น้ำทะเลเปลี่ยนไปแล้ว
รายงานจากองค์กร Copernicus แสดงให้เห็นว่าปี 2024 ที่ผ่านมา โลกเจอกับอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นทุบสถิติใหม่ที่ 20.87 °C ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2023 ที่ 20.80 °C เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายมหาสมุทร เช่น มหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) โดยเฉพาะพื้นที่เขตร้อนชื้น และมหาสมุทรอินเดีย (Indian ocean)
ยิ่งไปกว่านั้น จากการติดตามข้อมูลพบว่าโลกเรามีอุณหภูมิน้ำทะเลสูงสุดติดต่อกันทุกเดือนเป็นระยะเวลา 15 เดือน นับตั้งแต่เม.ย. 2023 ไปจนถึงมิ.ย. 2024
การที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เป็นตัวชี้วัดว่าความรุนแรงของภาวะสภาพอากาศแปรปรวน เพราะสัญญาณว่าระบบนิเวศใต้ท้องทะเลกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น เกิดเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวในระดับที่รุนแรงในทะเลแคริเบียน (Caribbean Sea) และมีการพบเจอการย้ายถิ่นฐานของปลาท้องถิ่นในมหาสมุทรอินเดียซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ต้องพึ่งพาเป็นแหล่งอาหาร
ทุกวันนี้ มหาสมุทรดูดซับความร้อนจากโลกประมาณ 90% ตัวเลขนี้จะกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างต่อเนื่อง
ความชื้นในชั้นบรรยากาศก็ ‘มากขึ้น‘ เช่นเดียวกัน
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดในปี 2024 คือ การตรวจพบระดับความชื้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากที่สุด
ก่อนหน้านี้ เราอาจจะคุ้นชินกับการวัดอุณหภูมิเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว แต่การวัดความชื้นในชั้นบรรยากาศจะทำให้เราสามารถพยากรณ์คลื่นความร้อน ปริมาณน้ำฝน และพายุได้ดีขึ้น เพราะความจริงแล้ว ทั้ง ‘อุณหภูมิ’ และ ‘ความชื้น’ เป็นตัวขับเคลื่อนภาวะโลกร้อน
ยิ่งกว่าไปกว่านั้น ความชื้นในชั้นบรรยากาศมีความเชื่อมโยงต่อพลังงานที่เกิดขึ้นจากพายุอีกด้วย
ความชื้นในชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้น จากการระเหยของน้ำมากขึ้น และไอน้ำถูกกระตุ้นด้วยอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น โดยอุณหภูมิชั้นบรรยากาศสูงขึ้นทุก 1 °C จะทำให้อากาศรับความชื้นเพิ่มขึ้นประมาณ 7%
นี่เป็นวัฏจักรที่ไม่ดีนัก เพราะเมื่อชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิสูงดูดซับไอน้ำมากขึ้น จะส่งผลให้ชั้นบรรยากาศอุ้มรับความร้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งผลรับก็คือภาวะโลกร้อนจะรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ความชื้นของชั้นบรรยากาศยังมีความเชื่อมโยงต่อน้ำทะเล เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดการระเหยของไอน้ำมากขึ้น และจากนั้นระดับความชื้นในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น จะยิ่งทำให้เกิดพายุและฝนรุนแรงมากขึ้น
องค์กร Copernicus เน้นย้ำว่า ผลกระทบต่างๆ จะเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะชั้นบรรยากาศนั้นไม่มีเขตแดน แต่เชื่อมโยงกันหมดทั้งโลก
อาเซียนและไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ประเทศในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแปรปรวนของน้ำทะเล เนื่องจากหลาย ๆ เมืองตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และแต่ละประเทศยังมีจำนวนประชากรอาศัยอย่างหนาแน่นตามแนวชายฝั่ง ซึ่งประเทศที่มีความเปราะบางต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงคือ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย
การศึกษาของ UNDP แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีถึง 24 จังหวัดติดชายทะเล ที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แปรปรวนของน้ำทะเล แบ่งเป็นจังหวัดฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด และฝั่งอ่าวไทย 18 จังหวัด โดยตัวอย่างของผลกระทบจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นและอุ่นขึ้นคือ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวมากขึ้น ค่าความเป็นกรดของน้ำทะเลสูงขึ้น และความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
ยิ่งไปไปกว่านั้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจะกระทบอีกหลายภาคส่วน เช่น
เศรษฐกิจ
- อุตสาหกรรมต่างๆ ที่พึ่งพาทะเลหรือตั้งอาศัยอยู่ริมทะเลจะโดนกระทบหนัก ยกตัวอย่างเช่น การประมง การท่องเที่ยว และการเกษตร ตามบริเวณหาดทรายต่างๆ เช่น หาดทรายแก้ว ป่าตอง พัทยา หาดไร่เลย์ จะเป็นกลุ่มเปราะบางต่อชายหาดที่ถูกกัดเซาะ เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น พื้นที่ชายหาดลดลงจะกระทบต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ พายุรุนแรงขึ้นและสภาวะอากาศแปรปรวนจะทำให้ชาวประมงจับปลาได้ปริมาณน้อยลง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้
ประชาชนและสาธารณูปโภค
- โครงสร้างตามแนวชายฝั่งเช่น ถนน บ้าน ระบบน้ำประปา และสาธารณูปโภคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะยาวจากการกัดเซาะและพายุรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลถึงการโยกย้ายถิ่นฐานถาวรของชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย
อาหารและทรัพยากรทางธรรมชาติ
- แหล่งอาหารของคนและสัตว์น้ำจะได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดของสัตว์น้ำลดลง รวมถึงการย้ายถิ่นฐานของสัตว์จะส่งผลต่อความหลากหลายของระบบนิเวศทางทะเล (Marine Biodiversity) นอกจากนี้การกัดเซาะของน้ำทะเล (Erosion) ที่รุนแรงมีโอกาสจะทำให้เกิดปรากฏการณ์การแทรกตัวของน้ำเค็ม (Saltwater Intrusion) ไปยังแหล่งน้ำจืด ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพของแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ รวมถึงเกิดน้ำท่วมจากพายุรุนแรงขึ้น
ต้องมีแผนเตรียมรับมือทุกระดับ
ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทำให้ต้องเกิดการปรับตัวทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
สำหรับในระดับท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการดำรงชีวิต แต่ความเสี่ยงอาจจะลดลงได้ด้วยแผนการพัฒนาด้านการเกษตร การปลูกพืชหลากชนิด บำรุงดินและรักษาสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบ ๆ เช่น ระบบน้ำ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ในส่วนของระดับชาติต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และผลักดันให้เกิดนโยบายที่ส่งเสริมและป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ในไทย เคยมีการรับมือต่อการแปรปรวนของธรรมชาติผ่านมาตราการป้องกัน เช่น นำไม้ไผ่ไปวางตามแนวชายฝั่ง หรือ การนำถุงทรายไปวางตามแนวชายฝั่งเพื่อลดความรุนแรงของคลื่นและพายุ แต่มาตรการนี้ไม่ได้ช่วยในระยะยาวเพราะถุงทรายจะจมลงไปในพื้นดิน หรือ ไม้ไผ่ที่ไม่มีความแข็งแรงทนทานต่อความรุนแรงของสภาพอากาศ และยังเป็นอุปสรรคต่อชาวประมงในพื้นที่อีกด้วย
ในทางกลับกันการนำหินและสร้างกำแพงตามแถวตลิ่งหรือชายฝั่งเป็นมาตราการป้องกันที่ได้ผลกว่าเนื่องจากมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม มาตรการนี้ได้นำไปใช้ในพื้นที่ชายฝั่ง เช่น กรุงเทพมหานครที่ติดแม่น้ำและจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น
อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรมีนโยบายเพื่อส่งเสริมการป้องกันอย่างยั่งยืนเพราะภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และความรุนแรงมากขึ้น
เราสามารถลดอุณหภูมิน้ำทะเลได้ไหม?
ยากที่จะทำให้อุณหภูมิของทะเลกลับไปสู่สภาวะที่ปกติหรือดีขึ้น แต่สิ่งที่สามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ คือการลดก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อชะลอภาวะโลกร้อนและเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ
เราไม่อาจเห็นภาพผลกระทบของน้ำทะเลเดือด หรือ ภาพการหายไปของชายฝั่งได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่เหตุการณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้วและยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงขึ้นจะทำให้การสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ปล่อยก๊าซ CO2 ทั่วโลกพุ่ง ท้าทายเป้าหมาย Net Zero