โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 และกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ได้ โดยพรรคริพับลิกันของ ทรัมป์ ครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งอาจเอื้อให้ ทรัมป์ สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ เคยหาเสียงไว้ให้ผ่านสามารถสภาฯได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ทรัมป์ มีนโยบายกีดกันการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นจากสมัยก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงหาเสียงเคยเสนอให้ขึ้นภาษีสินค้าจีนสูงถึง 60% ในขณะที่ภาษีนำเข้าสินค้าประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ 10% ซึ่งอาจทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่จีนจะใช้กลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงไทยเป็นช่องทางผ่านสินค้าส่งไปยังสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯจะใช้มาตรการตอบโต้กลับกับประเทศที่เป็นทางผ่านให้กับสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันที่ผ่าน นโยบายในยุคทรัมป์ 1.0 ช่วงปี 2560-2563 ก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกไม่น้อย ในรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า เศรษฐกิจโลกช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทรัมป์สมัยแรกนั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกปรับลดลง จาก +3.8% ในปี 2560 สู่ระดับ +2.9 ในปี 2562 (ก่อนโควิด-19) GDP สหรัฐฯปรับลดลงจาก +2.5% อยู่ที่ 2.6% และ GDP จีนปรับลดลงจาก 6.9% อยู่ที่ 6.0% ขณะที่ไทยในปี 2560 GDP อยู่ที่ +4.0% ลดลงสู่ระดับ +2.1% ในปี 2562
ในรายงานของ สศช.ยังได้คาดการณ์แนวทางมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนรอบใหม่ของสหรัฐฯในยุค ทรัมป์ 2.0 มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ผ่าน 4 แนวทางหลัก คือ
1.ผ่านมาตรการ 201 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การค้า พ.ศ. 2517 (Section 201 of the Trade Act. 1974) ว่าด้วยมาตรการกำหนดการปกป้องภายในประเทศเป็นการชั่วคราว เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้า โดยเมื่อมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากที่เป็นสาเหตุสำคัญของความเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยมีผู้รับผิดชอบ คือ คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (U.S. International Trade Commission: ITC) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้รัฐบาลกลาง
2.ผ่านมาตรการ 301 ว่าด้วยมาตรการจัดการกับการละเมิดข้อตกลงการค้า หรือการกระทำนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative:USTR)
3.ผ่านมาตรา 232 (Section 232 of the Trade Expansion Act of 1962) ว่าด้วยการจัดการกับการละเมิดข้อตกลงการค้า หรือการกระทำนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีผู้รับผิดชอบคือ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่ง 2 ช่องทางนี้ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร
4.การออกกฎหมายเพื่อยกเลิกหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation Treatment: MFN) ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ท้าทายต่อระบบการค้าระหว่างประเทศโดยรวม โดยช่องทางการออกกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามในกรณีทั่วไปคาดว่ากระบวนการในการดำเนินการในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และประเทศอื่น ๆ ทั้ง 4 แนวทางจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่ต่ำกว่าอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะมีผลบังคับใช้
ยุคทรัมป์ 1.0 สหรัฐฯนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้น
ข้อมูลผลจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯในอดีต ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ทรัมป์ 1.0) เมื่อสมัยปี 2560 – 2563 ต่อการค้าระหว่างประเทศของจีน พบว่า จีนมีทิศทางการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งทำให้เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดลงในช่วงดังกล่าว จากที่เคยเกินดุล 4.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ลดลงเป็น 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 และ 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566
สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดนำเข้าของสหรัฐฯ ในปี 2566 พบว่าเม็กซิโกกลายเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯ แทนที่จีน โดยเม็กซิโกมีมูลค่าการน่าเข้าสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าจากจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 21 ปี ทำให้เม็กซิโกมีสัดส่วนร้อยละ 15.4 ต่อการนำเข้ารวมของสหรัฐฯ ขณะที่จีนมีสัดส่วนร้อยละ 13.9 ต่อการนำเข้ารวมของสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากสัดส่วนร้อยละ 21.6 ในปี 2560 ในขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในปี 2560
หากพิจารณาผลต่อการลงทุนระหว่างประเทศ พบว่านับตั้งแต่การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในปี 2561 ภูมิภาคละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสินค้าออกจากจีน สะท้อนจากยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากจีนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs-4) อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN-5) อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย
โดยมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าจากจีนไปยังกลุ่มประเทศ NIEs สะสมในปี 2565 อยู่ที่ 1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.7 จาก 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.7 ของเงินลงทุนรวมสะสมในปี 2565) และเงินลงทุนจากจีนไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน 60.1 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.0 จาก 26.6 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.2 ของเงินลงทุนรวมสะสมในปี 2565)
การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังส่งผลให้หลายประเทศในกลุ่มดังกล่าวสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯมากขึ้น และส่งผลให้มีการเกินดุลกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะเม็กซิโก และเวียดนาม รองจากจีน อย่างไรก็ตาม ประเทศดังกล่าวมีการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้การขาดดุลการค้าของประเทศกลุ่มดังกล่าวกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในปี 2566 ไทยเกินดุลกับสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 40.7 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลการค้ากับจีนคิดเป็นมูลค่า 25.8 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ
‘เทรดวอร์’สหรัฐฯลดนำเข้าสินค้าจีน
เมื่อพิจารณาในรายสินค้าที่สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่สูงและเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนค่อนข้างสูง ในช่วงก่อนการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (ปี 2559 – 2560) เปรียบเทียบกับช่วงการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่เริ่มขึ้น ในปี 2561 เป็นต้นไป (ปี 2561 – 2566) จะสามารถแบ่งกลุ่มสินค้าได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
1.กลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลจีนลดลง แต่ขาดดุลไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนโอกาสของการส่งออกของกลุ่มสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ จอมอนิเตอร์และเครื่องฉาย ส่วนประกอบและอุปกรณ์ส่านักงาน เครื่องทำน้ำร้อนและส่วนประกอบ และเฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
2.กลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลทั้งจากจีนและไทยมากขึ้น ได้แก่ หม้อสะสมไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ไมโครโฟนและส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น จะเห็นว่าในกรณีของไทย มีสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯลดการนำเข้าจากจีน และเปลี่ยนมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น
สินค้ากลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำคัญที่ไทยพึ่งพาการนาเข้าจากจีนในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน เช่น โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.7 ก่อนสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ (Trade War 1.0) เป็นร้อยละ 70.6 หลังช่วงโควิด-19 และเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54.3 เป็นร้อยละ 64.4 เป็นต้น
กลุ่มสินค้าไทยขาดดุลจีนปี 66
หากพิจารณากลุ่มสินค้าสำคัญที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่ขาดดุลให้กับสินค้าจีน พบว่า ในปี 2566 กลุ่มสินค้าที่ไทยขาดดุลจีนมากที่สุด ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบ ยานพาหนะ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ของท่าด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์ และพลาสติกและของที่ท่าด้วยพลาสติก ตามลำดับ
แม้สหรัฐฯจะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยแทนที่จีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) โดยตลาดสหรัฐฯ มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 17.1 ของการส่งออกรวมของไทย แต่ไทยยังพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนร้อยละ 24.3 ของการนำเข้ารวม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลไฟฟ้า รวมถึงยานพาหนะ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มสินค้าที่ไทยเกินดุลทั้งในตลาดสหรัฐฯ และจีน อาทิ ยางและของที่ทำด้วยยาง และของปรุงแต่งทำจากพืชผัก หรือผลไม้ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วิเคราะห์หลังเลือกตั้งสหรัฐ คาดอาเซียนได้ประโยชน์
- นโยบายทรัมป์เริ่มออกฤทธิ์ปี’68 กระทบหนักปี’69
- เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งสหรัฐ เตรียมรับสงครามการค้า
ที่มา : รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)