การเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co – operation and Development: OECD) ยังเป็นประเด็นท้าทายสำหรับประเทศไทย เนืองจากจะมีการปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ ภายในประเทศอีกมาก เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขสมาชิก
จุดเริ่มต้นจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ให้กระทรวงการต่างประเทศศึกษาถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก OECD ตลอดจนประโยชน์ในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก OECD ที่ไทยจะได้รับ
สศช.ระบุว่าการมีส่วนร่วมกับ OECD จะทำให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD เพื่อยกระดับมาตรฐานนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ให้ทัดเทียมสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถและปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ทำไมต้องเป็นสมาชิก OECD
หลังจากที่ครม.มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 กระทรวงการต่างประเทศได้จ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาและวิจัยความเหมาะสมในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย
เมื่อเดือนก.ย. 2565 TDRI ได้เสนอรายงานผลการศึกษา สรุปว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD แบบเต็มรูปแบบ (full member) เช่น การปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิกมากกว่าเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ ในฐานะของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (non – member)
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 – 27 เม.ย. 2566 ทางสศช. และกระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทน OECD เกี่ยวกับกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิกของไทย โดยผลการหารือได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD เนื่องจากมีการพัฒนามาตรฐานภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับ OECD หลายด้าน โดยเฉพาะโครงการ Country Programme (โครงการ CP) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง OECD มีท่าทีเชิงบวกต่อการเข้าเป็นสมาชิกของไทย
สำหรับ โครงการ CP ระยะที่ 1 สิ้นสุดลงแล้วเมื่อปี 2564 โดยได้มีการดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 16 โครงการ เช่น โครงการ Improving Integrity and Governance in the Public Sector Designing Effective Anti – corruption Policies รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงานก.พ.ร.) โครงการ Implementing Regulatory Reform and Mainstreaming Good Regulatory Practice รับผิดชอบโดย สคก. โครงการ Supporting the Digital Economy รับผิดชอบโดย ดศ. และโครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring รับผิดชอบโดย สศช. และ กต. เป็นต้น
สศช. เห็นว่า การดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 1 กับ OECD ได้ช่วยยกระดับมาตรฐานภายในประเทศของไทยให้ทัดเทียมสากล พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สศช. ร่วมกับ กต. จัดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 41 หน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 เกี่ยวกับประเด็นความพร้อมและความเหมาะสมในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อชี้แจงแนวทางในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก
พร้อมทั้งขอรับข้อมูลการประเมินความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกรอบการพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก OECD (Framework for the Consideration of Prospective Members) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูล ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่จำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิก OECD และการพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตามมาตรฐาน OECD
กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ซึ่งมีสาระสำคัญที่แสดงถึงเจตนาฝ่ายเดียวอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในการขอเข้าสู่กระบวนการภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยมิได้มีเนื้อหาเป็นการทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับ OECD แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวระบุรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับ OECD ที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น (1) การเรียนรู้และปรับตัวของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD (2) การเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD หลายฉบับ และ (3) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของ OECD ในหลายภาคส่วน ทั้งนี้ โครงการ Thailand – OECD Country Programme ระยะที่ 2 ที่ได้เริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 จะเป็นการรักษาแรงขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันนี้ให้คงระดับต่อไป
- การดำเนินการของประเทศไทยเพื่อเข้าเป็นสมาชิก ประเทศไทยจะเร่งกระบวนการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD ปรับปรุงนโยบายประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นด้วยการแข่งขันที่เท่าเทียมและโปร่งใส ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและมีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยสมบูรณ์
- ผลประโยชน์ที่ OECD จะได้รับจากการที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ประเทศไทยสามารถผยแพร่การดำเนินงานระดับโลกของ OECD เพื่อสร้างผลกระทบและเพิ่มการมีบทบาทของ OECD ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ OECD ต่อภูมิภาคนี้
แผนการขับเคลื่อนของไทย
สศช. ได้จัดทำห่วงโซ่คุณค่าเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยยึดหลักเกณฑ์จาก Framework for the Consideration of Prospective Members รวมทั้งได้ระบุหน่วยงานหลักที่มีภารกิจสอดคล้องกับเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับมาตรฐานและการดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน Framework for the Consideration of Prospective Members ให้ได้มากที่สุด
Framework for the Consideration of Prospective Members เป็นหลักเกณฑ์ที่ OECD จัดทำขึ้นเพื่อให้ประเทศที่สนใจจะเข้าเป็นสมาชิกใช้ประเมินความพร้อมในเบื้องต้น ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก
- สถานะความพร้อมของประเทศในการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับ OECD (State of Readiness)
- ความมุ่งมั่นของประเทศในการปฏิบัติตามคำนิยมและผลผูกพันประเทศสมาชิก OECD (County’s Commitment to OECD Values and Membership Obligations)
- กรอบการบริหารภาครัฐและโครงสร้างเชิงสถาบัน (Institutional Framework)
- ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ (Key Economic Indicators)
- การมีส่วนร่วมกับ OECD (Relations with OECO)
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายมาเทียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการ Country Programme (CP) ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
การลงนามครั้งนี้ เป็นการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกันที่ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการ CP ระยะที่ 1 ที่ในช่วงปี 2561 – 2564
การดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 เป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2566 – 2568) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือใน 4 สาขาหลัก
- ธรรมาภิบาล
- สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน
- ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์ และ
- การฟื้นฟูสีเขียว
ประกอบด้วย 20 โครงการย่อย และมีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องรวม 19 หน่วยงาน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น
โครงการ CP ระยะที่ 2 จะทำให้ไทยเข้าใกล้การเป็นสมาชิก OECD ได้มากยิ่งขึ้น
OECD คือใคร?
ตั้งสำนักงานเลขาธิการ OECD อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีเจ้าหน้าที่กว่า 2,500 คน ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ปฏิบัติงานตามแนวทางที่คณะมนตรี OECD กำหนด
OECD จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยพัฒนามาจาก OEEC (Organization for European Economic Co-operation) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และแคนาดา ภายใต้แผนการณ์มาร์แชล (Marshall Plan) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบูรณะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของยุโรปซึ่งกำลังประสบความเสียหายอย่างหนักภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา OECD มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิก ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา
นอกจากนี้ โลกยุคโลกาภิวัตยังทำให้ภารกิจของ OECD เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นการตรวจสอบนโยบายในด้านต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกไปสู่การวิเคราะห์แนวทางที่นโยบายต่าง ๆ จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกและกับประเทศภายนอกกลุ่มโดยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการจัดการ ปัญหาต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตบนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบและเป็นกลาง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปร่วมระดับนโยบายในลักษณะ guidelines for best practices และการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกับ guidelines เหล่านั้นในที่สุด
OECD ยังมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการ influence ความคิดเชิงนโยบายของกลุ่มประเทศสมาชิก และโดยที่ OECD เล็งเห็นแนวโน้มพลวัตรและความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (vulnerabilities to systemic risks) ที่เกิดจากปรากฏการณ์โลกาภิวัต
นอกจากนี้ OECD ยังตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลก และพยายามเพิ่มระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ กับประเทศที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม BRIC – Brazil, Russia, India and China และประเทศกำลังพัฒนาระดับสูง (advanced developing countries) ที่มีความโดดเด่น เช่น แอฟริกาใต้ อียิปต์ โมร็อคโค อาร์เจนตินา ชิลี มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย
แนวปฏิบัติของ OECD เป็นช่องทางแผ่ขยายอิทธิพลทางความคิดเพื่อโน้มน้าวการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน ให้อยู่บนพื้นฐานของค่านิยมที่กลุ่มประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ เช่น เรื่องสิทธิ (rights) เรื่องความเท่าเทียมกัน (equity) และความยุติธรรม (fairness)
กลไกการทำงานของ OECD
OECD ใช้ คลังข้อมูลที่มีอยู่ในการช่วยรัฐบาลสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขจัด ความยากจน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่ความเจริญด้านเศรษฐกิจและสังคมมีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย กลไกหลักในการทำงานของ OECD คือ การติดตามประเมินสถานการณ์ของทั้งประเทศสมาชิกและประเทศอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงการประเมินแนวโน้มการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลางอย่างสม่ำเสมอ
ฝ่ายเลขานุการ OECD จะรวบรวบและวิเคราะห์ข้อมูล จากนั้นให้คณะกรรมการเป็นผู้คิดแนวนโยบายจากข้อมูลที่ได้รับและให้คณะมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาล
คณะกรรมการต่าง ๆ ของ OECD ประกอบด้วย
- คณะมนตรี (Council) เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในองค์กร ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก ทั้ง 34 ประเทศ และผู้แทนสหภาพยุโรป โดยผู้แทนถาวรประจำ OECD ของแต่ละประเทศเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี OECD เป็นประจำ และคณะมนตรีจะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีปีละ 1 ครั้ง เพื่อหารือประเด็นสำคัญและกำหนด priorities ขององค์กร ทั้งนี้ คณะมนตรี OECD ใช้กลไกการตัดสินใจโดยฉันทามติ
- คณะกรรมการ (Committees) มีหน้าที่หารือและติดตามประเมินผลในประเด็นเฉพาะทางต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์ การจ้างงาน การศึกษา ตลาดการเงิน
OECD มี คณะกรรมการ คณะทำงาน และคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้นประมาณ 250 คณะ มีเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกเข้าประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ เหล่านี้ปีละประมาณ 40,000 คน
สศช.จัดตั้ง OECD Depository Library ในไทย และสมัครเข้าเป็นสมาชิก Development Centre ของ OECD เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2548 รวมถึงขอสถานะผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการต่าง ๆ ของ OECD
ที่มา: กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ