ประเด็นเรื่อง “ลดดอกเบี้ย” อาจจะไม่เป็นเรื่องใหญ่ หากไม่ได้ไปเกี่ยวพันกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล นั่นคือ กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจากมีการตีความนโยบายเงินดิจิทัลทำได้หรือไม่ หากต้องการจะกู้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้จ่ายดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการตีความว่าการกู้เงินมหาศาลจะต้องเข้าเกณฑ์ “วิกฤติ”
แล้วเศรษฐกิจปัจจุบันวิกฤติหรือไม่ อย่างไร? ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันนโยบายนี้ ต้องมองอยู่แล้วว่าประเทศกำลังวิกฤติ แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา ทางหน่วยงานรัฐ อย่างธปท.กลับไม่ได้มองเช่นนั้น แม้จะยอมรับว่าเศรษฐกิจ “ชะลอ”ก็เถอะ แต่ก็ไม่ถึงขั้น “วิกฤติ” ดังนั้น การลดดอกเบี้ยนโยบายจึงยังไม่ถึงเวลา และเห็นว่าการลดดอกเบี้ยมีผลกระทบหลายด้าน ที่สำคัญคือ จะกระทบความเชื่อมั่นอย่างแรง หากธปท.ทำตามคำสั่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อ่านเพิ่มเติม:
นโยบายการเงิน ภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ขีดจำกัดประชานิยม เมื่อ”มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่น”
แต่เสียงจากนายกรัฐมนตรีที่ส่งไปกดดันธปท.จะลดลง แต่เสียงจากกระทรวงการคลังดังขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยล่าสุด พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่าสถาบันการเงินของรัฐได้ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการตรึงดอกเบี้ยและชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลายแห่งได้ปรับลดดอกเบี้ยหรือมีโครงการลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้า
พรชัย บอกว่าล่าสุด “การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญานไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
อ่านเพิ่มเติม:
“ดอกเบี้ยมีความพิเศษเฉพาะ” กนง.รับฟังทุกข้อเสนอ ก่อนลงมติคงดอกเบี้ย
แต่เมื่อดูสถาบันการเงินรัฐ ที่ร่วมด้วยปรากฏว่าไม่มีธนาคารกรุงไทย รวมอยู่ด้วย ซึ่งทำให้สงสัยว่าการประกาศ “รวมตัว”ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะในช่วงที่มีการโต้แย้งกันเรื่องลดดอกเบี้ย กระทรวงการคลังก็เคยประกาศมาแล้ว ซึ่งหากไม่มีรวมกรุงไทยเข้ามาด้วย ก็เป็นเรื่องยากมากจะไปสร้างแรงกดดัน “ดอกเบี้ย” ให้กับธนาคารพาณิชย์อื่นให้ลดดอกเบี้ยตามได้
กรุงไทยนับว่าเป็นธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อและส่วนแบ่งตลาดใหญ่ หากมีการขยับก็ย่อมสร้างแรงกดดันได้ แต่ก็อย่าลืมว่าธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายจะไปบอกให้ลดดอกเบี้ย เพราะดีไม่ดี ผู้บริหารกรุงไทยอาจติดคุกกันได้ง่าย ๆ หากมีการพิสูจน์ว่าทำตามแรงกดดัน โดยไม่สนใจผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นรายอื่น
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูไกล ๆ หน่อย จะเห็นว่ากลยุทธ “ให้สถาบันการเงินรัฐลดดอกเบี้ย” ไม่ใช่เรื่องใหม่ของกระทรวงการคลัง เมื่อเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้คนรู้สึกว่ารัฐบาลช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยในการผ่อนภาระประชาชน แต่กลยุทธนี้ไม่ค่อยมีรัฐบาลยุคไหนใช้กันมากนัก เคยนำมาใช้ครั้งแรก ๆ น่าจะเป็นสมัย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง สมัย ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
อ่านเพิ่มเติม:
ทำไมนักการเมืองชอบนโยบายดอกเบี้ยต่ำ?
แต่ครั้งนั้น ค่อนข้างได้ผล เพราะสั่งกรุงไทยร่วมขบวนด้วย ซึ่งในครั้งนั้นกรุงไทยยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ในยุคนั้น มีการใช้บริการจากกรุงไทยบ่อยมาก ทั้งเงินฝากเงินกู้ แต่ขณะนั้นตลาดเล็กกว่านี้มาก การขยับของกรุงไทยจึงส่งผลต่อการแข่งขันทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จึงทำให้ธนาคารอื่นต้องขยับตาม หาไม่แล้ว ลูกค้าก็จะวิ่งไปหากรุงไทยกันหมด แต่ยุคนี้ กลยุทธเดิมจะใช้ได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม
ในสมัยของรัฐมนตรีธารินทร์ มีทีมหน้าห้อง ทั้งมาจากคนเก่งรุนใหม่ดีกรีนอกหลายคน แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ในกระทรวงการคลังเข้ามาร่วมด้วย โดยแต่ละคนรับผิดชอบงานแต่ละส่วนตามที่ตัวเองถนัด หนึ่งในนั้น ก็มี ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง คนปัจจุบัน ที่เป็นข้าราชการจากสศค. และอีกคนก็คือ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. คนปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงหรือแบงก์ชาติ (แต่ก็มีอีกหลายคน รวมถึง วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธปท. คนก่อน)
ส่วนความแตกต่างทางความคิดระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธปท. มีมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย ถ้าไปถามเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ก็จะเชียร์ให้ลดดอกเบี้ย แต่ถ้าไปถามเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ ก็จะมุ่งไปที่การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกในว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง จะไปทางเดียวกับรัฐบาลเสมอ ส่วนแบงก์ชาติก็จะขวาง ๆ บ้างในบางเรื่อง ซึ่งบางกรณีก็ขวางสุดซอย
ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างสองหน่วยงานเรื่องนโยบายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน เพราะนโยบายประเทศมักจะเดินคู่กันไประหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดปัญหา ก็มักจะโทษกันไปมาแบบนี้ คลังโทษแบงก์ชาติไม่ยอดลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติโทษคลังว่าล่าช้า เป็นต้น แต่ใน พ.ศ.นี้ มีความพิเศษ เพราะนอกจากเป็นศึกสองหน่วยงาน ยังเป็นศึก “หน้าห้องรัฐมนตรี” เมื่อหน้าห้องขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดทั้งคู่
“ศึกศักดิ์ศรี” ซ้อน “ศักดิ์ศรี” จึงไม่จบลงได้ง่าย ๆ