ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ซึ่งเปรียบเหมือนอิฐก้อนแรกที่วางรากฐานการคลี่คลายปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงที่บรรยากาศการเมืองเปิดกว้างมากขึ้น และกระบวนการพูดคุยสันติภาพกลับมาเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง
The Active ร่วมกับ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เปิดพื้นที่สนทนา แลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็น ระหว่างอดีต กอส. กรรมาธิการวิสามัญฯจังหวัดชายแดนใต้ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในการทบทวนข้อเสนอจากอดีต จนถึงข้อค้นพบในปัจจุบัน เพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเดินไปสู่การสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ผ่าน Policy Forum ครั้งที่ 12 “2 ทศวรรษชายแดนใต้ สันติภาพที่ยังไปไม่ถึง”
Policy Forum ครั้งที่ 12 I 2 ทศวรรษชายแดนใต้
แม้ว่าในช่วง 10 ปีแรกของการแก้ปัญหาจะเห็นความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงที่ดี และการพูดถึงในสิ่งที่ไม่เคยมี ทั้งการเยียวยา การดูแลสิทธิมนุษยชน การศึกษาด้วยภาษาแม่ และการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการมีส่วนร่วม
แต่สุดท้ายเรื่องชายแดนใต้ก็ต้องหยุดชะงักลง ซึ่ง ศ.ฉันทนา หวันแก้ว มองว่าเป็นเพราะรัฐประหาร ที่ทำให้อำนาจการแก้ปัญหาตกไปอยู่ในมือฝ่ายความมั่นคงเป็นแกนหลัก เกิดวิธีปฏิบัติแบบทหาร ใช้อิทธิพลของกฎหมาย “ฟ้องคดี” ผู้เห็นต่าง ลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนลง
“วิธีปฏิบัติของทหาร มองความรุนแรงเหมือนกับเป็นศัตรู แทนที่จะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจว่าทำไมถึงอยู่ด้วยกันไม่ได้”
ศ.ฉันทนา หวันแก้ว
จริงอยู่ที่การใช้กฎหมายพิเศษเป็นไปเพื่อต้องการเชื่อมโยงสามจังหวัดชายแดนใต้ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะอดีต กอส. มองว่า บางครั้ง ทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกฎอัยการศึก ก็ถูกใช้เป็นตะแกรงคุมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
“การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นวิธีที่ดี เพราะนั่นหมายความว่าเขาไม่ได้คิดจะใช้ความรุนแรง แต่เมื่อไม่ให้เขาได้แสดงออก โดยมี 3 กฎหมายนี้ครอบอยู่ แล้วการเรียกร้องความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”
จาตุรนต์ ฉายแสง
ข้อค้นพบจาก กอส. สู่สันติภาพชายแดนใต้
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ รศ.มารค ตามไท นักวิชาการด้านสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ในฐานะ อดีต กอส. ชี้ให้เห็นบทเรียนสำคัญ 3 เรื่องค้นพบมาจากอดีต เรื่องแรกคือ “ความรุนแรง” เป็นเหตุผลที่ผลักดันให้ กอส. เน้นเรื่องผู้ได้รับผลกระทบ วิธีช่วยเหลือเยียวยา แต่ยังขาดเรื่องสำคัญ คือ ไม่ได้พูดถึงกลุ่มที่กระทำความรุนแรง ไม่ได้ไปดูว่าทำไมจึงใช้ความรุนแรงต่อกัน เพื่อไปสู่การเข้าใจปัญหาจริง ๆ การจะหยุดความรุนแรงจึงต้องเข้าใจรายละเอียดว่าทำไมคนจึงใช้ความรุนแรงกัน ต้องไม่ทำให้คนใช้ความรุนแรงมองว่าชอบธรรม
เรื่องที่สอง คือ ผ่านมา 20 ปี ทำให้ “มีโอกาสเข้าใจบางเรื่องมากขึ้น” บางเรื่องที่พูดไม่ได้ในอดีต โดยการที่กลุ่มต่าง ๆ ออกมา ทำให้เข้าใจว่ายากกว่าที่คิด แต่ถ้าเข้าใจถูก ถึงจะยากก็ไม่เป็นไร เรื่องที่สาม คือ “บทเรียนวิธีแบ่งคน” ซึ่งพบว่า เวลาจะแก้ปัญหา 20 ปีที่ผ่านมา ก็แบ่งคนเป็นมลายูมุสลิม ไทยพุทธ เจ้าหน้าที่รัฐ นี่คือวิธีแก้ปัญหาดีที่สุดหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนเป็นการแบ่งแบบ “ผู้ไม่ใช้ความรุนแรง” จึงควรมองใหม่ อย่างปัญหาการเมือง ก็มีการแบ่ง กลุ่มอนุรักษ์นิยม กับ กลุ่มก้าวหน้า อาจต้องแบ่งใหม่เป็น ทำเพื่อประเทศ กับ ประโยชน์ส่วนตัว แม้การแบ่งไม่มีถูกผิด แต่ประเทศไทยขณะนี้ ต้องเอาประเทศเป็นตัวตั้ง จะทำให้ทุกกลุ่มแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีง่ายกว่า
“กอส.ยุคนั้น มีหลายเรื่องที่พูดไม่ได้ ที่ประชุมบอกเลย เช่น เรื่องการปกครอง เรื่องเอกราช จนถึงตอนนี้ เรื่องการทำประชามติในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ยังพูดไม่ได้ ทั้งที่เครื่องมือเหล่านี้ ในตอนนี้กลับใช้แก้ปัญหากันทั่วโลก แต่เจ้าหน้าที่ กลับบอกว่า การใช้กฎหมาย การฟ้องคดี คือการใช้สันติวิธี”
รศ.มารค ตามไท
หลักคิด กอส. ในมือ กมธ.สันติภาพฯ
จาตุรนต์ ยอมรับว่า ได้นำกรอบคิด และหลักการ ข้อเสนอของ กอส. มาใช้กับบทบาท กมธ. ในปัจจุบัน แม้ว่าหลาย ๆ บริบทจะแตกต่างกัน อย่างในเรื่องการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ได้เอาแนวคิด กอส. มาใช้วางหลักเกณฑ์เยียวยาทุกฝ่ายให้เท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกกล่าวหา ผู้บริสุทธิ์ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อมาดูการเยียวยาในปัจจุบันกลับเป็นที่น่าตกใจ เพราะไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุม ผู้ได้รับผลกระทบแบบ ที่เป็นหยื่อความรุนแรงรัฐแก้ไม่ตก ขณะเดียวกัน กอส. ทำการศึกษาในบรรยากาศที่สังคมมองหาการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะปัญหานี้ไม่อยู่ในกระแสระดับสูง
ในประเด็นความยุติธรรม จาตุรนต์ ระบุว่า กอส. มีข้อเสนอเยอะมาก เช่น การสอบสวน การมีทนาย การสู้คดี ต้องเป็นไปตามหลักสากล แต่ก็ค้นพบความจริง ว่าในพื้นที่ชายแดนใต้ มีกฎหมายพิเศษเต็มไปหมด ที่เป็นตะแกรงคลุม สิทธิเสรีภาพไม่มีทางรอดออกมาได้เลย แล้วจะเรียกร้องความยุติธรรมยังไง
ส่วนในเรื่องการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคม ก็มองว่า บทบาทของภาคประชาสังคมในอดีตเทียบกับปัจจุบันไม่ได้เลย ตอนนี้ภาคประชาสังคมมีเยอะ สามารถนำเสนอข้อมูลการศึกษาได้เป็นอย่างดี
ในเรื่องการศึกษา จาตุรนต์ บอกว่า ผ่านไป 20 ปี เรื่องภาษาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ชายแดนใต้ ยังไม่ไปไม่ถึงไหน ทั้งที่เป็นข้อเสนอและเคยถูกนำร่องมาแล้วในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่การกระทรวงศึกษาธิการ เคยเปิดศูนย์สอนภาษามลายู ปัจจุบันยังมีสถาบันนี้อยู่แต่ไม่ทำอะไรเลย ขณะเดียวกันการศึกษาในพื้นที่กลับไม่ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการ
“ในอดีตฝ่ายความมั่นคง บอกว่า เด็กชายแดนใต้ไม่สนใจเรียนวิชาพื้นฐาน เมื่อเราไปเยี่ยมโรงเรียน พบว่าเด็กอยากเรียน แต่โรงเรียน ไม่มีครู ที่ผ่านมามี ผอ.โรงเรียน 10 กว่าคนมาพบผม มาบอกว่า มีเด็กต้องการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รออยู่ 4,000 คน แต่หน่วยงานความมั่นคงที่ดูแลจัดการศึกษาในพื้นที่ กลับจัดได้แค่ 4 ห้อง แต่เขาต้องการเรียน 4,000 คน แสดงว่ารัฐตามไม่ทัน หลายโรงเรียนที่เคยถูกห้ามไม่ให้ไปเยี่ยม เป็นโรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนปอเนาะ แต่มาถึงตอนนี้เขาก็สามารถจัดหลักสูตร มีโครงการนวัตกรรม มีสอนภาษาต่างประเทศที่หลากหลาย ทันสมัยมาก จึงต้องบอกว่าโลกเปลี่ยนไปแบบนี้ แต่คนก็ยังมองว่า โรงเรียนเหล่านี้เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดต่อต้านรัฐ เป็นสภาพการที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ คนคิดเรื่องความมั่นคงยังไม่เข้าใจ เห็นการเคลื่อนไหวแต่งกายมลายู ยังมองเป็นปัญหา ถูกเพ่งเล็ง ว่าอาจโยงกับขบวนการ แต่ที่ จ.ยะลา จัดแฟชันชุดมลายู มีผู้คนมาสนใจจำนวนมาก ดังนั้นความคิดของรัฐจึงที่ไม่สมดุล”
จาตุรนต์ ฉายแสง
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา โฆษก กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ และ อดีต กอส. มองว่า ขบวนการสันติภาพที่ใฝ่ฝันไม่ใช่แค่ลดความรุนแรง แต่ต้องทำควบคู่กันไป กับการทำให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ได้แค่ไหน แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ได้รับรู้ ไม่เข้าใจ ทำให้การแก้ไขปัญหาไปไม่ถึงที่อยากให้เป็น โดยสิ่งทุกคนอยากได้ คือ อัตลักษณ์ การแต่งกาย พูดกันมานานแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลแต่ละยุคดำเนินการอย่างไม่ต่อเนื่อง จึงคิดว่าเจตจำนงค์ทางการเมือง คือส่วนสำคัญที่จะนำเอากลไก ข้อเสนอต่าง ๆ ไปปฏิบัติ
มองมุมใหม่ ก้าวออกจากความขัดแย้ง
การลงพื้นที่สามจังหวัดชายเดนใต้เมื่อช่วงต้นปี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นไปเพื่อผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นหลัก แต่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว อดีต กอส. มองว่ายังถือเป็นเรื่องดี ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในการหาทางออกความขัดแย้งซึ่งหลายคนเคยเชื่อว่าถ้ากระชับอำนาจรัฐ จะแก้ปัญหาได้ แต่จะเป็นไปได้ยากถ้าหากขาดความสัมพันธ์ทางสังคม และไม่ยึดโยงความทุกข์ของผู้คนที่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถานการณ์ตอนนี้จำเป็นที่ต้องมองปัญหาชายแดนใต้ในแง่โอกาสใหม่ ๆ ทำให้เกิดความปลอดภัย ที่สำคัญคือ ผู้นำต้องเข้าใจสถานการณ์มากกว่านี้ แค่เขาไม่มีเงินก็ทำให้มีเงิน นี่เป็นความคิดมักง่าย แบบนี้ไม่ได้ช่วยปูทางไปสู่สันติภาพ
ขณะที่ มะยุ เจ๊ะนะ ผอ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ก็มองว่า ไม่เพียงอยากให้สถานการณ์กลับไปเป็นแบบเดิม แต่ปัจจุบันต้องดีว่าที่เป็นอยู่ การแก้ปัญหาในพื้นที่ การสร้างความชอบธรรมในมิติปัญหาความมั่นคง ถูกใช้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ
- ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องถูกอธิบายรากเหง้าปัญหา และมีการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
- การแก้ปัญหาต้องไม่กดทับ/นิยามแบบแพ้ชนะ เหมือนที่ผ่านมา เพราะจะทำให้แก้แบบการกด ปราบต่อไป
- ความไว้วางใจต้องจับต้องได้ ที่ผ่านมาไม่สามารถส่งต่อได้ ในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้ต้องหา พยายามคุยกับเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่ได้รับคือการถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งประเด็นนี้เกิดมาตั้งแต่ในอดีตส่งต่อมาตลอด และคิดว่าเรื่องแบบนี้จะถูกส่งต่อมรดกไปถึงคนรุ่นต่อไป
- การสร้างสันติภาพ คือหัวใจสำคัญที่ต้องทำอย่างจริงจัง ต้องมีเจตจำนงค์การเมืองต่อเรื่องสันติภาพ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด คือการเปิดพื้นที่ที่มีความปลอดภัยให้คนทุกกลุ่ม แล้วยกระดับการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เรื่องแบบนี้ต้องถูกอธิบาย สุดท้ายปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่ปัญหาของคนในพื้นที่ แต่ต้องมองว่าเป็นปัญหาของทุกคน
แก้ปัญหาความยุติธรรม ต้องไม่ไร้เดียงสา
ไม่ต่างกับ ลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยอมรับว่า ไม่เคยปฏิเสธทหาร โดยทหารควรมีอยู่ในพื้นที่ แต่ต้องทำให้ทุกหน่วยเท่ากัน ขณะที่ภาคประชาสังคม เต็มใจเข้าไปมีส่วนร่วม ในเรื่องความยุติธรรม ตอนนี้รัฐบาล คนทำงาน ไม่ต้องไร้เดียงสา ใครไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องอะไร ก็แก้ไปเลย ดูเป็นกลุ่ม ๆ ไปเลย ในเรื่องอัตลักษณ์ ก็อยากให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติให้มากที่สุด อาจไม่เหมือนเดิม แต่ต้องค่อย ๆ ทำไป สำหรับการกระจายอำนาจ ก็ต้องทำอย่างเป็นธรรม ให้มีศักดิ์ศรี
“ที่ผ่านมาเราเป็นคนกลุ่มแรกที่ร่วมแก้ปัญหา ติดตามรายงาน กอส. แต่เราไม่เห็นรัฐบาลทำอะไร พยายามทำความเข้าใจว่าที่ กอส. เข้าอยู่ในช่วงวิกฤตทางการเมือง จึงหวังว่ารอบนี้รัฐบาลจะรับข้อเสนอของ กมธ. ทุกชุดที่ทำเรื่องสันติภาพ และยังเห็นว่า อดีต กอส. ควรมาร่วมทำงานขยับเรื่องนี้ไปด้วยกัน เพื่อให้สิ่งที่ กมธ. เสนอเป็นจริง ทำงานตอบสนองปัญหาได้”
ลม้าย มานะการ
ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยได้อิสระมากขึ้น
นอกจากการไม่แช่แข็งข้อเสนอของ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้แล้ว การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนกล้าพูดคุยถึงรากเหง้าของปัญหา เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่ นารี เจริญผลพิริยะ อดีตกรรมการอิสระเพื่อควาสมานฉันท์แห่งชาติ มองว่า การจัดการปัญหาตามอาการโดยไม่มองไปถึงรากเหง้าของปัญหา จะสะสมไปสู่ความรุนแรง การมีพื้นที่ปลอดภัยที่ใช้พูดคุยได้อย่างอิสระ เช่น “เวทีรับฟัง” นำไปสู่การปรึกษาสาธารณะ ที่ประชาชนสามารถร่วมกันทำงาน ร่วมตัดสินใจ หาข้อตกลงร่วมกันในยามเห็นต่าง โดยไม่ต้องกลัวการถูกทำร้ายหรือถูกฟ้องร้องอีก จะเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันต้องทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยในการอยู่ร่วมกันบนสังคมพหุวัฒนธรรมในระยะยาวด้วย ซึ่ง ดนัย มู่สา อดีตรองเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ มองว่า ที่ผ่านมาผู้คนยังตกอยู่ในความหวาดระแวง ไม่กล้าแสดงความเห็นมากนัก เพราะอำนาจในการแก้ไขปัญหาตกไปอยู่ในมือฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก ดังนั้นต้องเปลี่ยนใหม่ให้ “การเมืองและความเป็นธรรมนำการทหาร” เพื่อการันตีให้คนในสังคมรู้สึกปลอดภัยทั้งกายและใจ กล้าที่จะเสนอความเห็นหรือทำในสิ่งที่คิดว่าจะเดินหน้าและแก้ปัญหาในระยะยาวได้
ฟื้น “สภาที่ปรึกษา” สู่วงเจรจาพูดคุยฯ
ในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนมุมมอง จาตุรนต์ ระบุว่า การมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ทันทีหาก “สภาที่ปรึกษา” กลับมา โดยการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอให้มีส่วนที่มาจากประชาชนเลือก มีสัดส่วน ผู้หญิงให้เท่าเทียม เสนอให้สภาที่ปรึกษา มีผู้แทนเข้าไปอยู่ในคณะพูดคุยสันติสุข แก้กฎหมาย ศอ.บต. เพื่อให้สภาที่ปรึกษา อยู่ในกลไกคณะพูดคุยฯ สร้างกลไกสภาที่ปรึกษา ให้ทำงาน อยู่ในคณะพูดคุยฯ
“อีกส่วนที่สำคัญคือการทำนโยบายพัฒนา ต่อไปจะดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และงบฯ บางประเภทสำหรับโครงการพัฒนา ต้องเป็นไปตามที่ประชาชนกำหนดได้เอง ไม่ต้องกลัวว่าทำแล้วเศรษฐกิจชายแดนใต้จะเสียหายไปมากกว่านี้ เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้ว ว่า รายได้ต่อหัวในชายแดนใต้ต่ำสุด ที่ผ่านมาทำโดยไม่ฟังประชาชน จากนี้ก็ฟังเขาเสียที “
จาตุรนต์ ฉายแสง
“กระจายอำนาจ” ทลายความพิเศษในชายแดนใต้
จาตุรนต์ ยังระบุถึงการกระจายอำนาจ ควรเป็นรูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนมีอำนาจมีส่วนร่วมกำหนด การกระจายนี้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญให้คนส่วนน้อยในพื้นที่มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียม ต้องมีหลักการบางอย่างให้คนส่วนน้อยได้รับรู้
ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจทั่วประเทศล้าหลัง ยิ่งในชายแดนใต้ก็ล้าหลังเช่นกัน แต่ปัญหาคือชายแดนใต้มีปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ มีการปกครองรูปแบบพิเศษ มีกฎหมายพิเศษ ลดเงื่อนไข สิทธิเสรีภาพ การเคลื่อนไหว การแสดงความเห็น นี่คือรูปแบบการปกครองพิเศษ การรวมศูนย์อำนาจที่ชัดเจนที่เดียวในไทย ดังนั้นการกระจายอำนาจในชายแดนใต้ต้องยกระดับขึ้นมาก่อน เพราะส่งผลให้เกิดปัญหาความยากจนที่สุด เศรษฐกิจแย่ที่สุด การศึกษาล่าหลังที่สุด ความไม่ยุติธรรม อัตลักษณ์ จึงต้องมองการกระจายอำนาจ ในชายแดนใต้แบบเข้าใจ
ส่วนในเรื่องอัตลักษณ์ จาตุรนต์ ยอมรับว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก ร่วมกับการเคารพสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งผู้มีอำนาจ ผู้มีหน้าที่ไม่เข้าใจ
“ในอดีตเรามีรัฐประศาสโนบาย บอกว่า ในพื้นที่นี้มลายูหรือไทย ก็ต้องมีความสุขได้เท่ากันในสยาม ไม่ประสงค์จะแปลงมลายูให้เป็นไทย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ก้าวหน้ามากตั้งแต่อดีต ผ่านมาร้อยกว่าปีก่อน แต่ปัจจุบันพูดแบบนี้ตกใจเลย นี่คือปัญหาใหญ่ ที่เห็นคนแต่งกายมลายูแล้วมีปัญหา รัฐกลัวการส่งเสริมอัตลักษณ์มากไป จากความไม่เข้าใจอัตลักษณ์ ไม่เคารพ กลัวอัตลักษณ์ทำให้เราจำกัด ทำลายศักยภาพประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรงต่อเนื่อง สุดท้ายโยงไปถึงประเด็นเอกราช ดังนั้นจึงต้องทำประเทศให้น่าอยู่สำหรับคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ให้เขาได้รับการคุ้มครองอัตลักษณ์สิทธิเสรีภาพ ถ้าเป็นแบบนี้ได้ จะแก้ปัญหาความรุนแรงความไม่สงบได้”
จาตุรนต์ ฉายแสง
ประธาน กมธ.สันติภาพฯ ย้ำว่า กมธ.จะไม่ใช่เพียงเสนอมาตรการแก้ไขตามอาการ เจอปัญหาเห็นปัญหาอะไรก็เสนอให้แก้ โดยจะพยายามโยงให้เห็นว่าปัญหาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร และจะแก้ในเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร
ทั้งนี้ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรลงมติเอกฉันท์ปลดล็อกคำสั่ง คสช.14/2559 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 แล้ว หากได้รับความเห็นชอบจาก สว. จะฟื้นคืนคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมทั้งเกิดกระบวนการที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้อิสระมากขึ้น