท่าน ตัดสินใจที่จะตั้งโรงงานหรือผลิตสินค้าภายในสหรัฐอเมริกา และในความเป็นจริงแล้ว เราจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเร่งรัดการอนุมัติให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นมืออาชีพ และเป็นไปตามปกติ ซึ่งหมายถึงภายในไม่กี่สัปดาห์
หากท่านตัดสินใจที่จะขึ้นภาษีนำเข้าของท่าน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม อัตราที่ท่านเพิ่มขึ้นนั้นจะถูกรวมเข้าไปในอัตรา 36% ที่เราเรียกเก็บ โปรดเข้าใจว่า ภาษีเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากนโยบายภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และกำแพงการค้าต่าง ๆ ของไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา การขาดดุลนี้ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเศรษฐกิจของเรา และยิ่งไปกว่านั้นคือความมั่นคงของชาติเราด้วย!
เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมงานกับท่านในฐานะหุ้นส่วนทางการค้าในอีกหลายปีข้างหน้า หากท่านประสงค์ที่จะเปิดตลาดการค้าให้กับสหรัฐอเมริกา ที่แต่เดิมถูกปิดไว้ และยกเลิกนโยบายภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงกำแพงการค้าของท่าน เราอาจจะพิจารณาปรับแก้จดหมายฉบับนี้ ภาษีเหล่านี้อาจมีการปรับขึ้นหรือลงได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเรากับประเทศของท่าน ท่านจะไม่ผิดหวังกับสหรัฐอเมริกา”
ภาษีสหรัฐฯ กระทบอย่างไร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราภาษีดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนตามการเจรจาหลังจากนี้ โดยเบื้องต้นปรับภาษี 14 ประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. เลื่อนจาก 9 ก.ค. โดยสินค้าที่ถูกเก็บภาษีตามมาตรา 232 (Sectoral Tariff) เช่น เหล็ก, อลูมิเนียม รถยนต์ และชิ้นส่วน จะถูกเก็บในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 232 โดยไม่ถูกเก็บ Reciprocal Tariffs
ข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกา สหรัฐเม็กซิโก และแคนาดา (USMCA) ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) สินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาที่ไม่เป็นไปตาม ROOs จะโดนเก็บภาษี 25% ตามประกาศที่ได้ออกไปก่อนหน้า
สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษี ความเสี่ยงถดถอยเพิ่มขึ้นทั่วโลก
บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส วิเคราะห์ว่า ประเทศส่วนใหญ่ได้อัตราภาษีใกล้เคียงช่วงประกาศภาษีการค้าตอบโต้ และภาษีที่ประกาศอยู่ในระดับ 25-40% สูงกว่าเวียดนามที่ 20% โดยอัตราภาษีของประเทศต่าง ๆ ที่ประกาศมาเบื้องต้น 14 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น (25%), เกาหลีใต้ (25%), มาเลเซีย (25%), คาซัคสถาน (25%), แอฟริกาใต้ (30%), ลาว (40%), พม่า (40%), ตูนิเซีย (25%), บอสเนีย (30%), อินโดนีเซีย (32%), บังกลาเทศ (35%), เซอร์เบีย (35%), กัมพูชา (36%), ไทย (36%) แต่หากรวมภาษีจากกลุ่ม BRICS ที่จะโดนเพิ่ม 10% ทำให้ไทยเคราะห์ร้ายถูกเก็บแพงกว่าประเทศอื่นๆ
วัตถุประสงค์หลักเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้ประเทศต่าง ๆ ผ่อนคลายเพิ่มเติมต่อการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ รวมถึงไทยที่อาจถูกกดดันให้นำเข้าสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ไทยเสนอให้สหรัฐฯ คือ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม, พลังงาน, เครื่องบินโบอิง (BOEING) และอาจต้องให้อัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ 0% ในหลายรายการ
ดังนั้น ด้วยความเสี่ยงของภาษีสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในช่วงการเจรจาก่อนถึงวันมีผลบังคับใช้ จะเพิ่มระดับความกังวลต่อโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยอีก 1 ปีข้างหน้า ในหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ อยู่ที่ 40% (เดิม20%), ญี่ปุ่นอยู่ที่ 35% (เดิม 30%) รวมถึงไทยอยู่ที่ 30% (เดิม 10%) ซึ่งมาจากปัญหาเงินเฟ้อ ที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้นในช่วงครั้งหลังปี 68 (2H68) ในหลายประเทศ
หากไทยเจอ 36% กระทบหนักการค้าการลงทุน
สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ไทย 36% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถือเป็นปัจจัยเข้ามากดดันซ้ำเติมเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแรงอยู่แล้ว อาจแรงกว่าเดิมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ
ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีความเสี่ยงลดลง หลังอัตราภาษีของไทยมีแนวโน้มสูงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเหล่านี้แทน ถึงแม้ข้อมูลในอดีตจะบ่งชี้ว่าช่วงปี 67 ยอดขอรับการส่งเสริม FDI จะพุ่งสูง 8.3 แสนล้านบาทบวกกับมูลค่า FDI ต่อ GDP ของไทยจะโดดเด่นในช่วงสงครามการค้ารอบแรก หรือ Trad War 1 (ภาพเหล่านี้อาจเลือนหายไป)
การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มลดลง (ส่งออก – นำเข้า) หากไทยมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ลดลง และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จนกดดันดุลการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีรายได้ลดลงตามไปด้วย ขณะที่ในช่วงปี 67 ไทยมีการค้าระหว่างประเทศราว 6.2 แสนล้านบาท ส่วนดุลการค้ากับสหรัฐฯไทยเกินดุลราว 1.2 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลพวงที่องค์ประกอบ GDP ทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวได้รับผลกระทบ ในท้ายที่สุดภาคการบริโภคคงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก
การบริโภค เสี่ยงกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 68 (2H68) ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินกรณีเลวร้าย (WORST CASE) ไทยถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี 36% อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 68 ขยายตัวได้แค่ 1.3% และหากสถานการณ์เลขร้ายมากกว่าเดิม อาจเห็นสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP GROWTH ของไทยในระยะถัดไปได้
ทั้งนี้ ยังคาดหวังว่าจะเห็นนโยบายการเงินและการคลังจะเข้ามาช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น ผ่านการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปี 68 อีกราว 1-2 ครั้ง รวมถึงหวังพึ่งการใช้จ่ายภาครัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น
ไทยมีทางเลือกที่เหลืออยู่ไม่มาก
ความเห็นจาก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย มองว่า การแจ้งอัตราภาษีของสหรัฐฯ เหมือนบังคับไทยกลับสู่โต๊ะเจรจา โดยเปิดช่องว่างไว้ ถ้าตัดสินใจเปิดตลาดก็อาจจะพิจารณาลดภาษีลงมาได้ สะท้อนว่าสหรัฐฯ ยังไม่พอใจกับการเจรจา และข้อเสนอที่ให้ยังไม่ดีพอ สิ่งนี้คือจดหมายปฏิเสธข้อเสนออย่างเป็นทางการ แต่ยังเปิดให้เจรจากันได้ต่อ คงเป็นสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกว่า the art of the deal
- ส่งออก – สหรัฐฯ รับราว 18 % ของมูลค่าส่งออกไทย (กว่า 55 พันล้านดอลลาร์) ถ้าโดนภาษี 36% คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโกพร้อมเสียบ คำสั่งซื้ออาจหายทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง
- ภาคการผลิต ที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว อาจโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงโดนเลิกจ้าง หรือต้องย้ายสายการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ
- เสน่ห์ FDI หาย นักลงทุนคงถามตรง ๆ ว่า “ตั้งโรงงานไทยแล้วต้องโดนภาษี 36 % ทำไมไม่ไปเวียดนาม?” เงินลงทุนเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเอไอ (AI) อาจไหลออกตั้งแต่ยังไม่เปิดสายการผลิต
- สิทธิประโยชน์การวิจัยและพัฒนา (R&D), เครดิตภาษี ให้ EV parts (ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า), AI hardware (ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์สำหรับเอไอ), Data center (ศูนย์ข้อมูล) มาตั้งฐานในไทย
- เพิ่มทักษะ (Upskill) แรงงานสู่ทักษะดิจิทัล-หุ่นยนต์ เพิ่มค่าแรงเฉลี่ยและผลิตภาพ
เจรจาไทย-สหรัฐฯ คืบหน้าถึงไหน?
รัฐบาลไทย ได้จัดตั้งทีมไทยแลนด์ เพื่อเริ่มเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ที่มีการยกเว้นอัตราภาษีใหม่เป็นเวลา 90 วัน ก่อนที่จะได้คิวเดินทางไปเจรจาอย่างเป็นทางการในเมื่อต้นเดือน ก.ค. โดยมีพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้นำในการเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งในรอบแรกผลปรากฏว่าการเจราไม่สำเร็จ ทำให้ทางทีมไทยต้องรีบยื่นข้อเสนอให้ให้กับสหรัฐฯ อีกครั้ง
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า หนังสือแจ้งอัตราภาษีที่ออกมาดังกล่าว สะท้อนว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ทุกประเทศเร่งเจรจา โดยเลื่อนจากวันครบกำหนด 9 ก.ค. เป็น 1 ส.ค. เนื่องจากการเจรจาต้องใช้เวลา ซึ่งอัตราภาษีที่แจ้งออกมามี 3 ลักษณะ คือ
1. กลุ่มที่ยังไม่ได้เจรจา มีอัตราภาษีเท่าเดิม 2. กลุ่มที่อัตราภาษีสูงกว่า 40% และ 3. กลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอแล้ว แม้จะได้ภาษีต่ำกว่าเดิม แต่ก็มีการถูกปรับเข้ากลุ่ม เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น
หลังจากนี้ทีมไทยจะทำงานให้หนักขึ้น โดยข้อเสนอใหม่ที่ไทยยื่นไปได้ถึงมือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. แต่ไม่ทันหนังสือแจ้งที่สหรัฐฯ ประกาศออกมา เพราะคาดว่าได้ถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วหลายวัน อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าภาษีที่ไทยได้รับจะอยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันได้
ทั้งนี้ไทยไม่ได้แจ้งสหรัฐฯ ว่าขอลดภาษีเหลือเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำคือ อยากจะร่วมมือเรื่องอะไร และจะนำเข้าสินค้าอะไรจากสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาเสร็จ สหรัฐฯ ก็จะตอบกลับมาว่าไทยจะได้ลดภาษีเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าจะสหรัฐฯ จะไม่ใช้ภาษีอัราเดียวกับทุกสินค้าที่นำเข้า ซึ่งตอนนีทีมไทยทำงานกันอย่างหนักในระดับปฏิบัติงาน และหากสหรัฐฯ ต้องการคำยืนยันที่ชัดเจน ตนก็พร้อมจะเดินทางไปหาตลอดเวลา
“เราไปวางไทม์ไลน์ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราให้เขา เขาบอกแล้วไงว่านั่งเจรจาไปเรื่อย แล้วเขาเห็นว่าได้เท่านี้ เขาจะเป็นผู้กำหนดเองว่าเท่าไหร่”
พิชัย ยืนยันว่าการเจรจาไม่ได้เป็นไปด้วยความล่าช้า โดยก่อนหน้านี้ทีมไทยในระดับปฏิบัติงานมีการพูดคุยกับสหรัฐฯ ตลอด และใช้เวลานานเป็นเดือน ซึ่งเป็นการพูดคุยกันในเรื่องรายการสินค้า และการที่ตนเดินทางไปเจรจาในครั้งนี้ นอกจากพูดคุยเรื่องนโยบายแล้ว ยังมีการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับรายการสินค้าที่เสนอไปให้ และความต้องการเพิ่มเติมของทางสหรัฐฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม หากโดนเก็บภาษีอัตรา 36% หรือต่ำกว่านั้น ไทยก็มีแผนสำรองเตรียมไว้
ส่วนประเทศในกลุ่ม BRICS ที่ ทรัมป์ ขู่จะเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% นั้น ไทยเป็นแค่หุ้นส่วน (Partner) ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก คงไม่เสียหายอะไร ถ้าเพียงเข้าไปสังเกตการณ์ว่าในกลุ่มขับเคลื่อนกันอย่างไร
อ่านเนื้อหาอื่น
ไทยจ่อเสียตลาดส่งออกรถยนต์ เซ่นภาษีทรัมป์